สบส.เผยอุ้มบุญมีคู่ไทย-ต่างชาติทำแล้ว 3 คู่ ทั้งอังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส

28 ก.ค. 2559 | 06:16 น.
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ลงนามความร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ บูรณาการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยวิธีอุ้มบุญ จัดระบบติดตาม ผลการเลี้ยงดูจนอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ หรือการลักลอบซื้อขายอวัยวะ รวมทั้ง สภาวะสุขภาพจิตความพร้อมพ่อแม่ หญิงอุ้มบุญ เผยความคืบหน้าหลังใช้กฎหมายอุ้มบุญเกือบครบปี มีคู่สมรสไทยทำอุ้มบุญแล้ว 35 คู่ ในจำนวนนี้มี 3 คู่เป็นหญิงไทยและชายสัญชาติ อังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส ต่อคิวอีก 4 คู่ ต่างชาติให้ความสนใจมากแห่โทรถาม ต่อเนื่อง

วันนี้ (28 ก.ค.2559) ในการประชุมวิชาการ การคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบริการสุขภาพ แห่งชาติ ครั้งที่ 3 จัดโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์  อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนางสุภัชชา สุทธิผล รองอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ลงนามความร่วมมือ การบูรณาการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ ระหว่างกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กับกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯโดยมีศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณนายแพทย์ปิยะสกล  สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นสักขีพยาน

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างระบบคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หรืออุ้มบุญ ให้มีหลักประกันในเรื่องของความปลอดภัย ความอบอุ่นในครอบครัว โดย ทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมกันติดตามเด็กที่เกิดโดยวิธีการอุ้มบุญ ตั้งแต่หลังคลอดไปจนหว่าบรรลุนิติภาวะ อายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบค้ามนุษย์ หรือค้าอวัยวะ โดยจะดูถึงความเหมาะสม และความพร้อมของผู้ปกครองในการเลี้ยงดู รวมทั้งจะติดตามผลกระทบต่อหญิงที่รับอุ้มบุญ โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ ซึ่งจะมีการตั้งคณะทำงานระหว่างกรม สบส. และกรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมวางแผนติดตามอย่างเป็นระบบ และจะนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงกฎหมาย กลไก ให้เกิดความรัดกุม เพื่อประโยชน์สูงสูดของเด็ก เนื่องจากเป็นเด็กกลุ่มแรกที่ได้รับการอุ้มบุญในไทย ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายเฉพาะ ฉบับแรกของโลก

หลังจากบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ.2558 ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2558 เกือบครบ 1 ปีเต็ม จนถึงขณะนี้มีคู่สมรสชาวไทยที่มีบุตรยากได้รับอนุญาตให้ทำอุ้มบุญไปแล้ว 35 คู่ ในจำนวนนี้เป็นคู่สมรสระหว่างหญิงไทย และชายชาวต่างชาติที่ถูกต้องตามกฎหมาย 3 คู่ ประกอบด้วย สัญชาติอังกฤษ รัสเซีย และฝรั่งเศส โดยมีคู่สมรสที่รอพิจารณาจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (คทพ.) อีก 4 คู่ ขณะเดียวกันมีชาวต่างชาติจำนวนมากให้ความสนใจโทรปรึกษาขั้นตอนการขออนุญาตในเรื่องนี้ เฉลี่ยเดือนละประมาณ 200 คู่ ซึ่งในกรณีของคู่สมรสต่างชาติที่มีบุตรยาก หากต้องการใช้เทคโนโลยีช่วยการตั้งครรภ์ สามารถด้วยวิธีการอื่น เช่น กิ๊ฟ อิ๊กซี่  ไอวีเอฟ และการผสมเทียม เป็นต้น กรณีที่จะอุ้มบุญจะต้องเป็นหญิงชาวต่างชาติที่เป็นเครือญาติ และจะต้องไม่ขัดต่อกฎหมายของประเทศนั้นๆด้วย

ด้าน ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีเด็กเกิดลดลง ครอบครัวมีบุตรน้อย ส่วนใหญ่มีแค่ 1 คน ในกรณีที่คู่สมรสทั้งชาย-หญิงเป็นลูกโทนทั้งคู่และมีบุตรยาก  ข้อมูลจาก รายงานจากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขจุฬาลงกรณ์ และกรมอนามัย ล่าสุดในปี พ.ศ.2552 ทั่วประเทศมีคู่สมรสที่มีบุตรยากสูงถึงร้อยละ 11 และหากจะมีบุตรโดยวิธีอุ้มบุญ แต่ไม่มีญาติพี่น้องสืบสายโลหิตตั้งครรภ์แทน กฎหมายก็เปิดช่องให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้ โดยต้องมีอายุตั้งแต่ 20 - 40 ปี และเคยมีบุตรมาแล้วโดยการคลอดตามธรรมชาติไม่เกิน 3 ครั้ง หรือในกรณีผ่าคลอดไม่เกิน 1 ครั้ง และมีสัญชาติเดียวกันกับสามีหรือภรรยาที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทน และในกรณีที่บิดา-มารดา ของเด็กอุ้มบุญเสียชีวิตก่อนเด็กเกิด กฎหมายกำหนดให้หญิงที่รับอุ้มบุญเป็นผู้ปกครองชั่วคราวของเด็กนั้น จนกว่าจะสามารถหาผู้ปกครองได้