‘Boxful’ อีกหนึ่งความสำเร็จ ของธุรกิจสตาร์ตอัพในฮ่องกง

27 ก.ค. 2559 | 05:00 น.
ปัจจุบันฮ่องกงได้พยายามพัฒนาสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจให้เป็นเมืองที่มีความเหมาะสมสำหรับการเริ่มต้นทำธุรกิจสตาร์ตอัพซึ่งได้กลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของฮ่องกง โดยในปี 2558 มีนักธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมโครงการสตาร์ตอัพมากกว่า 1,500 ราย เป็นอัตราเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 46% นับเป็นอัตราการเติบโตที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน (บีไอซี) ขอนำเสนออีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจสตาร์ตอัพในฮ่องกง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะเริ่มต้นทำธุรกิจสตาร์ตอัพได้เข้ามาศึกษาเพื่อนำไปเป็นตัวอย่างในการพัฒนาธุรกิจของตนต่อไป วันนี้ขอเสนอธุรกิจสตาร์ตอัพที่มีชื่อว่า “Boxful”

[caption id="attachment_74930" align="aligncenter" width="500"] Boxful Boxful[/caption]

จุดเริ่มต้นของ Boxful

Boxful เป็นธุรกิจการรับฝากสิ่งของแบบให้บริการถึงบ้าน โดยคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน ค่าบริการเริ่มต้นที่เดือนละ 29 ดอลลาร์ฮ่องกงสำหรับกล่องกระดาษบรรจุเอกสารขนาด 42x34x37 ซม.น้ำหนักไม่เกิน 15 กก. ส่วนกล่องพลาสติกแบบมาตรฐาน (ดังภาพประกอบ) ขนาด 60x40x36 ซม. น้ำหนักไม่เกิน 25 กก. คิดราคาเดือนละ 49 ดอลลาร์ฮ่องกง หากลูกค้าต้องการฝากของใช้ที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ ก็สามารถทำได้เช่นกันโดยการระบุขนาดสัมภาระที่ต้องการฝาก ซึ่งบริษัทจะมีอุปกรณ์เก็บสัมภาระให้บริการตามประเภทสัมภาระ นอกจากนี้ Boxful ยังให้ความสำคัญในเรื่องการดูแลรักษาสิ่งของที่ลูกค้านำมาฝากไว้เป็นอย่างดี โดยมีโกดังเก็บกล่องสัมภาระที่รักษาระดับของอุณหภูมิให้คงที่ เพื่อไม่ให้สัมภาระต่าง ๆ ที่เก็บอยู่ได้รับความเสียหายจากอุณหภูมิที่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป

ธุรกิจ Boxful ก่อตั้งโดยนักธุรกิจ 2 คนคือ นาย Norman Cheung และ นาย Carl Wu ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานสมัยที่ยังทำงานอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ ได้นำ Business model ของบริษัท Boxbee ในสหรัฐอเมริกามาเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ตอัพBoxful ในฮ่องกง โดยนาย Cheung ได้คร่ำหวอดอยู่ในวงการการเงินและการลงทุนมากว่า 8 ปีเต็ม ทำให้สามารถหาแหล่งเงินทุนที่มีศักยภาพเพื่อการต่อยอดทางธุรกิจ นาย Cheung มีประสบการณ์ในการทำ e-commerce ขายเสื้อผ้าแฟชั่นสำหรับสตรีภายใต้เว็บไซต์ Zooq ที่ฮ่องกง เซี่ยงไฮ้ และลอนดอน จึงนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในธุรกิจ “Boxful” ของตน

การใช้บริการ Boxful

ผู้ใช้บริการ Boxful สามารถใช้บริการออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านเว็บไซต์ www.boxful.com โดย Boxful เปิดให้บริการการรับฝากสิ่งของออกเป็น 2 ประเภท คือ แบบรายชิ้น และแบบตามขนาดกล่องสัมภาระ เริ่มต้นโดย (1) เข้าสู่หน้าเว็บไซต์และเลือกขนาดสิ่งของที่ต้องการจะฝาก (2) ชำระเงิน (3) แจ้งที่อยู่เพื่อให้รถยนต์ไปรับสัมภาระจากบ้านผู้ใช้บริการมาเก็บยังสถานที่เก็บสัมภาระของบริษัท โดยผู้ใช้บริการสามารถฝากสัมภาระได้นานตามต้องการโดยชำระค่าบริการเป็นรายเดือน และผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบสถานะของสัมภาระได้ทางระบบอินเตอร์เน็ตตลอดระยะเวลาที่ทำการฝากสัมภาระ และเมื่อสิ้นสุดการเช่า บริษัทให้บริการรถยนต์ขนส่งสัมภาระที่ฝากไว้ให้ถึงบ้านด้วย

Boxful มีโกดังทั้งหมด 2 แห่งในฮ่องกง มีขนาดพื้นที่ที่สามารถบรรจุกล่องขนาดมาตรฐานของ Boxful ขนาด 60x40x36 เซนติเมตร ได้ถึง 2,000 กล่อง

การเติบโตของ Boxful

Boxful ซึ่งเริ่มต้นธุรกิจเมื่อต้นปี 2558 ได้แหล่งเงินทุนจากนักลงทุนอิสระในจีนเป็นเงินจำนวน 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 Boxful สามารถหาเงินทุนเพิ่มขึ้นจำนวน 6.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อต่อยอดธุรกิจ ในช่วงปลายปี 2558 ฮ่องกงมีธุรกิจสตาร์ตอัพใหม่ๆ ที่ทำธุรกิจในลักษณะคลังสินค้าให้เช่าพื้นที่ฝากของ 5 แห่งด้วยกัน อาทิ Boxful, Spacebox, Klosit, StuffGenie and GoNLive (GNL) โดยแต่ละรายได้เสนอการให้บริการรับฝากสัมภาระและสิ่งของที่คล้ายคลึงกัน

สิ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจของ Boxful คือ การบริหารจัดการการทำงานทุกอย่างผ่านระบบอินเตอร์เน็ต การมีระบบการเก็บฐานข้อมูลที่ดีจะสามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้อย่างไม่มีข้อผิดพลาด ข้อได้เปรียบของ Boxful คือการที่ Boxful ไม่เพียงแต่ให้บริการในส่วนของคลังสินค้าเท่านั้น แต่ยังให้การดูแลรักษาสิ่งของแทนเจ้าของ มีการบริหารจัดการระบบคลังสินค้าที่ทันสมัย

ฮ่องกงเป็นเมืองที่มีความแออัดอย่างมาก มีอัตราส่วนความหนาแน่นประชากรถึง 6,300 คนต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ดังนั้นพื้นที่เพียงน้อยนิดจึงมีความหมายอย่างยิ่ง Boxful จึงเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ของชนชั้นกลางชาวฮ่องกงรุ่นใหม่ที่มีบ้านหรือพื้นที่พักอาศัยที่จำกัด แต่มีสัมภาระจำนวนหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะใช้งานในปัจจุบัน หรือเป็นสัมภาระที่ยังไม่ประสงค์จะทิ้งทำลาย เช่น อุปกรณ์กีฬา เครื่องดนตรี คอมพิวเตอร์ กระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ หรือเสื้อผ้าหน้าหนาว แต่บ้านไม่มีที่เก็บและไม่ประสงค์จะใช้บริการฝากสิ่งของในรูปแบบเดิม ๆ เช่น การเช่าโกดัง

บีไอซีหวังว่าธุรกิจสตาร์ตอัพเล็ก ๆ จะเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างทางเลือกของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ซึ่งสามารถประสบความสำเร็จได้ไม่ยากในอนาคต ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมเกี่ยวกับช่องทางการค้า-การลงทุน และความเคลื่อนไหวล่าสุดของเศรษฐกิจจีนได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน http://www.thaibizchina.com/ หรือช่องทางใหม่ www.facebook.com/thaibizchina

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559