ปตท.เดินหน้าสร้างคลังLNGเฟส2 บอร์ดไฟเขียวซื้อที่ดินมาบตาพุด

27 ก.ค. 2559 | 04:00 น.

ปตท.เร่งโครงการคลังแอลเอ็นจีเฟส 2 อนุมัติซื้อที่ดินแล้ว 180ไร่ที่บ้านหนองแฟบ มาบตาพุด รองรับการนำเข้า 7.5 ล้านตัน พร้อมเตรียมพื้นที่สำหรับระยะ 2 อีก 7.5 ล้านตันตามแผนพีดีพี 2015 ขณะที่โครงการท่อก๊าซเส้นที่ 5 เตรียมประมูลหาผู้รับเหมา ไตรมาส 3 ปีนี้ คาดเสร็จเร็วกว่าแผน 1 ปี

นายชวลิต พันธ์ทอง ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าโครงการคลังก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) เฟส 2 ขนาด 5-7.5 ล้านตันว่า หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้อนุมัติให้ปตท.ดำเนินการเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการบริหารบริษัท(บอร์ด) จึงได้อนุมัติซื้อที่ดินแล้วจำนวน 180 ไร่ ที่บ้านหนองแฟบ อ.มาบตาพุด จ.ระยอง มูลค่า 770 ล้านบาท ห่างจากคลังแอลเอ็นจีเฟส 1 ประมาณ 6 กิโลเมตร

โดยคลังแอลเอ็นจีเฟส 2 ปตท.ต้องการก่อสร้างคลังขนาด 7.5 ล้านตัน ใช้เงินลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากลงทุนขนาดใหญ่จะทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างต่อหน่วยลดลงเมื่อเทียบกับขนาด 5 ล้านตัน นอกจากนี้ในพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถขยายคลังแอลเอ็นจีเฟส 2 ส่วนขยายได้อีก 7.5 ล้านตัน เพื่อรองรับปริมาณการนำเข้าแอลเอ็นจีที่จะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว(พีดีพี 2015) ที่มากกว่า 20 ล้านตันในปี 2579 อีกด้วย

ขณะที่คลังแอลเอ็นจีเฟส 1 ส่วนขยายอีก 1.5 ล้านตัน จากเดิมรองรับได้ 10 ล้านตัน ได้รับการอนุมัติจาก กพช.แล้วเช่นกัน ใช้เงินลงทุน 1 พันล้านบาท ตามแผนจะแล้วเสร็จในปี 2562 โดยปัจุบันทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เช่นเดียวกันคลังแอลเอ็นจีเฟส 2 ซึ่งคลังแอลเอ็นจีเฟส 1 ส่วนขยายนี้ ส่วนตัวมองว่าคงไม่มีปัญหาอะไร เนื่องจากพื้นที่เดิมรองรับได้ นอกจากนี้ก็เป็นโครงการลงทุนที่ภาครัฐต้องการให้เกิดขึ้น เพื่อความมั่นคงของประเทศ

สำหรับคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ FSRU ที่ประเทศเมียนมา ขนาด 3 ล้านตันนั้น การศึกษาพื้นที่ก่อสร้างมีความแน่นอนแล้ว บริเวณเมืองกันบอง ของเมียนมา ซึ่งคลังดังกล่าวจำเป็นต้องหารือกับทางรัฐบาลเมียนมา เพราะต้องแบ่งก๊าซแอลเอ็นจีให้ใช้ด้วย เนื่องจากทางเมียนมามีความต้องการใช้แอลเอ็นจีเช่นกัน ซึ่งการลงทุนโครงการลงทุนดังกล่าวยังไม่ได้ประเมินว่าจะใช้เงินลงทุนเท่าใด เนื่องจากงบยังไม่ได้ถูกรวมในงบลงทุน 5 ปี 2559-2563 ที่ 1.57 แสนล้านบาท

นายชวลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของ ปตท. ส่วนใหญ่ยังคงเป็นโครงการท่อก๊าซธรรมชาติ โดยตามแผนลงทุน 5 ปี แบ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ คือโครงการท่อก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 เงินลงทุน 9.6 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลหาผู้รับเหมาในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะพยายามให้เสร็จกว่าแผน 1 ปี จากเดิมกำหนดไว้ปี 2563 โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก นครราชสีมา มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท แบ่งการลงทุนออกเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกวางท่อก๊าซจากสระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 112 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปีนี้ ส่วนเฟส 2 จะวางท่อจาก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา-นิคมอุตสาหกรรมสุรนารี ระยะทาง 50 กิโลเมตร ล่าสุดได้เปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561

ส่วนโครงการท่อก๊าซฯ RA6 เชื่อมต่อจ.ราชบุรี เป็นท่อที่เชื่อมมาจากเมียนมา สร้างขึ้นเพื่อความยืดหยุ่นกรณีก๊าซฝั่งใดฝั่งหนึ่งลดลง ใช้เงินลงทุน 1.36 หมื่นล้านบาท, โครงการเพิ่มแรงดันก๊าซฯ (Midline Compressor) เงินลงทุน 9 พันล้านบาท และโครงการเครื่องเพิ่มความดันฯ วังน้อย จำนวน 3 เครื่อง มูลค่า 4.8 พันล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559