สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนสัปดาห์นี้

29 ก.ค. 2559 | 11:15 น.
“เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 4 เดือน ขณะที่ ดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นจากแรงหนุนของกระแสเงินทุนไหลเข้า”

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 4 เดือน ใกล้ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ หลังมติของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สร้างความผิดหวังให้กับตลาด โดยตลาดประเมินว่า เฟดยังไม่น่าจะรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (แม้ถ้อยแถลงซึ่งระบุถึงความเสี่ยงที่ลดลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะสั้น จะสะท้อนว่ายังมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมรอบต่อๆ ไปของปีนี้ก็ตาม) ขณะที่ การเพิ่มวงเงินซื้อกองทุน ETF ของ BOJ ก็เป็นมาตรการที่น้อยกว่าที่ตลาดคาดหวังไว้ นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาท ก็เป็นทิศทางที่สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และสถานะซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ (ที่ 12.7 พันล้านบาท) ในระหว่างสัปดาห์

สำหรับในวันศุกร์ (29 ก.ค.) เงินบาทอยู่ที่ 34.82 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.93 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ (22 ก.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (1-5 ส.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 34.70-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตลาดอาจรอติดตามข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ เพื่อประเมินโอกาสในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน ดัชนี PMI ภาคการผลิต-ภาคบริการเดือนก.ค. ยอดสั่งซื้อของโรงงาน รายได้-รายจ่ายส่วนบุคคล และดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลเดือนมิ.ย. นอกจากนี้ นักลงทุนอาจมีจุดสนใจเพิ่มเติมที่ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนก.ค. ของไทย และดัชนี PMI ของจีน ยูโรโซน อังกฤษ และญี่ปุ่น

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

ดัชนีหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นจากแรงหนุนของกระแสเงินทุนไหลเข้าต่อเนื่องโดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,524.07 จุด เพิ่มขึ้น 0.99% จากสัปดาห์ก่อน มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 4.1% จากสัปดาห์ก่อน มาที่ 60,796.37 ล้านบาท ส่วนตลาดหลักทรัพย์ MAI ปิดที่ 589.30 จุด เพิ่มขึ้น 4.98% จากสัปดาห์ก่อน

ตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นในวันจันทร์จากแรงหนุนของเงินทุนไหลเข้า ก่อนที่จะปรับลดลงในวันอังคารตามแรงกดดันในหุ้นกลุ่มพลังงาน จากนั้นดัชนีกลับมาปรับเพิ่มขึ้นต่อ โดยมีแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาในหุ้นขนาดใหญ่ หลังเฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และส่งสัญญาณไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี ดัชนีปรับลดลงเล็กน้อยในวันศุกร์ ตามทิศทางตลาดหุ้นในภูมิภาค

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (1-5 ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,510 และ1,485 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,535 และ 1,550 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คงได้แก่ ผล Stress Test ของธนาคารยุโรป การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ และสถานการณ์การเมืองในประเทศก่อนการลงประชามติรัฐธรรมนูญ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลภาคการผลิต (ISM Manufacturing) และเครื่องชี้ตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ การจ้างงานนอกภาคการเกษตร ขณะที่ ข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศที่สำคัญ คงได้แก่ การรายงานดัชนี PMIs ของจีน ญี่ปุ่น และประเทศในยูโรโซน

ที่มา:ศูนย์วิจัยกสิกรไทย