ปตท.สผ.-เชฟรอนลดลงทุน หวั่นแพ้ประมูลเอราวัณ-บงกช

29 ก.ค. 2559 | 03:00 น.
เชฟรอนและปตท.สผ. กางแผน 5 ปี ลงทุนเฉียด 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่จะค่อยๆ ทยอยลดการลงทุนลงทุกปี เหตุไม่มั่นใจเปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณและบงกชที่หมดอายุจะชนะ ใช้เงินแค่เฉพาะจัดหาก๊าซให้ได้ตามสัญญาส่งมอบ ล่าสุดเชฟรอนเจรจากับปตท.แล้ว ขอลดลงส่งก๊าซให้ 25% ตั้งแต่ต.ค.ปีหน้าเป็นต้นไปกระทรวงพลังงานประเมินภาพรวมกระทบต่อปริมาณสำรองในอนาคต

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ(ชธ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ผู้รับสัมปทานแหล่งบงกช และบริษัท เชฟรอน ประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ ได้ส่งแผนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในระยะ 5 ปีข้างหน้า (2560-2564) มายังกรมแล้ว หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีมติที่จะไม่ต่อสัญญาแหล่งสัมปทานทั้ง 2 แหล่ง ที่หมดสัญญาในปี 2565-5566 เพื่อนำมาเปิดประมูลให้ผู้สนใจต่อไปในราวกลางปีหน้านั้น

ทั้งนี้ จากการพิจารณาแผนดังกล่าวทั้งปตท.สผ.และเชฟรอน จะยังคงกำลังการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งบงกชไว้ที่ระดับ 540 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งเอราวัณในระดับ 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเป็นไปตามปริมาณการซื้อขายตามสัญญา(DCQ) ที่ทำไว้กับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

แต่อย่างไรก็ตาม ทางเชฟรอนได้แจ้งว่าได้ดำเนินการเจรจากับทาง ปตท. ในฐานะผู้รับซื้อก๊าซ เพื่อขอปรับลดอัตราการเรียกก๊าซธรรมชาติตามสัญญาลงได้ 25% ของปริมาณก๊าซที่จะส่งมอบตามสัญญาในแต่ละวันของ DCQ ซึ่งจะรักษาระดับการส่งก๊าซไว้ที่ 75% ของ DCQ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป หลังจากนั้นในปีถัดไปขอลดได้ตามความสามารถของผู้ส่ง โดยกรณีดังกล่าวเป็นไปตามสัญญา ซึ่งสามารถขอปรับอัตราส่งมอบก๊าซลดลงได้ก่อนสิ้นสุดสัญญา จากเดิมในช่วงปกติ ปตท. สามารถเรียกก๊าซสูงสุด(พีก) เพิ่มได้อีก 15% ของ DCQ

โดยการเจรจาดังกล่าว ในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเป็นข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย กรมไม่ได้เข้าไปแทรกแซง แต่กรมมีแผนจะเจรจากับผู้รับสัมปทานให้ลงทุนรักษาระดับการผลิตต่อไปจนสิ้นสุดสัญญาในปี 2565-2566 โดยอาจจะมีมาตรการด้านภาษี ที่ผู้ลงทุนสามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าด้านการลงทุน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดูรายละเอียดร่างขอบเขตงาน(ทีโออาร์) เพื่อเจรจากับผู้ประกอบการทั้ง ปตท.สผ.และเชฟรอน ซึ่งกรมจะต้องหารือกับทางกรมสรรพากรต่อไป เพราะถ้าจะดำเนินการต้องแก้ไขกฎหมายภาษีเงินได้ปิโตรเลียม สำหรับร่างทีโออาร์ การเปิดประมูลสัมปทานที่จะสิ้นสุดนั้น ทางกรมกำลังดำเนินการและจะทำให้เสร็จเพื่อพร้อมเปิดประมูลภายในเดือนมีนาคม 2560 ตามที่ได้รับนโยบายมา

“สำหรับแผนการผลิตปิโตรเลียมในแหล่งบงกชและเอราวัณนั้น พบว่าในระยะ 5 ปีก่อนหมดสัญญา กำลังการผลิตรวมจาก 2 แหล่ง คงไม่ถึง 2.1 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพราะจะมีการปรับลดตามสัญญา DCQ เบื้องต้นตัวเลขการผลิตในแหล่งเอราวัณในช่วง 5 ปีจากนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 1.24 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งบงกช อยู่ที่ประมาณ 540 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน”

นายวีระศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน กรมต้องการลดปริมาณการผลิตก๊าซในอ่าวไทยตามแผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ(Gas Plan 2015) เพื่อยืดอายุก๊าซในอ่าวไทย โดยในปีนี้ตั้งเป้าลดปริมาณการเรียกก๊าซส่วนเกินสัญญาซื้อขายในอ่าวไทย 60-80 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และเพิ่มเป็น 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบัน ปตท.เรียกก๊าซจากผู้รับสัมปทานในอ่าวไทยประมาณ 2.8 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากสัญญาที่ทำไว้ประมาณ 2.5 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการประเมินแผนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัท เชฟรอนฯ ในช่วงปี 2559-2563 จะใช้เงินลงทุนรวมอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุน 5,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน 4,095 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีข้อสังเกตว่า งบการลงทุนได้มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2558 เคยมีงบลงทุนอยู่ที่ 2,7250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2559 ปรับลดลงเหลือ 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2560 ลดลงเหลือ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2561 ลดลงเหลือ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2562 ลดลงเหลือ 950 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปี 2563 เหลือ 790 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

โดยพบว่าตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป ทางเชฟรอนจะไม่มีการลงทุนในส่วนของหลุมขุดเจาะลดลงจากปี 2558 เคยอยู่ในระดับ 570 หลุม ในปี 2559 ลดลงเหลือ 475 หลุม ปี 2560 ลดลงเหลือ 375 หลุม ปี 2561 ลดลงเหลือ325 หลุม ปี 2562 ลดลงเหลือ 250 หลุม และปี 2563 เหลือเพียง 100 หลุม สอดคล้องกับการลดจำนวนแท่นหลุมผลิตที่ติดตั้ง จากปี 2559 มีอยู่ 14 แท่น ปี 2560 ลดลงเหลือ 9 แท่น ปี 2561 ลดลงเหลือ 4 แท่น ปี 2562 ลดลงเหลือ 3 แท่น และปี 2563 เหลือเพียง 2 แท่น

ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในแต่ละปีก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยในปี 2558 เคยอยู่ที่ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2559 ลดลงเหลือ 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2560 ลดลงเหลือ 830 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2561 คงที่ 830 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2562 ลดลงเหลือ 825 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปี 2563 ลดลงเหลือ 760 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวทางเชฟรอนต้องการเพียงรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติ ให้ได้ตามสัญญาที่ส่งให้ปตท.เท่านั้น ในระดับที่ 1,750 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไปจนถึงปี 2562 และในปี 2563 จะลดลงมาที่ระดับ 1,550 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ขณะที่แผนการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของปตท.สผ.ในช่วง 5 ปี (2559-2563) ซึ่งเป็นการลงทุนเฉพาะในทะเลอ่าวไทย ก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเช่นกัน ด้วยงบประมาณ 5,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นงบลงทุน 3,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ งบดำเนินการ 1,930 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการลงทุนที่ลดลงต่อเนื่องจากปี 2558 ที่เคยอยู่ในระดับ 1,224 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2559-2560 ลดลงเหลือปีละ 960 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2561 ลดลงเหลือ 730 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2562 เหลือ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และปี 2563 ลดลงเหลือ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่งบดำเนินการปรับลดลงเช่นเดียวกันจากปี 2558 เคยอยู่ที่ 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2559-2561 ลดลงเหลือปีละ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปี 2562 ลดลงเหลือ 370 ล้านบาท และปี 2563 ลดลงเหลือ 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสะท้อนได้จากจำนวนหลุมขุดเจาะสำรวจจากปี 2558 เคยเจาะอยู่ที่ 163 หลุม ปี 2559 ลดลงเหลือ 158 หลุม ปี2560 จำนวน 102 หลุม ปี 2561 จำนวน 87 หลุม ปี 2562 จำนวน 128 หลุม และปี 2563 เหลือ 90 หลุม โดยยังคงประมาณส่งก๊าซอยู่ที่ระดับ 1,090 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จากการลงทุนของเชฟรอนและปตท.สผ.ที่ลดลงนี้ เป็นเครื่องบ่งบอกให้เห็นว่านอกจากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำแล้ว ต้นทุนการผลิตก็อยู่ในระดับที่ไม่ค่อยคุ้มกับการลงทุน อีกทั้ง 2 บริษัท ก็ไม่มีความมั่นใจถึงความไม่มั่นใจว่าการเปิดประมูลแหล่งก๊าซบงกชและเอราวัณที่จะหมดอายุในปี 2565-2566 จะสามารถเปิดประมูลได้ทันในช่วงปีหน้าและบริษัทตนเองจะชนะการประมูลหรือไม่ จึงทำให้ไม่ลงทุนเพิ่มเติมในการที่จะขุดเจาะหาปริมาณสำรอง แต่จะลงทุนเพื่อส่งก๊าซให้ได้ตามสัญญาเพื่อไม่ถูกค่าปรับเท่านั้น

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,178 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559