‘มารังโกนี’ สานภารกิจผลิตมืออาชีพป้อนโลกแฟชั่น

30 ก.ค. 2559 | 08:00 น.
การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์รวมการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ระดับโลก (Design and Development Solution for International Brands) ในปี 2564 ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นปี 2559-2574 โดยสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่น ทำให้ต้องเร่งส่งเสริมด้านบุคคลากร และเตรียมความพร้อมในการสร้างแฟชั่นไทยให้เป็นแบรนด์ระดับสากล ไม่ต่ำกว่า 20 แบรนด์ และเป็นแบรนด์ระดับโลกอย่างน้อย 1 แบรนด์

"บุคคลากร" จึงเป็นปัจจัยสำคัญ ส่งผลให้หลายสถาบันเริ่มตื่นตัว รวมถึงสถาบันพัฒนาบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมออกแบบและดีไซน์ มารังโกนี (Istituto Marangoni) ประเทศอิตาลี ที่เข้ามาเปิดสอนด้านการออกแบบและดีไซน์ในเมืองไทย โดย "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ "วรรณพร โปษยานนท์" ผู้อำนวยการใหญ่สถาบันมารังโกนีประจำประเทศไทย ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ Rouge Rouge และบรรณาธิการบริหารนิตยสาร Harper’s Bazaar Thailand ถึงทิศทางและโอกาสของอุตสาหกรรมออกแบบและดีไซน์เมืองไทย

เร่งผลิตบุคคลากรป้อนโลกแฟชั่น

คุณดวง วรรณพร เล่าให้ฟังว่า มารังโกนี เป็นสถาบันสอนด้านการออกแบบและดีไซน์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงนี้ เพราะมีแคมปัสอยู่ทั่วโลกทั้งที่มิลาน ลอนดอน ปารีส ส่วนในประเทศไทยมีแผนขยายเป็นเทรนนิ่งเซ็นเตอร์ โดยจัดการเรียนการสอนเป็นคอร์สสั้นๆ ตั้งแต่ 3 - 8 เดือน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแฟชั่นในเมืองไทยที่มีศักยภาพและมีการเติบโตที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี

ที่ผ่านมาถือว่าประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรในอุตสาหกรรมแฟชั่นค่อนข้างมาก ถึงแม้ปัจจุบันจะมีสถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน หลายแห่งเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านแฟชั่นเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด เพราะการทำธุรกิจแฟชั่นจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านดีไซน์ รวมถึงการสร้างแบรนด์ การทำแผนธุรกิจ เป็นต้น

"จุดเด่นของดีไซเนอร์ไทยคือมีความเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่น แต่จุดอ่อนคือ เด็กรุ่นใหม่ชอบก๊อบปี้ ตามเทรนด์ ดังนั้นดีไซเนอร์จึงต้องทำการบ้านอย่างหนัก ต้องดึงความเป็นตัวของตัวเองออกมา ต้องมีวาไรตีหรือความหลากหลายของสินค้า เพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือก"

หนุนสร้างแบรนด์เพิ่มมูลค่าสินค้า

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาดีไซเนอร์ไทยต้องพบกันปัญหาค่าใช้จ่ายในเรื่องของต้นทุนที่สูงมาก หรือบางครั้งการผลิตเอง หรือมีโรงงาน ทำให้ดีไซเนอร์ต้องแบกรับต้นทุนค่อนข้างมาก พอมีแบรนด์แฟชั่นต่างประเทศที่ผลิตจำนวนมากเข้ามา แบรนด์ไทยก็อยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้นการสร้างคุณค่าของแบรนด์ เพื่อให้ลูกค้ามีรอยัลตี การเพิ่มวาไรตีของสินค้า มีทั้งสินค้าราคาสูงที่แสดงความเป็นตัวตนของแบรนด์ และสินค้าราคาถูกเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ และรู้จักสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้าผ่านออนไลน์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เป็นต้น

คุณดวง ยกตัวอย่างแบรนด์ไทยที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศจำนวนมาก อาทิ สเรทซิส (Sretsis) ซี่งปัจจุบันมีสินค้าอยู่ในโชว์รูมเมืองแฟชั่นทั่วโลก ทั้งนิวยอร์ก ลอนดอน ซิดนีย์ ญี่ปุ่น และมีขายในร้านกว่า 100 แห่งที่ รัสเซีย จีน ดูไบ ซาอุดิอาระเบีย ฯลฯ และโด่งดังมากในประเทศญี่ปุ่น ส่วนอีกแบรนด์ได้แก่ "วทานิกา" (Vatanika)โดย วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ที่เริ่มบุกตลาดอเมริกา และเปิดโชว์รูมที่ปารีส หรือแบรนด์ "ฟลายนาว" ที่ถือเป็นแบรนด์ที่มีศักยภาพและมีคุณภาพมาก มีการขยายไลน์สินค้าให้มีความหลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในหลายกลุ่ม เป็นต้น

ฉลอง 80 ปีเปิดแคมปัสใหม่

ที่ผ่านมามีคนไทยสนใจเข้าไปเรียนที่มารังโกนี จำนวนมาก และล่าสุดในโอกาสครบรอบ 80 ปีของสถาบัน ได้เปิดวิทยาเขตหรือแคมปัสใหม่ที่เมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี ในเดือนตุลาคมนี้ โดยที่นี่จะเป็นสาขาแรกที่เปิดทำการเรียนในหลักสูตร Shoes Making เพื่อรองรับตลาดซึ่งเมืองฟลอเรนซ์โดดเด่นในด้านนี้มาก นอกจากนี้ยังมีหลักสูตร Arts Management และ Accessories Design โดยนักศึกษาสามารถเลือกได้ทั้งคอร์สระยะสั้น และระยะยาว

"ผลงานของนักศึกษาไทยหลายรุ่นที่ศึกษาที่มารังโกนีได้รับการชื่นชมจากอาจารย์มากถึงความตั้งใจและความสามารถ หลายคนสำเร็จการศึกษาออกมาแล้วก็กลับมาเป็นส่วนหนึ่งในธุรกิจแฟชั่นเมืองไทย และมารังโกนีคาดหวังที่จะผลิตกูรูตัวจริงให้กับวงการแฟชั่นเมืองไทย รวมทั้งช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมแฟชั่นเมืองไทยซึ่งเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่นิยมของไฮโซเมียนมา รวมถึงดึงนักท่องเที่ยวจากสิงคโปร์ เกาหลีให้หันมาช็อปเมืองไทยมากขึ้นหลังเปิดเออีซี แต่ทั้งนี้ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้หากมีการสร้างสรรค์งานดีไซน์ที่โดดเด่น แตกต่าง และมีความเป็นเอกลักษณ์ ลูกค้าต่างชาติจึงสนใจ"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,178 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559