บีโอไอถึงจุดเปลี่ยนดึงสำนักงานใหญ่ข้ามชาติปักฐานในไทย

02 ส.ค. 2559 | 02:00 น.
ยังคงอยู่ในโหมดเร่งเครื่องยนต์กระตุ้นการลงทุนกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2558 จนถึงปัจจุบัน
ไล่เลียงกันตั้งแต่ปรับใหญ่ส่งเสริมการลงทุน เน้นคุณค่าโครงการ ชูนโยบายซูเปอร์คลัสเตอร์ อีกทั้งมาตรการปลุก 10 จังหวัด ยกระดับขึ้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ใช้เครื่องมือสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นตัวเร่ง ลงทุนทั้งจากกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ไม่เพียงเท่านั้นรัฐยังกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนอีกว่า จะให้ความสำคัญกับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ โดยหวังว่าไทยจะเดินไปสู่ฐานการผลิตที่ไฮเทคขึ้นใช้แรงงานน้อยลง

ตามมาล่าสุดประกาศยกระดับความสำคัญขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณอีสเทิร์นซีบอร์ด หรือ“ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” (Eastern Economic Corridorหรืออีอีซี) โดยยก 3 จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นเป้าหมายนำร่อง เพราะมีความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว และง่ายต่อการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ของประเทศได้เร็ว “ฐานเศรษฐกิจ”สัมภาษณ์พิเศษ หิรัญญา สุจินัย สำนักงาเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ถึงผลที่เกิดขึ้นจากมาตรการต่างๆ และมุมมองถึงตัวเร่งในการกระตุ้นการลงทุนนับจากนี้ไป!

ลงทุน 6 เดือนพุ่ง 348%

เลขาธิการบีโอไอกล่าวถึงผลที่เกิดขึ้น นับจากมาตรการรัฐ ลงมากระตุ้นการลงทุนตลอดช่วง 1 ปีกับอีก 7 เดือนว่า เป็นที่น่าพอใจ หากดูจากสถิติการส่งเสริมการลงทุนเฉพาะ 6 เดือนแรกปี 2559 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาเติบโตก้าวกระโดด โดยเดือนมกราคม-มิถุนยนปีนี้ มีมูลค่าคำขอเพิ่มขึ้นถึง 348% หรือจำนวน 303,650 ล้านบาท และมีจำนวนโครงการเพิ่มขึ้น 102% หรือจำนวน758 โครงการ เทียบกับปีที่แล้วช่วงเดียวกันมีมูลค่าคำขอส่งเสริมอยู่ที่ 67,760 ล้านบาท มีจำนวน 375 โครงการ

โดยจะเห็นว่าบีโอไอกระตุ้นการลงทุนมาตลอดตั้งแต่ปี 2558 ต่อเนื่องปี 2559 ด้วยแรงหนุนจากองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ 1.ตัวนโยบายบีโอไอที่ทยอยประกาศออกมา ไม่ว่าจะเป็นนโยบายคลัสเตอร์ นโยบายเร่งรัดการลงทุน ที่ถือว่าประสบผลสำเร็จ พอนักลงทุนมีความเข้าใจมากขึ้นและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงก็เข้ามายื่นขอส่งเสริมลงทุน ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่านโยบายส่งเสริมการลงทุนเป็นตัวเร่งอีกตัวที่พร้อมจะผลักดัน 2.โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐ ก็เป็นอีกตัวช่วยหนึ่ง

สำหรับการส่งเสริมใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่แบ่งเป็น 5 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่แล้วคือ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4. การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5. อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และอีก 5 กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ ประกอบด้วย 1. อุตสาหกรรมหุ่นยนต์
(Robotics) 2. อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation andLogistics) 3. อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (BiofuelsandBiochemicals) 4. อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) 5.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ที่ในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมามีเม็ดเงินลงทุนเฉพาะกลุ่มนี้ทั้งหมดประมาณ 128,475 ล้านบาท หรือคิดเป็น 42% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้

กิจการ IHQ แห่ปักหลักไทย

หิรัญญาอธิบายต่อว่า ที่น่าจับตามองและที่อยากจะเน้นคือเรื่องของกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ(IHQ) และกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ(ITC) ซึ่งตรงนี้เป็นจุดเปลี่ยนของบีโอไอที่เดิมจะเน้นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่ตอนนี้มาเน้นภาคบริการ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากที่ดึงให้บริษัทข้ามชาติรายใหญ่ๆ เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ในไทยได้ โดยตัวเลขตั้งแต่ปี 2558 ถึงเดือนพฤษภาคม 2559 กิจการ IHQ ที่ได้รับอนุมัติทั้งหมดแล้ว 64 ราย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนยุโรป อเมริกา จีน ญี่ปุ่น ที่ยังสนใจเข้ามาไทยต่อเนื่อง โดยนักลงทุนให้เหตุผลว่า ไทยมีบุคลากรที่มีฝีมือ ทั้งด้านไอที บัญชี เทรดดิ้ง รวมถึงไทยก็เป็นศูนย์กลางยุทธศาสตร์ทางการค้าอีกแห่งหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นแหล่งดึงดูดที่คนต่างชาติอยากมาอยู่ เพราะมีต้นทุนการใช้ชีวิตที่ถูกกว่า จากที่ผ่านมาสำนักงานใหญ่ข้ามชาติจะไปตั้งที่สิงคโปร์ ฮ่องกงกันมาก

นอกจากนี้โครงการที่ขอรับการส่งเสริมตามนโยบายคลัสเตอร์ที่เป็นไส้ในของ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น หากดูจากการส่งเสริมเฉพาะในช่วงปี 2559 ช่วง 6-7 เดือนแรก มีที่ได้รับสิทธิ์ยื่นขอส่งเสริมตามนโยบายคลัสเตอร์เข้ามาแล้วเป็นมูลค่าคำขอ 17,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้เราตั้งเป้าว่าทั้งปี 2559 เฉพาะคลัสเตอร์มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมน่าจะเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ว่าทั้งปีจะมีมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมรวมอยู่ที่ 450,000 ล้านบาท

ชงครม.ออกพ.ร.บ.อีอีซี

นอกจากนี้เลขาธิการบีโอไอ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซีว่า ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างเสนอครม.ออกพ.ร.บ.อีอีซี เพื่ออำนวยความสะดวกในการเปิดบริการเบ็ดเสร็จใน 3 จังหวัดคือ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ที่จะยกขึ้นมาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษต้นแบบก่อน ซึ่งคาดว่าจะเข้าครม.ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ โดยในตัวพ.ร.บ.อีอีซีนี้ จะบอกว่าคนที่ไปลงทุนใน 3 พื้นที่ดังกล่าว จะได้รับสิทธิประโยชน์และจะไปอิงกับสิทธิประโยชน์บีโอไออย่างไรบ้าง โดยจะอิงกับสิทธิประโยชน์บีโอไอที่บีโอไอจะต้องออกแพ็กเกจออกมารองรับให้ต่างจากเดิมเพื่อจูงใจ ซึ่งตรงนี้น่าจะออกมาสอดคล้องกันหมดระหว่างพ.ร.บ.อีอีซี ,พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนพ.ศ. 2520 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี..... เช่น แก้ไขการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 8 ปีเพิ่มเป็น 13 ปี และพ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 15 ปี ที่จะประกาศออกมาใช้ในเวลาใกล้เคียงกัน เหล่านี้จะใช้เป็นเครื่องมือในการซัพพอร์ตเรื่องที่รัฐต้องการผลักดัน ออกมาเป็นแพ็กเกจที่สามารถดึงดูดการลงทุนได้อีกทาง

คาด 2560 ใช้พ.ร.บ.3 ฉบับได้

อย่างไรก็ตามการที่กฎหมายได้ขยายเพดานยกเว้นภาษีถึง 13 ปี หรือ 15 ปี ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะได้รับสิทธิ์นี้ทั้งหมดเป็นการทั่วไป และจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีซ้ำซ้อนกันไม่ได้ แต่จะต้องมาพิจารณาเป็นอุตสาหกรรมไป โดยจะต้องเลือก หรือลงรายละเอียดว่าผลิตภัณฑ์นี้ เราอยากได้ หรือจะต้องเป็นอุตสาหกรรมที่พิเศษจริงๆ หรือในโลกมีผลิตน้อยราย ถึงจะได้ใช้รับสิทธิ์นี้ และไม่เกี่ยวกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ซึ่งมีจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ใดบ้างจะต้องมีการเสนอกรรมการเห็นชอบก่อน ฉะนั้นวัตถุประสงค์ของพ.ร.บ. 3 ฉบับนี้ไม่ได้ใช้เป็นการทั่วไป จะเป็นพ.ร.บ.ที่ออกมาเพื่อเร่งให้ไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้เร็วขึ้น และการใช้สิทธิ์นี้จะต้องมองด้วยว่าประเทศไทยจะได้อะไรที่คุ้มค่ากลับมาบ้าง

ส่วนเงื่อนไขการใช้งบจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันนั้นยังอยู่ในขั้นตอนการทำกฎหมาย เหล่านี้เราจะต้องรอกฎหมายออกมาก่อนจึงจะมาทำรายละเอียดในลำดับต่อไปได้

เลขาธิการบีโอไอกล่าวอีกว่า ตามขั้นตอนพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนปี2520 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี.....และพ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้ง 2 ฉบับ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา ซึ่งใกล้จะเสร็จแล้ว และจะชงเข้าสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าปี 2560 น่าจะประกาศใช้ได้ เพราะตามขั้นตอนจะต้องมากำหนดประเภทกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์นี้อีก ซึ่งทุกคนคาดหวังว่าน่าจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้

อย่างไรก็ตามการเร่งแก้ไขพ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนปี 2520 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี...... และพ.ร.บ.กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงพ.ร.บ.อีอีซี จะช่วยผลักดันให้ไทยไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้เร็วขึ้น โดยที่เรามีธงอยู่แล้วว่าประเทศไทยจะไปทางไหน มุ่งไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ฐานความรู้ ใช้ผู้เชี่ยวชาญ คาดว่าทั้ง 3 พ.ร.บ.นี้น่าจะผลักดันออกมาในเวลาใกล้เคียงกันได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,179
วันที่ 31 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559