บลจ.กรุงศรี เปิดตัวกองทุน KF-GBRAND

26 ก.ค. 2559 | 07:51 น.
น.ส.ศิริพร  สินาเจริญ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงศรี  เปิดเผยว่า จากสภาวะการลงทุนของตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลกที่มีความผันผวนจากปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้อง  ส่งผลให้การลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดีและสม่ำเสมอถือเป็นเรื่องที่มีความท้าทายเพิ่มมากขึ้น  บริษัทจึงได้คัดสรรผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่สม่ำเสมอ จึงเป็นที่มาของกองทุนเปิดกรุงศรีโกลบอลแบรนด์อิควิตี้ปันผล (KF-GBRAND) ที่ลงทุนในกองทุนหลัก Morgan Stanley Investment Funds – Global Brands Fund ที่มีประวัติการจัดตั้งมายาวนานกว่า 15 ปี  และสามารถสร้างผลตอบแทนได้เป็นบวกถึง 14 ปีปฏิทินนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน  โดยปีที่ผลการดำเนินงานของกองทุนหลักติดลบอยู่ในช่วงปี 2008 ที่เกิดวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Crisis) ซึ่งวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปทั่วโลก (ที่มา : Morgan Stanley Investment Management ณ 30 เม.ย. 59)

“กองทุนหลัก Morgan Stanley Investment Funds – Global Brands Fund  มีทีมผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์การลงทุนในตลาดรวมกันกว่า 150 ปี บริหารจัดการโดย Morgan Stanley Investment  Management  ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำระดับโลก มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหารกว่า 4.05 แสนล้านเหรียญสหรัฐ  และมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมจัดการลงทุนมายาวนานกว่า 40 ปี    อีกทั้งเป็นบริษัทในกลุ่มของ MUFG ซึ่งเป็นกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และยังเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลก” (แหล่งข้อมูล : ข้อมูลบริษัทจาก Morgan Stanley Investment Management ณ 31 มี.ค. 59. MUFG เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Morgan Stanley (MS) โดยถือหุ้นในสัดส่วน 22%. Morgan Stanley Investment Management ถือหุ้นโดย MS 100% I ข้อมูลการจัดอันดับโดย S&P Global Market Intelligence , CNBC ณ 25 พ.ค. 59)

“กองทุนหลักมุ่งเน้นลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพสูงทั่วโลก โดยให้ความสำคัญกับการคัดเลือกหุ้นรายตัวที่มีความทนทานต่อวัฎจักรเศรษฐกิจ  มีศักยภาพในการเติบโต มีฐานลูกค้าและแหล่งรายได้กระจายอยู่ทั่วโลกทั้งยุโรป  สหรัฐ  รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีศักยภาพในการสร้างรายได้ที่ดีจากการเติบโตของเศรษฐกิจและประชากร จึงช่วยกระจายความเสี่ยงในด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งได้เป็นอย่างดี   และเป็นบริษัทที่มีอำนาจในการต่อรองราคา  มีคู่แข่งน้อยราย  มีความได้เปรียบทางการแข่งขันโดยอาศัยจุดแข็งจากแบรนด์ที่แข็งแกร่งซึ่งยากที่จะถูกลอกเลียนแบบ  และสามารถสร้างผลตอบแทนจากเงินลงทุนเพื่อการดำเนินธุรกิจในระดับสูงอย่างยั่งยืน”