เปิดยุทธศาสตร์สร้างเศรษฐกิจเข้มแข็ง-ยั่งยืนในแผนฯ 12

30 ก.ค. 2559 | 02:00 น.
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.หรือสภาพัฒน์) จัดประชุมประจำปีนี้เมื่อ 22 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยปีนี้เป็นหัวข้อเรื่อง "ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12" (พ.ศ.2560-2564) เพื่อเป็นเวทีรับฟังความเห็น เพื่อนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงเพิ่มเติมในร่างแผนพัฒนาฯ"ที่ได้จัดทำร่างเบื้องต้นเสร็จแล้ว ก่อนจะเสนอครม.พิจารณาเห็นชอบ และประกาศใช้ให้ทันตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 นี้เป็นต้นไป

[caption id="attachment_76449" align="aligncenter" width="700"] เป้าหมาย 8 ตัวชี้วัดเศรษฐกิจเข้มแข็งยั่งยืนในแผนฯ 12 เป้าหมาย 8 ตัวชี้วัดเศรษฐกิจเข้มแข็งยั่งยืนในแผนฯ 12[/caption]

หลังการรับฟังบรรยายภาพรวมแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ซึ่งจะเป็นแผนระยะ 5 ปีแรก ที่ยึดโยงและอยู่ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ที่มีเป้าหมายสู่ประเทศที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การพัฒนาให้คนไทยมีความสุข และตอบสนองต่อการบรรลุซึ่งผลประโยชน์ของชาติ โดยวางยุทธศาสตร์ 10 ด้านโดยแผนฯฉบับที่ 12 จะเป็นแผนเชิงปฏิบัติการ มีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน มีตัวชี้วัดแน่นอน เพื่อใช้วัดประเมินผลดำเนินการเป็นระยะ

ทั้งนี้ ในการประชุมแลกเปลี่ยนในเวทีกลุ่มย่อยที่ 2 หัวข้อยุทธศาสตร์การสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนนั้น ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฐ์สกุล รองเลขาธิการ สศช. เป็นผู้นำเสนอ โดยชี้ว่า ในการวางกรอบแนวคิดยุทธศาสตร์นี้ได้ระดมพิจารณาเงื่อนไขที่ไทยต้องเจอเป็นโจทย์สำคัญ มุ่งเน้นภาคเศรษฐกิจฐานราก คือ กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มเศรษฐกิจชุมชน และผู้ประกอบการรุ่นใหม่(สตาร์ทอัพ) โดยผสมผสานการบริหารเศรษฐกิจภาพรวม ที่ต้องรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนารายสาขา

ระยะ 5 ปีนับจากนี้โลกยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัว มีการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่าง ๆ โดยสหรัฐฯอเมริกาค่อยฟื้นฟูจากผลตกค้างของวิกฤติซับไพรม์ เขตเศรษฐกิจยุโรปยังมีภาระหนี้ภาครัฐหนักหลายประเทศ และล่าสุดกรณีอังกฤษถอนตัวจากอียู ซ้ำเติมภาวะความไม่แน่นอนขึ้นมาอีก ความพยายามอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ผ่านมา ได้ใส่ปริมาณเงินมหาศาลเข้าระบบที่ก่อให้เกิดทุนเคลื่อนย้ายไปทั่วโลก โดยเป็นเม็ดเงินที่ยังไม่ได้สร้างดอกผลอะไรขึ้นมา

ผลจากวิกฤติที่ทำให้เกิดการปรับตัวทางเศรษฐกิจ มักตามมาด้วยการปรับเทคโนโลยี ที่เวลานี้เป็นกระแสใหญ่คือการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ทุกชาติมุ่งสู่เทคโนโลยีใหม่ที่สามารถเชื่อมโยงและยกระดับขึ้นมาอีกขั้น ขณะเดียวกันหลายชาติมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ โดยอาเซียนเป็นกลุ่มที่ถูกจับตาว่าจะเป็นแหล่งของการเติบโตและแรงขับเคลื่อน

ส่วนสภาพแวดล้อมภายในของเศรษฐกิจไทย ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นทศวรรษแห่งความสูญเปล่า เศรษฐกิจไทยโตต่อกว่าศักยภาพ จากเดิมที่โตเฉลี่ย 5-7 % ก่อนหน้า เหลือเพียงเฉลี่ย 3 % โดยที่ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจค่อนข้างแข็งแรง ยังสามารถหมุนซ้ายหมุนขวาได้ แต่การพัฒนาทุนมนุษย์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมยังไม่มากพอ อันดับความสามารถการแข่งขันที่จัดโดย IMD ยังทำได้น้อย แม้ฐานการผลิตจะมีความหลากหลายระดับหนึ่ง และได้สั่งสมองค์ความรู้ไว้บ้างแล้ว แต่ไม่สามารถลงลึกไปถึงฐานรากขององค์ความรู้นั้น

"จุดอ่อนและเงื่อนไขสำคัญของแผนฯ 12 ในยุทธศาสตร์ศก.เข้มแข็งยั่งยืนนั้น เรามีข้อจำกัดจากสภาพเศรษฐกิจที่ 1.ตลาดภายในเล็ก 2.มาตรการของภาครัฐระยะสั้นมีข้อจำกัด 3.การลงทุนไม่มากพอจะสร้างแรงเหวี่ยงทางเศรษฐกิจ 4.กำลังแรงงานเริ่มถดถอยจากโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัวในช่วงสิ้นแผนฯ 12 5.ผลิตภาพการผลิตต่ำ 6.ภาคการเงินยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ SMEs เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน การออมในกองทุนต่าง ๆ ยังไม่พอและไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เต็มที่ แบงก์ไทยแข่งช้ากว่าเพื่อนบ้านในการรุกตลาด CLMV และ 7.การคลังยังมีขีดจำกัด"

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ในการสร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน แผนยุทธศาสตร์มีการวางเป้าหมายที่ชัดเจน และตัวชี้วัดที่แน่นอน รวม 8 ตัวชี้วัด อาทิ การเติบโตจีดีพี ให้ขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5 % รายได้ต่อหัวประชากรเมื่อสิ้นแผนฯ 8.2 พันดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งออกขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4% การลงทุน ภาครัฐไม่ต่ำกว่า 10 % และภาคเอกชนไม่ต่ำกว่า 7.5 % ของจีดีพี ตัวชี้วัดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หนี้สาธารณะไม่เกิน 5.5 %ของจีดีพี การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไม่เกิน 2% ของจีดีพี และเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 2.5 บวกลบ 1.5 % ความสามารถการแข่งขันที่จัดโดย IMD ต้องขยับขึ้นมาอยู่ในกลุ่มไม่เกินอันดับที่ 25 เป็นต้น (รายละเอียดตามตาราง)

ส่วนเศรษฐกิจรายสาขา ตั้งเป้าหมายการเติบโตภาคเกษตร ไม่ต่ำกว่า 3% รายได้เงินสดสุทธิเกษตรกรครัวเรือนละ 5.94 หมื่นบาท มีพื้นที่ทำเกษตรยั่งยืน 5 ล้านไร่ อุตสาหกรรมขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4.5% มีพื้นที่พัฒนาสู่เมืองอุตสาหกรรมนิเวศไม่น้อยกว่า 15 พื้นที่ ภาคบริการไม่ต่ำกว่า 6% เฉพาะรายได้จากการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท อันดับความสามารถการแข่งขันทางการท่องเที่ยว ไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 30 สัดส่วนจีดีพีของกลุ่มเอสเอ็มอี มีไม่น้อยกว่า 45% ของจีดีพีประเทศ การพัฒนาปัจจัยสนับสนุนทางการเงิน ให้ปรับเพิ่มอันดับขีดความสามารถการแข่งขันภาคการเงิน เพิ่มคะแนนทักษะทางการเงินคนไทยเท่าคะแนนเฉลี่ยของโลก มีสัดส่วนการกู้ยืมเงินนอกระบบลดลง และเพิ่มปริมาณการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์

จากแผนที่เดินทางที่วางไว้ เศรษฐกิจไทยจะฟันฝ่าอุปสรรคและแรงทดสอบจากภาวะความผันผวนของปัจจัยแวดล้อม ทั้งภายในประเทศและกระแสโลก เข้าใกล้เป้าหมายได้มากน้อยแค่ไหนวันที่ 1 ตุลาคม 2559 นี้ คือก้าวแรกที่จะเริ่มเดินแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,178 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559