ยอดขอกู้ช่วยเอสเอ็มอีทะลัก สสว.เผยผลสำรวจเกินกรอบกองทุนพลิกฟื้นให้พันล้าน

27 ก.ค. 2559 | 06:00 น.
สสว.เผยผลสำรวจความต้องการกู้เงินกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอีพุ่งกว่า 1.5 พันล้านบาท เกินกว่ากรอบวงเงินที่มีอยู่ 1 พันล้านบาท ในขณะที่ยังมีผู้ประกอบการอีกกว่า 2 พันราย รอสอบถามความต้องการ คาดต้องใช้อีก 1 พันล้านบาท เข้ามาช่วยเหลือ ยัน 28 ก.ค.นี้ เสนอบอร์ดสสว.เห็นชอบหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการปล่อยกู้เงิน

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือสสว. เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในวันที่ 28 กรกฎาคม นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารหรือบอร์ดสสว.มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะมีการเสนอหลักเกณฑ์ เงื่อนไขระเบียบการพิจารณาการปล่อยเงินกู้สำหรับกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอี วงเงิน 1,000 ล้านบาท ให้ที่ประชุมพิจารณา เพื่อเป็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพแต่ประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน มีโอกาสได้รับสินเชื่อไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท ปลอดดอกเบี้ย มีระยะเวลากู้ 5-7 ปี เพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจต่อไป

โดยคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเงินกู้ดังกล่าว จะต้องมีหนี้ไม่เกิน 10 ล้านบาท และเป็นนิติบุคคลที่สมัครเข้าร่วมโครงการปรับปรุงแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอี (เทิร์น อะราวด์) ซึ่งทางสสว.จะเข้าไปช่วยเหลือโดยการเปิดอบรมให้ความรู้ และวินิจฉัยกิจการ หากมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้ สสว.จะช่วยประสานกับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ก่อน เมื่อผ่านการปรับแผนธุรกิจให้สามารถดำเนินกิจการต่อได้ จะสามารถยื่นคำขอกู้ยืมจากกองทุนฯ ได้ เป็นต้น ซึ่งหลังบอร์ดสสว.พิจารณาหลักเกณฑ์แล้ว คาดว่าจะปล่อยเงินกู้ได้ไม่เกินไตรมาส 3 ของปีนี้

ทั้งนี้ จากการเปิดตัวโครงการฯมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ขณะนี้ทางสสว.มีรายชื่อเอสเอ็มอีเป้าหมายที่ประสบปัญหาอยู่ราว 1.2 หมื่นราย มีทั้งที่เป็นนิติบุคคล และบุคคล โดยได้มีการสมัครเข้ามาแล้วประมาณ 9,700 ราย และได้ผ่านการอบรม และเข้าไปวินิจฉัยกิจการในเชิงลึก จากทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีแล้วจำนวน 4,600 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวนี้ พบว่าจำนวน 1,150 ราย หรือราว 25 % มีความประสงค์ที่จะต้องการก็เงินจากกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอี และจำนวน 690 ราย หรือราว 15 % ต้องการช่องทางการการตลาดในการจำหน่ายสินค้า และอีก 15 % ต้องการให้พัฒนาสินคาหรือปรับปรุงมาตรฐานของสินค้า ส่วนที่เหลืออีก 50 % เป็นความต้องการที่แตกต่างกันไป เช่น การพัฒนาบุคลากร การบริหาสต๊อกสินค้า เป็นต้น

นางสาลินี กล่าวอีกว่า จากการประเมินความต้องการของเอสเอ็มอีในการกู้เงินจากกองทุนพลิกฟื้นดังกล่าว ขณะนี้มียอดไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท จะสามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาได้ไม่เกิน 1,000 ราย ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการ เพราะเป้าหมายในการช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามโครงการเทิร์นอะราวด์ สสว.ตั้งเป้าหมายที่จะดำเนินการไว้ในปีนี้ 1 หมื่นราย ซึ่งยังมีนิติบุคคลเหลือกว่า 2,000 ราย ที่ยังไม่ผ่านการอบรม และผ่านการวินิจฉัยกิจการเชิงลึก ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะมีความต้องการที่จะกู้เงินจากกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอีอีกเท่าไร ในขณะที่เอสเอ็มอีที่เป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีอยู่กว่า 3,000 รายนั้น ในปีนี้คงยังไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือในการกู้เงินจากกองทุนฯได้ เพราะยังไม่ผ่านเกณฑ์ด้านคุณสมบัติ ในส่วนนี้ทางสสว.คงจะหามาตรการช่วยเหลือต่อไปในปีหน้า

ดังนั้น ในเร็วๆนี้ ทางสสว.จะนำข้อมูลดังกล่าวเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อขอให้พิจารณาเพิ่มงบให้กับกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอีให้มากขึ้น ส่วนจะเป็นวงเงินเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับทางรัฐบาลจะเป็นผู้พิจารณา เพราะส่วนหนึ่งอาจจะต้องนำมาใช้สำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการทำแผนฟื้นฟู ตามพ.ร.บ.ล้มละลาย(ฉบับที่ 9) พ.ศ.2559 ด้านการฟื้นฟูกิจการในส่วนของลูกหนี้เอสเอ็มอี

แหล่งข่าวจากระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำหรับวงเงินกองทุนพลิกฟื้นเอสเอ็มอีที่สสว.ได้ขอเพิ่มเติมนั้น คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเขาสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)ในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นโครงการที่สามารถช่วยเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาสภาพคล่องได้อย่างแท้จริง และนายกรัฐมนตรี เห็นความสำคัญในส่วนนี้ที่ต้องการช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้อย่างทั่วถึง ซึ่งล่าสุดได้มีดำริให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอมอีขึ้นทั่วประเทศ 3,800 แห่งใน 76 จังหวัดแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559