ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ทางเลือกสู่ทางรอดของพลังงานไทย

29 ก.ค. 2559 | 04:00 น.
ช่วงนี้หากใครขับรถไปแถบจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ เมื่อขับเข้าเส้นทางด้านในที่เคยผ่านแนวต้นไม้เรือกสวนไร่นาหรือที่ดินรกร้างว่างเปล่า อาจจะแปลกตากับแผงโซลาร์เซลล์เรียงรายสุดลูกหูลูกตา

ด้วยว่าตอนนี้แสงอาทิตย์กลายเป็นหนึ่งในพลังงานทดแทนหลักที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าในบ้านเราทำให้การลงทุนโซลาร์ฟาร์มขยายตัวค่อนข้างเร็ว ธุรกิจนี้ยังตอบรับนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อมและมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำเพราะรัฐบาลมีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าในราคาส่วนเพิ่ม (Adder) ทั้งนี้ พลังงานสะอาดที่จะมาทดแทนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าไม่ได้มีแค่พลังงานแสงอาทิตย์เท่านั้น แต่ประเทศเรายังสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นได้อีกด้วย เช่น พลังงานชีวมวลที่ได้จากการใช้เศษวัสดุหรือกากจากกระบวนการผลิตอุตสาหกรรมเกษตร ก๊าซชีวภาพจากซากพืชและมูลสัตว์ พลังน้ำ พลังลม และขยะ เป็นต้น

พลังงานทดแทนเหล่านี้นอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว อีกมุมหนึ่งยังช่วยให้ประเทศเรามีความมั่นคงทางพลังงานเพิ่มขึ้นอีกด้วย ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณปีละ 4-5% และการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดของระบบเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา ด้วยปริมาณความต้องการ 29,403 เมกะวัตต์ แม้ตอนนี้เรายังมีกำลังการผลิตเพียงพอ แต่แน่นอนว่าจะมีการทำลายสถิตินี้อีกหลายครั้งเพราะแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของประชากรและเศรษฐกิจ หากเรายังต้องพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่กำลังหมดไปเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าเกือบ 90% อย่างในปัจจุบันในอนาคตเราอาจมีไฟฟ้าไม่พอใช้กระทรวงพลังงานจึงกำหนดแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ.2558-2579

เพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งภาครัฐวางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนจากปัจจุบันที่มีเพียง 10% ให้เป็น 20% ในอีก 20 ปีข้างหน้า เป้าหมายดังกล่าวดูจะเป็นเรื่องที่ไม่ไกลเกินฝัน เพราะความก้าวหน้าในการพัฒนาพลังงานทดแทนของไทยนั้นจัดอยู่ในระดับแนวหน้าของภูมิภาค ASEAN โดยข้อมูลจากรายงาน ASEAN Renewable Energy Development 2006-2014 พบว่า ในปี 2557 ไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นอันดับ 3 รองจากเวียดนามและอินโดนีเซีย และมีอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยถึง 8% ต่อปี โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์และชีวมวลที่ไทยมีกำลังการผลิตสูงสุดในภูมิภาค นอกจากนี้ การสนับสนุนของภาครัฐยังช่วยให้การลงทุนในธุรกิจนี้มีความเสี่ยงต่ำและมีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคต ดังจะเห็นได้จากบริษัทที่มาลงทุนมีทั้งผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กหน้าใหม่ บริษัทที่อยู่ในธุรกิจอื่นแล้วขยายการลงทุนมาทำไฟฟ้า เช่น ผลิตน้ำตาลเป็นหลักแล้วแตกไลน์ธุรกิจมาผลิตไฟฟ้าโดยใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง หรือแม้แต่โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่แต่เดิมใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ก็เริ่มกระจายความเสี่ยงด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้งที่มีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ พลังลม พลังงานชีวมวล และกลุ่มบ้านปูที่มีการลงทุนโซลาร์ฟาร์มทั้งในจีนและญี่ปุ่น

สำหรับภาคการเงิน แม้ดูจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่ก็เป็นตัวกลางหลักในการกระจายเม็ดเงินลงทุนไปยังภาคธุรกิจต่างๆ และเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแนวนโยบายของภาครัฐ เช่น ไม่นานมานี้ธนาคารเจพีมอร์แกน แบงก์ออฟอเมริกา ซิตี้กรุ๊ป มอร์แกนแสตนลีย์ และเวลส์ ฟาร์โก ในสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาแสดงจุดยืนในการหยุดหรือชะลอการให้สินเชื่อแก่เหมืองถ่านหินในประเทศพัฒนาแล้ว ตอบรับกระแสลดภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ตอนนี้ธนาคารขนาดใหญ่บางแห่งมีพอร์ตสินเชื่อพลังงานทดแทนใหญ่กว่าพอร์ตถ่านหินที่เคยเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในอดีตถึงสามเท่า สะท้อนว่าโลกเรากำลังเข้าสู่สังคมสิ่งแวดล้อมสะอาดด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย

ส่วนในประเทศเราระบบธนาคารพาณิชย์ก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนเป็นอย่างดี เห็นได้จากสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสามารถเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้อยู่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว โดยในปี 2558 สินเชื่อของธุรกิจนี้มีจำนวนถึง 2 แสนล้านบาท ขยายตัวได้เกือบ 20% ขณะที่สินเชื่อรวมของระบบเติบโตเพียง 4.3% สะท้อนว่า ยังมีความต้องการเม็ดเงินไปขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และธนาคารพาณิชย์ก็พร้อมจะสนับสนุนโครงการดังกล่าว ปัจจุบันสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีสัดส่วน 40% ของสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด คุณภาพสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ดีแทบไม่มีหนี้เสียเลย เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการผลิตสูงและมีรายรับที่แน่นอนจากสัญญารับซื้อไฟฟ้าของทางการ สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ราคาหุ้นก็ปรับสูงขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองเชิงบวกของนักลงทุนที่มีต่อธุรกิจนี้

อนาคตของธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนดูจะสดใส แต่ธุรกิจนี้ก็ต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นสูงและมีระยะเวลาในการคืนทุนค่อนข้างนาน อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อประสิทธิภาพและความเสถียรของกำลังการผลิตไฟฟ้า เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบซึ่งแปรผันตามฤดูกาลและค่าขนส่ง ภาครัฐและเอกชนจึงควรส่งเสริมผู้ประกอบการด้านพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยผลักดันให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ในทางธุรกิจมากกว่าพึ่งพาการอุดหนุนจากภาครัฐ เพื่อให้ธุรกิจนี้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว และที่สำคัญที่สุดคือต้องให้ประชาชนทุกคนตื่นตัว เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานทดแทน เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและโลกของเราให้ยั่งยืนต่อไป

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,178 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559