29 ก.ค.ดีเดย์ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีผลบังคับใช้

27 ก.ค. 2559 | 09:35 น.
ดีเดย์ พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น มีผลบังคับใช้ 29  ก.ค.นี้  เปิดทางวัยรุ่นตั้งท้องสามารถเรียนต่อ-เข้าถึงบริการสุขภาพ-โรงเรียนจัดสอนเพศศึกษารอบด้าน-ได้รับการสนับสนุนให้สามารถเลี้ยงดูลูกได้อย่างมีคุณภาพ ขณะที่เสียงสะท้อนจากเด็กเยาวชนชี้ต้องการเข้าถึงบริการทางสุขภาพที่เป็นมิตร-ยังขาดความรู้เพศศึกษา เล็งรวบรวมความเห็นเครือข่ายเยาวชนทั่วประเทศ เสนอกก.ชาติ 22 ส.ค.นี้

วันนี้(27 ก.ค.2559)ที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีการแถลงข่าว “พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น: เด็กเยาวชนได้ประโยชน์จริงหรือ?” โดยความร่วมมือของกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือสสส. กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ หรือ UNFPA มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง มูลนิธิแพธทูเฮลท์ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพมหานคร

น.พ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า  ในวันที่ 29 ก.ค.นี้เป็นวันที่พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีผลบังคับใช้ ซึ่งเด็กและเยาวชนจะได้รับสิทธิประโยชน์ 5 เรื่องที่สำคัญ คือ 1.สถานศึกษาต้องจัดให้มีการสอนเพศวิถีศึกษาอย่างเหมาะสม จัดหาและพัฒนาผู้สอนเพศวิถีศึกษา การให้คำปรึกษา ช่วยเหลือและคุ้มครองวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ให้ได้รับการศึกษาต่ออย่างเหมาะสม รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 2. สถานบริการต้องให้ข้อมูลความรู้และจัดบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 3.สถานประกอบกิจการต้องให้ข้อมูลความรู้และส่งเสริมให้เข้าถึงบริการอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมทั้งส่งต่อให้ได้รับสวัสดิการสังคม 4.การจัดสวัสดิการสังคมเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และ5. ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อคุ้มครองสิทธิของวัยรุ่น

การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ กฎหมายจึงกำหนดให้มี 5 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข โดยกำหนดให้รัฐมนตรีของแต่ละกระทรวงมีอำนาจออกกฎกระทรวงและระเบียบเพื่อให้หน่วยงานนำไปปฏิบัติ นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเปิดโอกาสให้ผู้แทนเด็กและเยาวชน จำนวน 2 คน ร่วมเป็นกรรมการ โดยมีอธิบดีกรมอนามัยเป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ต่อคณะรัฐมนตรี กำหนดแนวทางปฏิบัติและให้คำปรึกษาสำหรับหน่วยงานของรัฐและเอกชน ทั้งนี้เสียงสะท้อนจากเด็กและเยาวชนจะเป็นประโยชน์อย่างมากเพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำร่างกฎกระทรวงให้เกิดประโยชน์แก่เด็กและเยาวชนอย่างแท้จริง

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า จากที่สสส.ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โดยทำการสอบถามนักเรียนในระดับชั้นม.ต้น ม.ปลาย และปวช. ในพื้นที่กทม.และ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และ สงขลา จำนวนทั้งสิ้น 3,053 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2559 พบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อันดับ 1 คือ มาจากพฤติกรรมเลียนแบบจากกลุ่มเพื่อนและสื่อต่างๆ (73.9%) ตามด้วยอันดับ 2 การดื่มแอลกอฮอล์(73%)  และอันดับ 3 การพักอาศัยอยู่ตามลำพังของวัยรุ่น โดยไม่มีผู้ปกครองอยู่ด้วย (72.7%) ส่วนความคิดเห็นต่อการยอมรับหากเพื่อนสนิทที่เรียนอยู่ด้วยกันตั้งครรภ์ระหว่างเรียน พบว่า ส่วนใหญ่ 65.4% ยอมรับได้ ส่วน 28.4% ไม่แน่ใจ และ 6.2% ยอมรับไม่ได้ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าสัดส่วนการยอมรับได้ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจะลดน้อยลง คือ 58.3% เช่นเดียวกับสัดส่วนการยอมรับได้ในเพศหญิงจะสูงกว่าเพศชาย โดยเพศหญิงยอมรับได้อยู่ที่ 70.1% ส่วนเพศชาย 59.8%

สิ่งที่เด็กเยาวชนมองว่าจะได้รับสิทธิประโยชน์มากที่สุดจากกฎหมายป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น อันดับ 1 คือ การได้รับสิทธิรับบริการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูที่เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ (99%) อันดับ 2 การได้รับข้อมูลข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ (98.8%)  อันดับ 3 หากเป็นพ่อแม่วัยรุ่นจะได้รับสิทธิในการจัดสวัสดิการที่เสมอภาค ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ  (94%) อันดับ 4 การได้รับสิทธิคุ้มครองในการรักษาความลับ และความเป็นส่วนตัว (93.4%) และอันดับ 5 ให้สิทธิผู้ที่ตั้งครรภ์สามารถเรียนต่อได้ (87.3%)

สำหรับเสียงสะท้อนต่อโรงเรียนและสถานศึกษาภายหลังจากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ สิ่งที่เด็กเยาวชนต้องการมากที่สุดคือ 1. การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาเพศศึกษาอย่างรอบด้าน และวิธีการคุมกำเนิด 2. โรงเรียนต้องประสานหรือหาแหล่งช่วยเหลือด้านสังคม และ 3. การจัดให้มีเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ตั้งครรภ์ส่งต่อระบบสวัสดิการสังคม  ส่วนรูปแบบการบริการของคลินิกวัยรุ่นที่เด็กเยาวชนต้องการ หากมีความจำเป็นต้องเข้าไปรับคำปรึกษาหรือขอใช้บริการ พบว่า อันดับ 1 ความเป็นมิตรและปราศจากอคติของเจ้าหน้าที่ 1 (79.3%) อันดับ 2 ช่วยรักษาความลับของคนที่เข้ามาติดต่อ(74.2%) และอันดับ 3 ไม่คิดค่าใช้จ่ายหรือรักษาพยาบาลฟรี  (70.1%) โดยช่องทางที่เด็กเยาวชนสะดวกที่สุดในการติดต่อคือ การโทรศัพท์สายด่วน ตามด้วยช่องทางการส่งข้อความทางอีเมล์ ไลน์ หรือเฟสบุค และการเข้าไปปรึกษาเจ้าหน้าที่คลินิกด้วยตนเอง เป็นอันดับสุดท้าย

“ที่น่าสนใจ คือ ความคิดเห็นของเด็กเยาวชนหากเพื่อนสนิทกำลังตั้งครรภ์ในขณะที่เรียน และพ.ร.บ.ประกาศใช้ โดยทางโรงเรียนและครูพร้อมที่จะเปิดโอกาส จะมีผลทำให้เด็กเยาวชน 50% เลือกที่จะเรียนต่อจนกว่าจะคลอด ส่วนอีก 43.6% เลือกที่จะลาพักเพื่อคลอดก่อนแล้วกลับมาเรียนต่อ เท่ากับว่า หากโรงเรียนและครูพร้อมที่จะเปิดโอกาสก็จะช่วยลดปัญหาการออกกลางคันของเด็กเยาวชนได้ เนื่องจากที่ผ่านมาเด็กเยาวชนที่ประสบปัญหาตั้งครรภ์ในวัยเรียนจะตัดสินใจด้วยการลาออกเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้รูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษา ท้องถิ่น  ภาคประชาสังคม และหน่วยบริการทางสุขภาพ ได้เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ 20 จังหวัดของประเทศไทย ซึ่งสสส.ได้ทำงานร่วมกับกลไกการทำงานร่วมกันในพื้นที่และพร้อมที่จะขยายผลการทำงานต่อไป” ทพ.ศิริเกียรติ กล่าว

นางสาวภัทรวดี ใจทอง รองประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการระดมความคิดเห็นของเครือข่ายเด็กและเยาวชน 11 เครือข่ายต่อพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพบว่า ครูจำนวนมากไม่ยอมสอนเรื่องเพศศึกษาในโรงเรียน และมีทัศนคติที่ไม่ดีมองว่านักเรียนที่มาปรึกษาคือตัวปัญหา ครูและผู้บริหารสถานศึกษาจึงต้องมีทัศนคติที่ดี กล้าเปิดใจที่จะสอนและมีความรู้ความเข้าใจ ไม่ควรมองว่าเป็นการชี้โพรงให้กระรอก เพราะหากกระรอกเดินในทางที่ผิดแล้วชีวิตจะเป็นอย่างไร ในโรงเรียนควรมีแกนนำเพื่อนช่วยเพื่อน กรณีที่เด็กไม่กล้ามาปรึกษากับครูโดยตรง ควรจัดให้มีห้องให้คำปรึกษาคล้ายกับคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาล และในกรณีที่เด็กเยาวชนไม่พร้อมที่จะเรียนควรออกแบบรูปแบบการเรียนเป็นรายบุคคล ส่วนการใช้บริการจากคลินิกสุขภาพบุคลากรที่ปฏิบัติงานในหน่วยให้บริการทั้งแพทย์ พยาบาล และผู้เกี่ยวข้องต้องมีทัศนคติที่เป็นมิตร เก็บรักษาความลับ ไม่มีการบันทึกประวัติ และวัยรุ่นที่ตัดสินใจที่เป็นพ่อแม่ควรมีหน่วยดูแลลูกในระหว่างที่พ่อแม่ไปเรียนหรือไปทำงาน และมีหน่วยฝึกอาชีพและสถานประกอบการรองรับ ทั้งนี้เครือข่ายเยาวชนจะมีการรวบรวมความคิดเห็นจากเยาวชนทั่วประเทศ เพื่อเสนอแนะต่อพ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และจะยื่นข้อเสนอดังกล่าวในวันที่ 22 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในระดับชาติ และจะมีการติดตามการบังคับใช้กฎหมายนี้อย่างต่อเนื่อง