ตลาดหลักทรัพย์ฯเผยครึ่งแรก 2559 เด่นสุดในอาเซียน

26 ก.ค. 2559 | 07:40 น.
นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในครึ่งแรกปี 2559 ว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถรักษาความแข็งแกร่งครองความโดดเด่นในภูมิภาคอาเซียนใน 3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่  1. ดัชนี SET Index ปรับเพิ่มอยู่ที่ 1,444.99 จุด ทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นสูงสุดในภูมิภาค โดยปรับบวก 12.2% หรือ 15.2% (ในสกุลเงินสหรัฐ)  2.ผู้ลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนด้วยมูลค่าซื้อสุทธิ 35,978 ล้านบาท (หรือ 1,038 ล้านเหรียญสหรัฐ) สูงสุดในอาเซียน พลิกจากการขายสุทธิในปีก่อนหน้า และยังมีแนวโน้มที่จะซื้ออย่างต่อเนื่อง และ  3.มีสภาพคล่องมากที่สุดในอาเซียน ด้วยมูลค่าซื้อขายหุ้นเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 46,669  ล้านบาท (หรือ 1,310 ล้านเหรียญสหรัฐ) สูงสุดตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวมของ SET และ mai ณ สิ้นเดือนมิถุนายน อยู่ที่ 14.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.1% จากสิ้นปี 2558 เนื่องจากบริษัทจดทะเบียนไทยมีผลการดำเนินงานที่ดีเมื่อเทียบกับภูมิภาค อีกทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น เห็นได้จาก GDP ในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 3.2% เทียบกับปี 2558 ที่ 2.8%

ด้านบริษัทจดทะเบียนใหม่ (IPO) และการเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียน ยังมีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามเป้าหมายรวมในปีนี้ที่ 525,000 ล้านบาท ซึ่งในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีการระดมทุนเพิ่มขึ้นถึง 152,228 ล้านบาท ขณะที่ IPO มีการยื่นไฟล์ลิ่งอย่างต่อเนื่อง และจะเริ่มมีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้นในไตรมาส 3 และ 4 และต่อเนื่องไปจนถึงต้นปีหน้า นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ยังได้ริเริ่มการสร้างฐานข้อมูลกลางของบริษัทขนาดกลางและเล็ก (SMEs) รวมถึงผู้ประกอบการใหม่ (Startup) ผ่านเว็บไซต์ Startup (http://new.set.or.th) เพื่อให้ผู้ประกอบการดังกล่าว สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และยังเป็นช่องทางในการติดตามกิจกรรม อัพเดทข่าวสาร แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี สำหรับในครึ่งหลังปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดตัวดัชนี   sSET Index ที่ครอบคลุมหุ้นขนาดกลางและเล็ก เพิ่มเติมจากดัชนีราคา SET50 และ SET100 ที่มีอยู่เดิม โดย sSET Index เป็นดัชนีราคาหุ้นที่สะท้อนความเคลื่อนไหวของราคากลุ่มหุ้นสามัญที่มีขนาดเล็กกว่าหุ้นใน SET100 Index โดยจะเริ่มคำนวณและเผยแพร่ดัชนีอย่างเป็นทางการในต้นปี 2560

และในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา MSCI Thailand Standard Index ประกาศเพิ่มอีก 3 บริษัทจดทะเบียนไทย รวมเป็น 32 บริษัท เป็นการเพิ่มสุทธิสูงสุดในเอเชีย ขณะที่ FTSE4Good ASEAN 5 Index ซึ่งพิจารณาคัดเลือกบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, Governance: ESG) ได้มีบริษัทไทยจำนวน 30 แห่ง จาก 78 แห่งที่ได้รับการคัดเลือกทั้งภูมิภาค โดยไทยได้เป็นจำนวนสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะเดียวกัน การจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน Thailand Sustainability Investment (THSI) ยังคงดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยมีบริษัทจดทะเบียนเข้ามารับการประเมินจำนวน 87 บริษัท โดยจะประกาศรายชื่อในไตรมาส 4 นี้ เพื่อเป็นเครื่องมือในการลงทุนสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีคุณภาพและดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน

สำหรับปริมาณการซื้อขายสินค้าเฉลี่ยต่อวันในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ อยู่ที่ 232,798 สัญญา เติบโตจากสิ้นปีก่อนหน้าถึง 16.5%  และได้เริ่มจัดให้ซื้อขายยางพาราล่วงหน้า (RSS3 Futures) เมื่อต้นปี และต่อยอดไปเป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ยางแผ่นรมควันชั้น 3 เพื่อการส่งมอบสินค้า (RSS3D Futures) เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ลงทุน นอกจากนี้ ได้เพิ่มผู้ดูแลสภาพคล่องใน Single Stock Futures อีก 3 ราย รวมถึงยังได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MoU) กับ Tokyo Commodity Exchange (TOCOM) เพื่อกระชับความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงพัฒนาความร่วมมือด้านธุรกิจ และในครึ่งปีหลังจะมีการเพิ่มสินค้าใหม่ใน TFEX ได้แก่ TFEX Gold-D ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าประเภทต้องส่งมอบทองคำ

ด้านฐานผู้ลงทุนในประเทศ  ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการลงทุนหุ้นและอนุพันธ์ #investnow มีการใช้เครื่องมือใหม่ ๆ ทั้งที่พัฒนาโดย บล. หรือผู้พัฒนารายอื่น ๆ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ (FinTech) เพื่อช่วยผู้ลงทุนในการตัดสินใจหรือเป็นข้อมูลประกอบการลงทุน ทั้งในหุ้น และกองทุนรวม อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของผู้ลงทุน นอกจากนี้ ยังร่วมกับพันธมิตรทั้ง บล. และ ธนาคารพาณิชย์ จัดกิจกรรมให้ความรู้และขยายฐานผู้ลงทุนหุ้น อนุพันธ์ ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค 64 ครั้ง ทำให้สามารถเพิ่มผู้ลงทุนในหุ้น  42,587 ราย และอนุพันธ์ 5,419 ราย มีผลให้ผู้ลงทุนบุคคลเพิ่มเป็น 1.3 ล้านราย สำหรับการบ่มเพาะความรู้ทางการเงินและการลงทุน ได้ดำเนินการผ่านโครงการเงินทองต้องวางแผน และห้องเรียนนักลงทุนกว่า 18,000 คน และให้ความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายกว่า 1.83 ล้าน view และพิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน INVESTORY ที่เปิดตัวเมื่อต้นปี โดยมีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่มาศึกษาความรู้ทางการเงินในรูปแบบมัลติมีเดีย แล้วกว่า 22,000 ราย นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาความรู้ให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพ และผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ตั้งแต่บุคลากรในบริษัทจดทะเบียน ผู้สนใจประกอบธุรกิจ Startup และบุคลากรของบริษัทหลักทรัพย์ ผ่านสัมมนาหลักสูตรเข้มข้นกว่า 1,800 คน

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมุ่งมั่นสร้างฐานผู้ลงทุนสถาบันในประเทศให้แข็งแกร่ง โดยพัฒนาระบบงานกลางสำหรับกองทุนรวม (Fund Service Platform) ร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันชีวิต และสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงกองทุนรวมให้กับผู้ลงทุน นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังส่งเสริมการขยายฐานการลงทุนผ่านผู้ลงทุนสถาบัน ทั้งกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วยการมีแผนทางเลือกการลงทุนแบบ employee’s choice เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว