มูลค่าส่งออกไทย มิ.ย. 59 หดตัวเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.1 YoY จากแรงหนุนการส่งออกรถยนต์และทองคำ

28 ก.ค. 2559 | 04:20 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์เรื่อง มูลค่าส่งออกไทย มิ.ย. 59 หดตัวเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.1 YoY จากแรงหนุนการส่งออกรถยนต์และทองคำ

ปี 2559 ถือเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับการส่งออกของไทย เนื่องจากต้องเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงกดดันมูลค่าการส่งออก เช่น ภาวะราคาน้ำมันดิบที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ยังคงไม่ฟื้นตัว เป็นต้น สะท้อนจากมูลค่าส่งออกครึ่งแรกของปี 2559 หดตัวลงราวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว (YoY) อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การส่งออกในครึ่งปีหลังน่าจะหดตัวมากกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากมีความเสี่ยงจาก Brexit เพิ่มขึ้น กดดันมูลค่าส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกสินค้าของไทยทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ -2.0 YoY (โดยมีกรอบประมาณการที่ร้อยละ -3.0 ถึง -1.0 YoY)

การส่งออกเดือนมิ.ย. 2559 ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน แต่มีแนวโน้มดีขึ้น เพราะได้อานิสงส์จากการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์และทองคำ การส่งออกในเดือนมิ.ย. มีมูลค่าราว 18,146 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวเล็กน้อยราวร้อยละ 0.1 YoY แต่หากไม่รวมมูลค่าส่งออกทองคำ มูลค่าส่งออกติดลบราวร้อยละ 3.5 YoY นอกจากนี้ สาเหตุหลักที่ทำให้การส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้น ยังมาจากการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26.6 YoY โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์นั่งที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 73.3 YoY ตามความต้องการของตลาดออสเตรเลีย และจีน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งที่ทำให้การส่งออกรถยนต์ในเดือนนี้ขยายตัวสูงมาจากปัจจัยชั่วคราวจากฐานที่ต่ำในปีแล้ว ซึ่งมูลค่าส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบในเดือนมิ.ย. 2558 หดตัวร้อยละ 19.1 YoY ดังนั้นในช่วงเวลาที่เหลือของปีมูลค่าการส่งออกรถยนต์อาจจะไม่ขยายตัวมากเท่าเดือนนี้

อย่างไรก็ตาม สินค้าส่งออกหลักอื่นๆ อย่างเม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ และสินค้าเกษตร ยังคงมีมูลค่าส่งออกหดตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากราคาสินค้าดังกล่าวได้รับผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก อย่างจีน ยังคงกดดันปริมาณส่งออกสินค้าหลายรายการ โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ที่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง ราวร้อยละ 30.7 YoY

มูลค่าส่งออกไปยังตลาดอาเซียน 5 ประเทศ ทำสถิติหดตัวมากที่สุดในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมา สะท้อนถึงเศรษฐกิจโลกยังคงไม่ฟื้นตัว ในเดือนมิ.ย. 2559 มูลค่าส่งออกไปตลาดอาเซียน 5 ประเทศหดตัวอย่างต่อเนื่อง สูงถึงร้อยละ 23.0 YoY ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่มีสัดส่วนสูงที่สุดของไทย ราวร้อยละ 13.3 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดในเดือนดังกล่าว โดยการส่งออกสินค้าหลักของไทยไปอาเซียน 5 ประเทศหดตัวทั้งในหมวดของสินค้าทุน เชื้อเพลิง และยานยนต์ เช่น การส่งออกเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ติดลบอย่างต่อเนื่องสูงถึง ร้อยละ 52.9 YoY เช่นเดียวกับ น้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัวสูงถึงร้อยละ 44.5 YoY เป็นต้น เช่นเดียวกับ การส่งออกไปตลาดอินโดจีน (CLMV) ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพของไทย ในเดือนมิ.ย. 2559 กลับมาหดตัวสูงถึงร้อยละ 6.8 YoY

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในครึ่งปีหลัง แม้ว่าตัวเลขเดือนล่าสุดสะท้อนพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่ปัจจัยความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นก็ยังคงสร้างความเสี่ยงต่อเส้นทางการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยด้วยเช่นกัน อาทิ การส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปอาจจะชะลอตัวลง จากผลกระทบของ Brexit ที่ทำให้ค่าเงินปอนด์      สเตอริงและค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง ในขณะที่ค่าเงินบาทของไทยกลับแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งอาจจะกระทบต่อราคาสินค้าส่งออกของไทยที่จะแพงขึ้นโดยเปรียบเทียบ อีกทั้งแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำตามภาวะราคาน้ำมันดิบ และการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจจีน ประกอบกับแรงบวกจากราคาทองคำน่าจะมีน้อยลง เนื่องจากราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาสูงมากแล้ว เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงประมาณการมูลค่าส่งออกของไทยทั้งปี 2559 ไว้ที่ติดลบร้อยละ 2.0 YoY เพื่อติดตามดูความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของการส่งออกของไทยในเดือนถัดๆ ไปก่อน