ร้านอาหารติดล้อแรงเว่อร์ โดนใจคนรุ่นใหม่แห่ลงทุนพุ่ง ‘ซีอาร์จี’ร่วมชิงเค้ก

27 ก.ค. 2559 | 12:00 น.
เจาะกระแส “ฟูดทรัก” ร้านขายอาหารติดล้อ แรงฉุดไม่อยู่ ผู้ประกอบการรุ่นใหม่สบช่องแห่ลงทุน “ฟู้ดทรัคคลับฯ” เผยตัวเลขเมมเบอร์พุ่ง 240 ราย จ่อจัดอีเวนต์สร้างโอกาสทางการขายแก่สมาชิก ขณะที่เจ้าตลาดเบอร์เกอร์บนรถ “มาเธอร์ ทรัคเกอร์” เร่งปรับภาพลักษณ์แบรนด์สู่รถกรูเมต์เต็มรูปแบบรับการแข่งขันสูง ฟาก “ชิค เบอร์เกอร์ออน ทรัค” น้องใหม่ไม่น้อยหน้า เดินเครื่องเข็นกลยุทธ์ทางการตลาดเต็มสูบชิงจังหวะขาย ด้าน “ซีอาร์จี” ยักษ์ใหญ่ในเครือเซ็นทรัลขอเอี่ยว เล็งส่ง 2 แบรนด์ “อานตี้แอนส์-มิสเตอร์โดนัท” ร่วมวงชิงเค้กธุรกิจขายอาหารบนรถ

นายชนินทร์ วัฒนพฤกษา ผู้ก่อตั้ง ฟูดทรักคลับ (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า กระแสความนิยมในธุรกิจฟูดทรัก หรือการขายอาหารบนรถ กำลังได้รับความสนใจและถูกจับตามองจากคนรุ่นใหม่อย่างมาก เพราะเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และตรงกับไลฟ์สไตล์ของคนเมือง ที่ชอบสังสรรค์ รับประทานอาหารนอกบ้าน หรือไปเที่ยวตามงานอีเวนต์ต่างๆ ซึ่งจัดกันในหลายสถานที่ หลากหลายรูปแบบ ประกอบกับโลกโซเชียล มีการแชตและแชร์ภาพส่งต่อกันทำให้ธุรกิจฟูดทรักกลายเป็นเทรนด์ที่ทุกงานอีเวนต์ต้องจัดให้มี และถูกใช้เป็นจุดเด่นในการดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ

โดยพบว่าปัจจุบันฟูดทรัก มีธุรกิจที่หลากหลาย มีการตกแต่งรถให้สวยงาม มีเอกลักษณ์ โดดเด่น ง่ายต่อการจดจำ มีเมนูอาหารและการตั้งชื่อร้านให้แปลกและน่าสนใจ จนทำให้ธุรกิจรถฟูดทรัก มีแบรนด์ใหม่ๆเกิดขึ้นย่างต่อเนื่อง โดยผู้ที่สนใจสามารถเริ่มต้นการดำเนินธุรกิจได้ด้วยเงินลงทุนตั้งแต่ 5 แสนบาทต่อรถฟูดทรัก 1 คัน

"ต้องบอกว่าแนวโน้มธุรกิจฟูดทรัก กำลังได้รับความนิยมและเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการเติบโตสูง เนื่องจากมีข้อได้เปรียบธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มทั่วไป คือสามารถเคลื่อนที่ได้และสามารถย้ายตำแหน่งที่ตั้งไปหากลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายได้ ซึ่งฟูดทรัก คลับมีการจัดอีเวนต์เคลื่อนที่ไปในย่านศูนย์การค้า คอมมิวนิตีมอลล์ เป็นต้น เพื่อสร้างพื้นที่การขายและการรับรู้ไปยังผู้บริโภคให้แก่สมาชิกแต่ละราย โดยมีแผนจะจดทะเบียนการดำเนินงานในรูปแบบของสมาคมภายในปีนี้"

สำหรับแผนการดำเนินของทางคลับต่อจากนี้จะมีการจัดอีเวนต์ตามย่านสำคัญต่างๆทุกๆเดือนเพื่อสร้างการรับรู้ไปยังผู้บริโภคและหมุนเวียนให้สมาชิกในทุกๆ เดือน เพื่อสร้างการรับรู้ในกลุ่มสมาชิก ซึ่งแต่ละอีเวนต์จะสามารถรับสมาชิกเข้าร่วมได้ 50-60 ราย นอกจากนี้ยังเตรียมจับมือกับหน่วยงานภาครัฐในการนำรูปแบบการให้บริการรถฟูดทรัก ขยายไปยังต่างจังหวัดและหัวเมืองใหญ่ โดยคาดว่าแคมเปญคาราวานรถฟูดทรัก จะเริ่มออกเดินสายไปยังต่างจังหวัดได้ในปลายปีนี้

ทั้งนี้ฟู้ดทรัค คลับก่อตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบกิจการที่ใช้รถฟูดทรัก ด้วยกัน และหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง,แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อมูล ความรู้ และช่วยเหลือกันระหว่างสมาชิก รวมเป็นสื่อกลางในการติดต่อ สื่อสาร และสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจของสมาชิกโดยประกอบไปด้วยสมาชิก 3 ประเภทดังนี้1. ผู้ประกอบกิจการด้วยรถฟูดทรัก 240 คัน อาทิ ขายเบอร์เกอร์ , เครื่องดื่ม , อาหารทะเล , สลัด ,ส้มตำ เป็นต้น 2.หน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องกับรถฟูดทรัก ในทุก ๆ ด้าน 40-50 หน่วยงาน และ3.บุคคลทั่วไปที่มีความชื่นชอบและสนใจติดตามข้อมูล ข่าวสาร ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับรถฟูดทรัก 200 ราย ซึ่งในแต่ละเดือนจะมีสมาชิกผู้ประกอบการในส่วนของฟูดทรัก เพิ่ม 10-20 รายต่อเดือน โดยมีกลุ่มคนรุ่นใหม่หันมาประกอบธุรกิจฟูดทรัก มากที่สุดกว่า 50%

ด้านนายพัฒน์ หิญ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท มาเธอร์ ทรัคเกอร์ จำกัด ผู้ให้บริการรถขายเบอร์เกอร์เคลื่อนที่ "มาเธอร์ ทรัคเกอร์" (Mother Trucker) กล่าวว่า เพื่อเป็นการรองรับการแข่งขันในธุรกิจฟูดทรักเมืองไทยล่าสุดบริษัทได้เตรียมปรับคอนเซ็ปต์ร้านและการให้บริการรูปแบบใหม่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ จากเดิมที่แบรนด์ให้ความสำคัญกับการขายเมนูเบอร์เกอร์เป็นหลัก และมีราคาเริ่มต้นที่ 150 บาท สู่การให้บริการเต็มในรูปแบบกรูเมต์ ที่ให้บริการทั้งอาหารเครื่องดื่ม และเมนูทานเล่น (สแน็ก) ที่มีราคาตั้งแต่ 30-500 บาท เพื่อเป็นการสร้างทางเลือกที่หลากหลายและสร้างโอกาสทางการขายที่มากขึ้น

พร้อมกันนี้ยังเตรียมเพิ่มจำนวนรถฟูดทรักอีก 6 คันจากเดิมที่มีอยู่ 2 คัน ภายใต้เงินลงทุนที่ 4 แสนบาทต่อคัน ซึ่งแต่ละคันจะมีซิกเนเจอร์และรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อไปให้บริการในย่านและกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกันออกไป อีกทั้งยังเป็นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

"เพื่อรองรับการเติบโตในธุรกิจฟูดทรักในปัจจุบันทำให้บริษัทต้องปรับกลยุทธ์และรูปแบบการให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น ควบคู่กับการนำเรื่องคุณภาพและราคามาใช้ในการกระตุ้นยอดขาย โดยให้ความสำคัญเรื่องของราคาที่สามารถจับต้องได้ โดยขายเบอร์เกอร์ในราคา 150-180 บาท ขณะที่ในโรงแรมจะขายเบอร์เกอร์ในราคา 300 บาท เป็นต้น" นายพัฒน์กล่าว

ขณะที่นายมนตรี ศรีไพบูลย์ ผู้ประกอบการฟูดทรัก ขายเบอร์เกอร์เคลื่อนที่ "ชิค เบอร์เกอร์ ออน ทรัค" (Chick Berger on Truck) กล่าวว่า แม้การแข่งขันในธุรกิจฟูดทรักจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการที่มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามามาก โดยธุรกิจเบอร์เกอร์เคลื่อนที่ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการให้บริการมากกว่ารถบริการเคลื่อนที่ที่ขายอาหารชนิดอื่นๆ ทำให้ต้องมีการตื่นตัวและปรับกลยุทธ์เพื่อรองรับการแข่งขันอยู่เสมอ

“เมื่อเริ่มทำธุรกิจจริง พบทั้งอุปสรรคและปัญหาทำให้ต้องปรับตัวคือเรื่องของสถานที่จอดรถขายที่ยังมีปัญหาหากเราไม่ใช่แบรนด์ใหญ่ และเรื่องฤดูฝนที่เป็นอุปสรรคต่อการขาย ทำให้ต้องหันมาออกอีเวนต์ตามห้างและงานเหมามากขึ้น”

ทั้งนี้แนวการทำตลาดของแบรนด์นับจากนี้คือการสร้างความหลากหลายและโอกาสทางการขายเพื่อหลีกเหลี่ยงแบรนด์เจ้าตลาด ไม่ว่าจะเป็นการหันมาเล่นเรื่องราคราที่ถูกว่าโดยมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 80 บาทและสามารถเพิ่มลดปริมาณและวัตถุดิบในเบอร์เกอร์ได้ ควบคู่กับเมนูที่หลากหลายเพื่อรองรับกลุ่มเป้าหมายของทางแบรนด์ที่ปัจจุบันเป็นกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีการเดินสายคาราวานร่วมกับสมาชิกฟูดทรักคลับ เพื่อสร้างกลุ่มลูกค้าและกระตุ้นยอดขายเพิ่มขึ้น โดยในอนาคตมีแผนงานที่จะขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์

"การที่เราหมุนเวียนที่ขายมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง ซึ่งโอกาสที่ว่าคือการสร้างยอดขายที่เพิ่มขึ้น จากเดิมในที่ประจำที่เราสามารถสร้างยอดขายได้ราว 3-4 พันบาทต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็น 7-8 พันบาทต่อวัน แต่ในแง่ของความเสี่ยงคือเราพฤติกรรมการบริโภคของลูกค้าที่แตกต่างกันออกไป และจะทำอย่างไรให้เกิดการซื้อขายได้ในแต่ละครั้ง"

นางนงนภัส รำเพย ผู้อำนวยการอาวุโส แบรนด์ "อานตี้ แอนส์" บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี) ผู้บริหารร้านซอฟท์เพรทเซล "อานตี้ แอนส์" กล่าวว่า เพื่อเป็นการรองรับโอกาสทางการเติบโตของธุรกิจฟูดทรัก บริษัทได้เปิดตัวรูปแบบการให้บริการใหม่ในรูปแบบของฟูดทรัก ที่เป็นลูกผสมไฮบริดระหว่าง "ร้านอาหาร" และ "สตรีตฟูด" เพื่อเข้ามาต่อยอดธุรกิจ และเป็นการลดต้นทุนการขยายสาขาแต่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ทั่วถึง สร้างยอดขายให้เติบโตได้เพิ่มขึ้น เบื้องต้นขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดลอง ทำ และศึกษารูปแบบของการทำตลาด

ขณะเดียวกันยังเป็นการดึงลูกค้าเก่าที่ห่างหายไปนาน หรือมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ในการบริโภคสินค้าในห้าง สู่ ตลาดนอกห้างแบรนด์ก็จะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเหล่านี้ได้ง่ายขึ้นและ สามารถเป็นแบรนด์ในใจหรือแบรนด์ ทางเลือกให้กับลูกค้าได้อีกหนึ่งทางเลือก

อย่างไรก็ตามนอกจากอานตี้ แอนส์ แล้ว แบรนด์ในเครือซีอาร์จี เช่น มิสเตอร์โดนัท ก็เตรียมเปิดตัวรถฟูดทรักในเร็วๆ นี้ เบื้องต้นอยู่ระหว่างการทดลองและศึกษารูปแบบทางการตลาด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559