ศก.ญี่ปุ่นเป็นอย่างไร

26 ก.ค. 2559 | 00:00 น.
การที่ตลาดเงินตลาดทุนเชื่อมโยงถึงกันก่อให้เกิดผลดีและผลเสีย ตอนนี้ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากการเชื่อมโยงถึงกันในด้านผลเสีย เพราะเงินไหลเข้าประเทศในปริมาณมหาศาลโดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์เบรกซิท ที่สหราชอาณาจักร เงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าไปในตลาดญี่ปุ่นทำให้ค่าเงินแข็งขึ้นมาก แต่ค่าที่แข็งขึ้นก็ยังเทียบไม่ได้กับเมื่อ 24-25 ปีที่แล้วที่เคยแข็งขึ้นไปราว 70-80 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สมัยนั้นเงินทุนญี่ปุ่นเข้าไปซื้อกิจการในสหรัฐฯเป็นจำนวนมาก แต่ค่าเงินนั้นจะเอาปัจจุบันไปเทียบกับอดีตไม่ได้ เพราะค่าเงินอ่อนหรือแข็งมากเท่าใดขึ้นกับช่วงเวลาเป็นสำคัญ อย่างสมัยก่อนค่าเงินบาทเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ตกประมาณ 20-25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก็น่าจะถือว่าค่าเงินบาทอ่อนมากๆ เมื่อเทียบกับอดีต แต่ในห้วงระยะเวลา 3-6 เดือน เงินบาทกับเป็นเงินที่แข็งค่ามาก และทำให้มีปัญหาด้านการส่งออกสินค้าของไทย ส่วนญี่ปุ่นเงินเยนตกอยู่ราว 103 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯในเวลานี้ก็ถือว่าค่าเงินเยนแข็งมากๆ เช่นกัน

เกือบ 4 ปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายชินโซะ อาเบะ ก็ใช้นโยบายพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ไม่เคยมีรัฐบาลญี่ปุ่นชุดใดดำเนินมาก่อนคือ ใช้มาตรการ QE หรือมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงรุกด้วยการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นออกพันธบัตรมหาศาลในทุกเดือน เพื่อซื้อสินทรัพย์สถาบันการเงินหรือตราสารหนี้เอกชน รวมถึงสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น อาทิ กองทุนรวมประเภท ETF และกองทรัสต์เพื่ออสังหาริมทรัพย์ และยังเข้าซื้อพันธบัตรระยะยาวของรัฐบาล สิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องต้นก็ได้ผลเพราะทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงฮวบฮาบ บริษัทต่างๆ สามารถทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและทำการส่งออกได้มากขึ้น กอปรกับราคาน้ำมันในช่วงนั้นก็ลดต่ำลงด้วย ญี่ปุ่นจึงเกินดุลการค้ามหาศาล รัฐก็จัดเก็บภาษีได้สูงสุดเป็นในรอบ 17 ปีเลยทีเดียว และต่อมานายกฯจึงได้ประกาศขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มไปหนึ่งครั้ง และมาชะลอประกาศที่จะจัดเก็บเป็น 8% ในไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมานี้

ญี่ปุ่นเป็นเพียงเฟืองตัวหนึ่งของเศรษฐกิจโลก เกิดเรื่องราวขึ้นมากมายตั้งแต่ยุโรปออกมาตรการ QE สหรัฐฯออกมาตรการ QE โดยธนาคารกลางของประเทศเหล่านี้ ทำให้สภาพเงินที่ไหลทะลักออกจากโรงพิมพ์แบงก์ไม่ต่างจากการพิมพ์แบงก์กงเต็กอย่างไงอย่างงั้น แต่ทั้งนี้ผลของการออก QE กลับแตกต่างกัน ญี่ปุ่นออกมาตรการออกมาทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่า รวมไปถึงเงินสกุลยูโรแต่ของสหรัฐอเมริกากลับยังคงสภาพค่าเงินแข็งได้ยาวนานติดต่อกันมากถึง 8 ปีเลยทีเดียวก่อนที่จะอ่อนค่าลงไปบ้าง และปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาบ้าง

ซึ่งจะว่าไปแล้วนี่ก็ผิดไปจากหลักตรรกะทางการเงิน ซึ่งเงินที่พิมพ์ออกมามากและไร้ทองคำหนุนหลัง(ใช้หลักสกุล SLR กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) ย่อมทำให้ค่าเงินอ่อนค่าลง แต่ด้วยความเป็นมหาอำนาจไม่มีขีดจำกัด กลับคงสภาพความมีเสถียรภาพของค่าเงินเอาไว้ได้ ความจริงแล้วเมื่อทำไม่ตรงกับหลักตรรกะเช่นนี้ ทั่วโลกก็ควรจะทิ้งเงินสกุลดังกล่าวเสีย แต่ก็เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะความเชื่อมโยงถึงกันและมีผลประโยชน์ร่วมกันนั่นเอง ต้องยอมรับธนบัตรที่ทะลักออกมาเพื่อเดินหน้าต่อของธุรกิจการเงินและการลงทุนต่อไป แต่ก็มีบางประเทศรู้สึกว่าจะยึดมั่นในตรรกะอยู่ไม่มากก็น้อยนั่นก็คือประเทศจีนกับรัสเซียที่ยอมรับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯลดลง โดยประกาศซื้อขายสินค้าระหว่างกันด้วยเงินสกุลเงินหยวน เพื่อให้หยวนมีบทบาทมากขึ้นและพยายามขยายความร่วมมือไปยังมิตรประเทศที่ทำการค้าขายระหว่างกัน

ความมีอิทธิพลนี่สำคัญจริงๆ ดูอย่างธนาคารกลางอังกฤษเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มองอย่างไรอัตราดอกเบี้ยอังกฤษต้องลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่กลับคงอัตราดอกเบี้ยไว้เช่นเดิม ผลทำให้ค่าเงินปอนด์ไม่อ่อนค่าลงไป ซึ่งดูแล้วก็พิลึกจริงๆ ทั้งๆที่ก็แจ้งชัดอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจของอังกฤษมีแต่จะชะลอตัวลงเท่านั้นไม่มีทางเป็นอื่นไปได้ กลับขืนอัตราดอกเบี้ยเอาไว้เพื่อไม่ให้เงินทุนไหลออก

ก่อนสิ้นเดือนนี้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะประกาศการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศครั้งใหญ่รอบใหม่ เป็นการโหมการลงทุนจากภาครัฐ แต่ผมก็ว่ารัฐลงทุนอย่างไรก็มีผลน้อยต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เพราะต้องการลงทุนภาคเอกชนถึงจะถูกต้องมากกว่า ผมว่าเขามองจะช่วยญี่ปุ่นที่ถอนตัวกลับประเทศมากกว่าอย่างอื่น ครับ

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559