กรมบังคับคดีโชว์9 เดือนระบายทรัพย์7.38 หมื่นล้าน

27 ก.ค. 2559 | 09:00 น.
กรมบังคับคดี แจง 9 เดือนระบายทรัพย์ 7.38 หมื่นล้านบาทคิดเป็น 73.83% คาดทั้งปีเข้าเป้าแสนล้านสูงกว่าผลผลักดันเฉลี่ยย้อนหลัง 2ปี 2.01% ปลื้มผลไกล่เกลี่ยสำเร็จ 82.45% และแก้ไขหนี้เกษตรกว่า 2 พันราย

[caption id="attachment_74916" align="aligncenter" width="361"] รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี[/caption]

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3 (ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2559) กรมฯสามารถผลักดันทรัพย์สินได้จำนวนกว่า 2.24หมื่นล้านบาท รวม 3 ไตรมาสเป็นจำนวนกว่า 7.38 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ การเร่งผลักดันทรัพย์สินรอการขายของกรมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558- เดือนมิถุนายน 2559 จำนวน 7.38 หมื่นล้านบาทคิดเป็น 73.83% ของเป้าหมาย (โดยเป้าทั้งปีกำหนดไว้ที่ 1แสนล้านบาท) ซึ่งสูงกว่าผลการผลักดันทรัพย์สินเฉลี่ยย้อนหลัง 2 ปี (ปีงบประมาณ 2557-2558) คิดเป็น 2.01% อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมากรมมีทรัพย์สินรอการขายทอดตลาดจำนวน 1.08 แสนรายการมูลค่า 1.95 แสนล้านบาท ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคิดเป็น 33.11% ที่ดินว่างเปล่า 37.81% และห้องชุดคิดเป็น 29.08% ของทรัพย์รอการขาย

ทั้งนี้ ภาพรวมการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย ยังมีบางส่วนที่ต้องพยายามขับเคลื่อนเช่น คดีค้างเก่าเกิน 10 ปี ที่เริ่มดำเนินการครั้งแรกมีอยู่กว่า 1.3 หมื่นคดี คืบหน้าดำเนินการไปแล้วกว่า 2,000 คดี ส่วนผลการผลักดันทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นนั้น ประกอบด้วยหลายเหตุผล อาทิ การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือการขยายระยะเวลาในการขายทอดตลาดครบ 7 วัน ขณะเดียวกันทำให้มีผู้ซื้อหน้าใหม่เพิ่มขึ้นด้วย

ด้านการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี ผลการไกล่เกลี่ยทั่วประเทศตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 – มิถุนายน 2559 มีเรื่องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 9,726 เรื่อง ไกล่เกลี่ยสำเร็จกว่า 8,019 เรื่องคิดเป็น 82.45% ของเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ซึ่งสูงกว่าผลการไกล่เกลี่ยย้อนหลัง 2 ปี 56.03% นอกจากนี้ ผลการจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชน 11 หน่วยงาน ประกอบด้วย บมจ.ทีโอที บมจ.บัตรกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บริษัทโตโยต้าประเทศไทยจำกัด บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิทฯ บริษัทพัฒนาสินลีสซิ่ง(ซีพีแอล) บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัท เอส ที ลอว์ แอนด์ คอลเลคชั่นฯ และธนาคารซิตี้แบงก์ตั้งแต่ เดือน ตุลาคม 2558 – 30 มิถุนายน 2559 มีเรื่องเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ย 5,670 เรื่อง ทุนทรัพย์ 1,689 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 4,946 เรื่อง ทุนทรัพย์กว่า 1,266 ล้านบาท คิดเป็น 87.76%

อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ในส่วนที่กรมฯรวมกับ ธ.ก.ส. ในการตรวจสอบหนี้เกษตรที่มีอยู่ในชั้นบังคับคดี ซึ่งเป็นหนี้เร่งด่วน ที่ต้องดำเนินการ โดยมอบให้สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศจัดไกล่เกลี่ยหนี้เกษตรกร ตลอดจนให้ความรู้ทางกฎหมาย ความรู้ทางการเงินและสนับสนุนการแก้ไขหนี้สินในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้หรือรีไฟแนนซ์ซึ่งมีเกษตรกรในชั้นบังคับคดี จำนวน 2,292 เรื่อง (11 ก.ค. 59) ราคาประเมิน 244 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สำหรับความคืบหน้าตามคำสั่ง คสช.ที่ 39/2559 เรื่องมาตรการในการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดิน ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยกรมบังคับคดีจะเข้าไปในรายที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว เป็นกรณีที่มีพื้นที่เกิน 500 ไร่ ซึ่งผู้ครอบครองต้องส่งมอบพื้นที่คืนให้ ส.ป.ก. เบื้องต้นพบมีพื้นที่ ส.ป.ก.ที่มีคำพิพากษาให้ส่งคืนจำนวนกว่า 1หมื่น ไร่ ในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ และนครราชสีมา หลังจากนี้หากผู้ครอบครองได้รับการแจ้งตามกรอบเวลาแล้วยังไม่ส่งคืนที่ดินกับ ส.ป.ก. เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.จะประสานเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดีเข้าไปฟ้องขับไล่ออกจากพื้นที่โดยกรมพร้อมดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559