IMFเตือนเศรษฐกิจโลกไม่สดใส เรียกร้องกลุ่มจี 20 ร่วมมือใช้นโยบายกระตุ้นการเติบโต

27 ก.ค. 2559 | 13:00 น.
ไอเอ็มเอฟเรียกร้องให้ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เร่งออกมาตรการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ หลังประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกไม่สดใสท่ามกลางความไม่แน่นอนหลังเบร็กซิท

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ กล่าวในแถลงการณ์สำหรับการประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศจี 20 ที่มีขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ที่เมืองเฉิงตู ประเทศจีน ว่า "ผู้กำหนดนโยบายควรเตรียมความพร้อมที่จะดำเนินมาตรการในเชิงรุกมากยิ่งขึ้น ถ้าผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงิน และความไม่แน่นอนที่มีเพิ่มมากขึ้นเป็นภัยคุกคามต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง"

ทั้งนี้ ไอเอ็มเอฟแนะว่า การประสานความร่วมมือในการใช้นโยบายทางการคลังจะเป็นประโยชน์ต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ ขณะเดียวกัน ไอเอ็มเอฟมองว่า ธนาคารกลางจำเป็นต้องรักษานโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเอาไว้ และประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในกลุ่มจี 20 ควรต้องเตรียมแผนการฉุกเฉินไว้รองรับในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวกลายมาเป็นเศรษฐกิจถดถอย

อย่างไรก็ตาม นายแจ๊ค ลูว์ รัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ กล่าวว่า มาตรการฉุกเฉินรับมือวิกฤตเศรษฐกิจยังไม่มีความจำเป็นในเวลานี้ "ผมไม่คิดว่าเวลานี้เราจำเป็นต้องมีมาตรการร่วมกันเหมือนกับที่นำมาใช้ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยในปี 2551-2552 มันเป็นช่วงเวลาที่เราต่างต้องทำในสิ่งที่เราควรทำเพื่อให้แน่ใจว่าจุดไหนที่มีการเติบโตที่อ่อนแอจะแข็งแกร่งขึ้น และแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาวเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น"

ขณะเดียวกัน เป็นที่คาดหมายว่าอังกฤษและยุโรปจะเผชิญกับแรงกดดันจากประเทศสมาชิกจี 20 อื่นๆ เกี่ยวกับกระบวนการถอนตัวของอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิท ให้มีความรวดเร็วและไม่สร้างความผันผวนต่อตลาดการเงินทั่วโลกไปมากกว่านี้

ไอเอ็มเอฟเตือนว่า ช่วงเวลาของความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานโดยไม่จำเป็นจากเบร็กซิท และสถานะทางการเงินที่ย่ำแย่ลงในบางประเทศยุโรปอาจส่งผลกระทบรุนแรงมาถึงเศรษฐกิจในระดับมหภาค โดยประเทศพัฒนาแล้วมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด

ด้านนายฟิลิป แฮมมอนด์ รัฐมนตรีคลังคนใหม่ของอังกฤษ กล่าวว่า จะใช้เวทีการประชุมรัฐมนตรีคลังจี 20 ในครั้งนี้แสดงถึงความพร้อมของอังกฤษหลังออกจากอียู "การเดินทางไปประชุมที่จีนครั้งนี้ ผมจะให้ความสำคัญกับการโปรโมตโอกาสทางธุรกิจในอังกฤษ ซึ่งรวมถึงในภาคบริการการเงินที่อังกฤษเป็นผู้นำของโลก อังกฤษเปิดกว้างสำหรับธุรกิจและเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่น่าดึงดูดใจที่สุดของโลกสำหรับการลงทุนจากต่างชาติ"

นอกจากนี้ นายแฮมมอนด์ยังมีกำหนดการเดือนทางไปเยือนกรุงปักกิ่งและฮ่องกง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเงินต่อจากนายจอร์จ ออสบอร์น อดีตรัฐมนตรีคลัง "เราได้สร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งไว้กับจีน และในเวลาที่การลงทุนจากจีนในอังกฤษมีความหลากหลายมากขึ้น และการส่งออกจากอังกฤษมายังจีนขยายตัว ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศจึงมีความสำคัญมากยิ่งกว่าที่เคย" นายแฮมมอนด์กล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงอีกครั้ง หลังผลประชามติของอังกฤษออกมาว่าชาวอังกฤษต้องการออกจากอียู โดยเวลานี้ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.1% ในปี 2559 และ 3.4% ในปี 2560 ลดลง 0.1% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายน

ไอเอ็มเอฟกล่าวว่า ความแน่นอนจากเบร็กซิทคาดว่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการลงทุน แต่ขณะเดียวกันผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจะชัดเจนในประเทศพัฒนาแล้วในยุโรป ในขณะที่ผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ อาทิสหรัฐฯ และจีนจะไม่ชัดเจนนัก ไอเอ็มเอฟปรับลดคาดการณ์การเติบโตของอังกฤษลงเหลือ 1.7% ในปีนี้ และ 1.3%ในปีหน้า จากเดิมที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายนก่อนการทำประชามติที่ 1.9%ในปีนี้ และ 2.2% ในปีหน้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559