6 เดือนแบงก์ฟันดอกเบี้ย1.75 หมื่นล้าน ธปท.ให้ทยอยสำรองอีก 3 ปีรองรับขาดทุนในภาวะวิกฤติ

28 ก.ค. 2559 | 09:00 น.
สแกนผลประกอบการ 11 ธนาคารพาณิชย์ครึ่งแรกปี 2559 ฟันดอกเบี้ย 1.75 หมื่นล้าน ขยับขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันปี 2558 อยู่ที่ 2.04แสนล้านเป็น 2.19 แสนล้าน ด้าน “ซีไอเอ็มบี ไทย-แอลเอชแบงก์-กรุงเทพ”โตโดดเด่น ส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมขยับเพิ่ม 4.28% ขณะที่แบงเกอร์แจงผลกำไรการดำเนินงานดี แต่ส่วนใหญ่เปลี่ยนวิธีดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนเพิ่มตามเกณฑ์บาเซล 3 ใหม่ ธปท.ให้ทยอยกันสำรองต่อเนื่องอีก 3 ปีเพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤติ

“ ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจผลประกอบการ 11 ธนาคารพาณิชย์ โดยในไตรมาส 2/2559 ภาพรวมมีกำไรสุทธิ 5.03 หมื่นล้านบาท ลดลง 1,248 ล้านบาทหรือ 2.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิรวม 5.15 หมื่นล้านบาท และงวดครึ่งแรกของปี 2559 อยู่ที่ 9.83 หมื่นล้านบาทลดลง 5.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1.04 แสนล้านบาท สำหรับปัจจัยสนับสนุนกำไรสุทธิดังกล่าวมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจำนวน 2.36 แสนล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 2.19 แสนล้านบาทสะท้อนการเพิ่มขึ้น 1.75 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 8.02% ขณะที่ไตรมาส 2/2559 มีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่ม 9,444 ล้านบาทคิดเป็น 8.61% จาก 1.09 แสนล้านบาทเพิ่มเป็น 1.19 แสนล้านบาท รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิรวม 7.58 หมื่นล้านบาทจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 7.27 หมื่นล้านบาท สะท้อนการเพิ่มขึ้น 4.28% หรือ 3,118ล้านบาท รวมถึงรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ

ขณะที่ 6 ธนาคารยังรักษาความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย บมจ.แอลเอชแบงก์เพิ่ม 83% บมจ.เกียรตินาคิน 70% บมจ.กรุงศรีอยุธยา 20% บมจ.ทิสโก้ 12% บมจ.ทหารไทย 8% และบมจ.ธนชาต3.38% สำหรับธนาคารที่มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นโดดเด่น อาทิ บมจ.ซีไอเอ็มบีไทย 23.31% บมจ.แอลเอชแบงก์ 18.82% บมจ.กรุงเทพ 15.22% บมจ.ทิสโก้ 11% บมจ.เกียรตินาคิน 10.5%

[caption id="attachment_75653" align="aligncenter" width="353"] สุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) สุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT)[/caption]

นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ธนาคารพยายามจะรักษาแนวโน้มรายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมไว้ โดยเฉพาะรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิจากรายย่อยที่น่าสนใจคือ แม้ว่าธนาคารจะปรับลดสาขาที่ตั้งอยู่นอกชุมชน 40% แต่ไม่ลดพนักงานจึงทำให้สามารถเสนอขายโปรดักต์หลากหลายแก่ลูกค้า รวมทั้งบริหารเงินลงทุน รวมถึงการลดต้นทุนเงินฝากโดยขยายบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เพิ่มและกลยุทธ์ปรับพอร์ตสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนดี อาทิ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบุคคลและสินเชื่อรถยนต์สินเชื่อมอเตอร์ไซด์ และการบริหารต้นทุนที่ดีขึ้น

“ ส่วนใหญ่แบงก์ในระบบจะมีกำไรจากการดำเนินงานที่ดีขึ้น แต่ปีนี้ทุกแบงก์เปลี่ยนวิธีกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งเป็นการตุนเงินกันสำรองฯเพื่อรองรับเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งกำหนดให้ต้องทยอยกันสำรองต่อเนื่องไปอีก 3 ปี เป็นการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤติหรือ Capital Conservation Buffer”

ก่อนหน้านี้ นายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า โครงสร้างรายได้ของธนาคารกรุงไทย แบ่งเป็นรายได้จากดอกเบี้ยประมาณ 70% และรายได้ค่าธรรมเนียมราว 30% ซึ่งแนวทางการปรับตัวเพื่อเพิ่มรายได้ของธนาคารในระยะต่อไป นอกจากพยายามสื่อสารให้ลูกค้าหันมาใช้บริการพร้อมเพย์ให้มากที่สุด เพื่อลดค่าใช้จ่ายแล้ว ธนาคารต้องพยายามแนะนำผลิตภัณฑ์ด้านอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น รวมถึงขยายธุรกิจที่เน้นการทำรายการธุรกรรมมากขึ้น ตลอดจนขยายความร่วมมือในการช่วยลูกค้าภาคเอกชนบริหารจัดการเงินสด จึงเป็นโอกาสที่ธนาคารจะหาฐานลูกค้าเอกชนเพิ่มขึ้น

"ในอนาคตรูปแบบสาขาจะเปลี่ยนไปตามกระแสเทคโนโลยี ที่เข้ามาจะเห็นการใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งในมุมมองผมเชื่อว่ารายได้จะไม่มีผลกระทบมาก เพราะทุกธนาคารสามารถปรับตัวผ่านการทำธุรกรรมอื่นที่สร้างรายได้อยู่แล้ว"

ทางด้านนายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ตอนนี้รายได้ค่าธรรมเนียมมีสัดส่วนประมาณ 40% ซึ่งการหารายได้ของธนาคารแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ รายได้จากดอกเบี้ย โดยจะมาจากการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดและลูกค้า ปัจจุบันทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่คิดว่าแนวโน้มครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้นตามการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่จะทยอยออกมา ทำให้สินเชื่อในช่วงที่เหลือจะเติบโตขึ้นกว่าครึ่งปีแรก

หากพิจารณางบดุลธนาคารพาณิชย์โดยรวม ทุกธนาคารให้ความสำคัญกับคุณภาพสินเชื่อ ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ส่งสัญญาณปรับเพิ่มบ้าง ทั้งนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์ Basel III ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ และกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ดำรงอัตราเงินกองทุนส่วนเพิ่มอีกมากกว่า 0.625%ในแต่ละปี เพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤติ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 จนอัตราส่วนเพิ่มมากกว่า 2.50% ในวันที่ 1 มกราคม 2562 ซึ่งในปี 2559 อัตราเงินส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะเพิ่มเป็นมากกว่า 5.125% จากเดิมที่ไม่ต่ำกว่า 4.50% อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่1ต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะเพิ่มเป็นมากกว่า 6.625% จากเดิมไม่ต่ำกว่า 6%และอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง จะเพิ่มเป็นมากกว่า 9.125%จาก ที่ไม่ต่ำกว่า 8.5%

เห็นได้จากบมจ.ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อย หากนับรวมกำไรสุทธิสำหรับงวด 6 เดือน(ณ 30 มิถุนายน2559) รวมเข้าเป็นเงินกองทุนอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของและอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะอยู่ในระดับ 18.8%, 16.8% และ 16.8% ตามลำดับ โดยมีสินทรัพย์สภาพคล่องรวม 9.67 แสนล้านบาท หากเทียบสิ้นปีก่อนสินทรัพย์สภาพคล่องเพิ่มขึ้น 6.06 หมื่นล้านบาท หรือ 6.7% ที่สำคัญคือ รายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินเพิ่มขึ้น 1.03 แสนล้านบาท ขณะที่เงินลงทุนเพื่อค้าลดลง 2.03หมื่นล้านบาท และเงินลงทุนเพื่อขายลดลง 1.64หมื่นล้านบาทและมีเงินให้สินเชื่อเพิ่ม 3.18 หมื่นล้านบาทหรือ 1.86% และเงินฝาก6.6หมื่นล้านบาท อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ 88.5%(เทียบมิถุนายน 2559กับธันวาคม2558)

บมจ.กสิกรไทยอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น 18.12% อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1ที่เป็นส่วนของเจ้าของ 14.69% อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 14.69% โดยกสิกรไทยมีสินเชื่อเพิ่มขึ้น 3.97 หมื่นล้านบาทและเงินฝากเพิ่ม 3.62หมื่นล้านบาทอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝาก 95.5%
บมจ.กรุงศรีอยุธยาสินเชื่อเพิ่ม 5.49หมื่นล้านบาทหรือ 4.2% โดยมาจากสินเชื่อรายย่อยเพิ่ม 5.5% จากความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ขณะที่สินเชื่อเพื่อธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อเอสเอ็มอีเพิ่ม 3.5% และ 2.5% ตามลำดับ สำหรับสัดส่วนสินเชื่อเพื่อธุรกิจ ประกอบด้วย สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อเอสเอ็มอีอยู่ที่ 57% และสินเชื่อรายย่อยอยู่ที่ 43% ของสินเชื่อทั้งหมดอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝาก ตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ 117% เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง 13.8%

บมจ.ไทยพาณิชย์สินเชื่อเพิ่ม 4.6 หมื่นล้านบาทหรือ 2.5% โดยมาจากสินเชื่อบุคคลเพิ่ม 4.8%ในจำนวนดังกล่าวมีความต้องการสินเชื่อเคหะเพิ่ม 6.7% นอกจากเข้าถึงลูกค้าแต่ละกลุ่มแล้วส่วนหนึ่งมาจากมาตรการลดค่าโอนลดค่าจดจำนองของรัฐบาลที่ครบกำหนดสิ้นเมษายนที่ผ่านมาทำให้อุปสงค์ของตลาดสินเชื่อเคหะปรับตัวสูงขึ้น และสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีเพิ่มขึ้น 4% จากกลยุทธ์ขยายฐานลูกค้าผ่านห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจขนาดใหญ่ และจากการเข้าร่วมโครงการซอฟต์โลนต์ของรัฐบาล และสินเชื่ออื่นๆ ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 2.5% อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินฝากเพิ่มขึ้นเป็น 99.5% ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559 ธนาคารมีอัตราส่วนสภาพคล่องตามงบการเงินเฉพาะของธนาคารอยู่ที่ 27.6% เพียงพอที่จะเผชิญกับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,178 วันที่ 28 - 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2559