MOST Innovation Awards 2016 คัดสรรสุดยอดนวัตกรรมแห่งปี

29 ก.ค. 2559 | 12:30 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

การพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบรับกับกระแสโลกนั้น ภาครัฐต้องพัฒนาและตื่นตัวควบคู่ไปกับภาคเอกชนด้วย จะได้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา หรือไม่ก็เป็นแนวทางในการช่วยสนับสนุนเอกชนด้วย โครงการ “Regional Science Park (RSP) Innovation Day 2016” ซึ่งเป็นงานแสดงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมครั้งใหญ่ ที่สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ร่วมกับ อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค 3 แห่ง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2

[caption id="attachment_76473" align="aligncenter" width="500"] รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ  ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ
ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี[/caption]

ภายในงาน รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวถึงความสำคัญของงาน RSP Innovation Day 2016 ว่าเป็นกิจกรรมที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ สอว. และอุทยานวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 ภูมิภาคซึ่งมีเครือข่ายมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการถึง 13 แห่ง ที่ได้ร่วมกันเผยแพร่ความสำเร็จของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาวิจัยพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพทางธุรกิจและการตลาด

รวมทั้งแสดงให้ผู้ประกอบการเห็นถึงความพร้อม ในการให้บริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคที่หลากหลาย ทั้งห้องปฏิบัติการพร้อมการวิเคราะห์ทดสอบและรับรองมาตรฐาน บริการพื้นที่ให้เช่า การบ่มเพาะธุรกิจ การแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยี และการทำวิจัยร่วมกับภาคเอกชน โดยเปิดโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานวิจัยและพัฒนาในภาครัฐ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเชิงพาณิชย์มากขึ้น และสนับสนุนให้เกิดวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับประเทศต่อไป

เมื่อเอกชนมีการพัฒนาก็ต้องมีการแข่งขันประกวดกัน จึงมีพิธีมอบรางวัลสุดยอดนวัตกรรมแห่งปี MOST Innovation Awards 2016 แก่นักวิจัยและผู้ประกอบการที่เข้ารับบริการของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ซึ่งมีผลงานโดดเด่นทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แบ่งรางวัลออกเป็น 3 สาขา คือ สาขานักธุรกิจนวัตกรรม สาขานวัตกรรมเชิงพาณิชย์-กระบวนการนวัตกรรม และสาขานวัตกรรมเชิงพาณิชย์-ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม

[caption id="attachment_76474" align="aligncenter" width="500"] ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ[/caption]

ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศสาขานักธุรกิจนวัตกรรม ได้แก่ กาแฟโบราณลุงเป๋อ 3 in 1 โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับบริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด พัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟโบราณสำเร็จรูป 3 in 1 โดย นฤมล ทักษอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด เล่าถึงแนวคิดการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม ว่า ฮิลล์คอฟฟ์ให้ความสำคัญกับการวิจัยเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ โดยคิดค้นกาแฟโบราณสูตรพิเศษของเชียงใหม่ ชื่อว่า “อาร์ตคอฟฟี่” ซึ่งเลือกใช้เมล็ดกาแฟสายพันธุ์อราบิก้า โรบัสต้า และเมล็ดแทมมะรินด์ มาผ่านกรรมวิธีคั่วและแบลนด์จนได้รสชาติความอร่อยเข้มข้นแบบไทยแท้ ซึ่งได้รับการตอบรับจากคอกาแฟเป็นอย่างดี จึงมีแนวความคิดที่จะขยายตลาดกาแฟโบราณให้กว้างขึ้น โดยต่อยอดการพัฒนาเป็นกาแฟโบราณสำเร็จรูป 3 in 1 แบรนด์ลุงเป๋อ เพื่อขยายไปยังตลาดสินค้าของฝาก เจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

รางวัลชนะเลิศสาขานวัตกรรมเชิงพาณิชย์-กระบวนการนวัตกรรม ได้แก่ การออกแบบสร้างเครื่องฆ่ามอดมะขามด้วยคลื่นความถี่วิทยุ จากเทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดย รศ.ดร.ชาญชัย ทองโสภา เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการคิดค้นเครื่องฆ่ามอดมะขามด้วยคลื่นความถี่วิทยุ เกิดจากผู้ประกอบการส่งออกมะขามที่มีปัญหามอดในสินค้า จนทำให้เกิดความเสียหาย จึงเข้ามาขอรับบริการที่อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งจุดเด่นของเครื่องดังกล่าว คือ การใช้หลักความร้อนแบบไดอิเล็กทริกส์ด้วยคลื่นความถี่วิทยุ ซึ่งสามารถฆ่ามอดมะขามได้ 100% โดยไม่ทำลายคุณภาพของมะขามและไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการสามารถขยายตลาดส่งออกมะขามได้มากขึ้นและสร้างรายได้มากกว่า100 ล้านบาท และในระยะต่อไปมีแผนที่จะพัฒนาเครื่องฆ่ามอดในสินค้าเกษตรอื่นๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจการส่งออกในอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยต่อไป

ส่วนรางวัลชนะเลิศสาขานวัตกรรมเชิงพาณิชย์-ผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ได้แก่ ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกลอกลายแบบ 3 มิติ (สำหรับงานพิสูจน์หลักฐาน) จากอุทยานวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย ดร.เอกวิภู กาลกรณ์สุรปราณี ได้เล่า ถึงผลงานวิจัยว่า จากแนวคิดที่ต้องการช่วยแก้ปัญหายางพาราล้นตลาด จึงเป็นแรงบันดาลให้คิดค้นผลิตภัณฑ์ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติกที่สามารถลอกลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับใช้ในงานพิสูจน์หลักฐานภาคสนาม จุดเด่นของผลงานดังกล่าว คือ ใช้งานได้ง่ายเพียงแค่แช่น้ำร้อนในอุณหภูมิ 75 องศา ยางก็จะอ่อนตัวคล้ายดินน้ำมัน เมื่อนำไปพิมพ์ในจุดที่ต้องการลอกลาย แล้วรอให้แข็งตัวก็จะได้ภาพพิมพ์แบบ 3 มิติ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการตัดสินคดีความ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,178 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559