‘ณรงค์ฤทธิ์’ตอบทุกข้อกังขา ประเด็นร้อน‘นมโรงเรียน’

26 ก.ค. 2559 | 03:00 น.
โครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า โครงการนมโรงเรียน ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2535 ในสมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย วัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ปัญหาการขาดสารอาหารในเด็กวัยเรียน และสนับสนุนอุตสาหกรรมโคนมไทยโดยใช้น้ำนมดิบจากเกษตรกรในประเทศ หากย้อนไปในเวลานั้นประเทศไทยกำลังประสบปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด เป็นแรงกดดันที่ทำให้รัฐบาลเร่งหาแนวทางแก้ไขแบบเร่งด่วน และแจ้งเกิดโครงการนี้ขึ้นมา พร้อมให้งบประมาณสนับสนุน เริ่มตั้งแต่ 278 ล้านบาท กระทั่งปัจจุบันเพิ่มเป็น 14,000 ล้านบาทต่อปี

ผ่านมา 24 ปีแล้ว ปัญหานมโรงเรียนทวีความรุนแรงมากขึ้นทั้งเรื่องการจัดสรรสิทธิ์ที่แต่ละฝ่ายที่มีส่วนได้เสียเห็นว่าการจัดสรรไม่โปร่งใส และยังปัญหาอื่นๆ เกิดขึ้นรายวัน "ฐานเศรษฐกิจ" ฉบับนี้สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ” ผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ค.ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายนมพร้อมดื่มไทย-เดนมาร์คหรือนมวัวแดง คนล่าสุด และในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (มิลบอร์ด ) ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและทางออก

ปีนี้จัดสรรควบ 2 เทอม

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวถึง การคัดเลือกผู้ประกอบการและการจัดสรรสิทธิ์และพื้นที่จำหน่ายนม โรงเรียน ในปีการศึกษา 2559 ว่า จะจัดสรรครั้งเดียวควบทั้ง 2 เทอม จากที่ผ่านมาจัดเป็นรายเทอม โดยนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานมิลค์บอร์ด ได้แต่งตั้งและมอบอำนาจให้คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจฯ ที่มี นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน และกรรมการเป็นข้าราชการทั้งหมดมาจัดสรรสิทธิ์การจำหน่าย และแก้ปัญหาทั้งเรื่องนมไม่ได้คุณภาพ และผู้ประกอบการร้องเรียนเรื่องการจัดสรรโควตาไม่เป็นธรรม ซึ่งการจัดสรรสิทธิ์ในปีนี้เสร็จเรียบร้อยแล้วมีผู้ประกอบการเข้าร่วมทั้งสิ้น 67 ราย โดยได้มีการแบ่งพื้นที่ และใช้หลักเกณฑ์ว่าโรงงานตั้งอยู่ที่ไหนจะให้จัดสรรพื้นที่จำหน่ายให้ก่อน และขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำนมดิบที่ผู้ประกอบการจะได้โควตาไปจัดส่งให้โรงเรียนที่อยู่ใกล้ที่สุด

ทั้งนี้การเข้าร่วมโครงการได้มีการประกาศมาตรฐานทั้งในส่วนโรงงานผู้ประกอบการ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ไปจนถึงเกษตรกรที่เป็นต้นทาง อาทิ น้ำนมโคจะต้องมีองค์ประกอบเซลล์เม็ดเลือดขาว (Somatic cell Count)ไม่เกิน 650,000 เซลล์/ลบ.ซม. และน้ำนมโคที่มีองค์ประกอบปริมาณของแข็งรวม (Total Solid) ไม่ต่ำกว่า 12% จะปรับเพิ่มเป็น 12.15% โดยใช้ตัวเลขเฉลี่ยทั้งเทอม ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องมีองค์ประกอบTotal Solid น้ำนมดิบเรี่มต้นที่ 12% ก่อน แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้ว ในช่วง 3 เดือน หรือเฉลี่ยทั้งเทอมจะต้องได้ 12.15% เป้าหมายเพื่อให้นักเรียนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพ และที่สำคัญในปี 2560 ฟาร์มโคมนมของเกษตรกร 1.6 หมื่นฟาร์มจะต้องได้มาตรฐาน GAP ดังนั้นกฎ กติกาต่างๆ ได้วางไว้เรียบร้อยแล้วอย่างรัดกุม

"เชื่อว่าคนที่เข้าร่วมโครงการรู้หมดในเรื่องกฎเกณฑ์ กติกา แต่การปฏิบัติต้องเอาใจใส่ และต้องมีความรับผิดชอบ ที่สำคัญโรงเรียนโดยเฉพาะคุณครูเองก็ต้องดูในเรื่องมาตรฐานเช่นผู้ประกอบการนำผลิตภัณฑ์มาส่ง อย่างน้อยจะต้องรินใส่แก้ว ดมกลิ่นตรวจสอบว่าของที่นำมาส่งดีหรือไม่ ถ้าไม่ดีก็ต้องไม่รับ”

ถ้ารัฐไม่อุดหนุนงบ 1.4 หมื่นล.

เป็นเรื่องใหญ่ เพราะสาเหตุที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในโครงการนี้เพราะ 1. เด็กได้ดื่มนมมีคุณภาพ ร่างกายแข็งแรง 2.ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เพราะฉะนั้นไม่ได้กระทบกับโรงเรียนว่าจะมีงบประมาณมาจัดซื้อหรือไม่ แต่จะไปกระทบกับอาชีพเลี้ยงโคนม เพราะทุกวันนี้ ในโครงการนี้ใช้น้ำนมดิบ100% ปริมาณน้ำนมดิบที่ใช้ 1,170 ตัน/วัน แต่ในประเทศไทย ผลิตน้ำนมดิบเฉลี่ยประมาณ 3 พันตันต่อวัน เฉลี่ยใช้ในโครงการนมโรงเรียนประมาณ40% สัดส่วนที่เหลือก็มีแบ่งไปใช้กับนมพาณิชย์

“จะเห็นว่าน้ำนมดิบจากเกษตรกรไม่เพียงพอ กับที่ผลิตได้ในประเทศ จึงต้องนำนมผงจากต่างประเทศเข้ามา เพราะถ้าเกิดเลิกโครงการนี้แล้วราคาน้ำนมดิบที่ผลิตในประเทศถูกกว่านมผงที่นำเข้า ก็เชื่อว่าผู้ประกอบการจะไม่ซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกร แต่ตรงกันข้ามหากนมผงราคาแพงมาก หากยกเลิกโครงการนี้ ผู้ประกอบการก็ยังต้องการใช้ เพราะการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ”

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวอีกว่า เมื่องบประมาณได้ถูกจัดสรรอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการทุกคนอยากจะแบ่งเค้กจากก้อนนี้ ส่วนการจัดสรรจะต้องให้ความยุติธรรม โดยในปีนี้จำนวนนักเรียนที่ใช้คำนวณ อยู่ที่ 7.4 ล้านราย ก่อนหน้านั้นเคยใช้ 7.6 ล้านรายมาโดยตลอด หมายความว่า จำนวนหัวนักเรียนลดลง งบประมาณก็ต้องลดลง แต่ผู้ประกอบการความต้องการยังมีอยู่เท่าเดิม จะต้องมีบางส่วนโดนลดสิทธิ์ ส่วนในกรณีที่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาเพิ่ม แต่ก้อนเค้กเท่าเดิมก็จะต้องถูกซอยส่วนแบ่ง

“ในส่วนของ อ.ส.ค.ที่เป็นองค์กรของรัฐ เรายอมที่จะเสียเค้กก้อนนี้ของเราไปคิดเป็นปริมาณน้ำนมดิบกว่า 30-40 ตัน/วัน เมื่อเทอม 2/2558 เพราะความต้องการของผู้ประกอบการมีจำนวนมาก แต่พอมีการวางกฏเกณฑ์กติกาใหม่ชัดเจนแล้วว่าใครจะเข้าร่วมโครงการนี้จะต้องผ่านเกณฑ์ GMP มีเอ็มโอยูน้ำนมดิบ มีคุณภาพน้ำนมดิบที่ดี บางคนที่โดนลดสิทธิ์และตัดสิทธิ์ ด้วยเหตุนี้จึงถือเป็นความโปร่งใส่ และยุติธรรม ผมบอกตรงๆ ว่าไม่มีประสบการณ์ในเรื่องของนมโรงเรียน แต่ก็ทำงานใน อ.ส.ค.มาตลอด คราวที่แล้ว อ.ส.ค.เสียโควตาไป ยอมรับว่าอ่อนประสบการณ์ แต่อีกด้านหนึ่ง อ.ส.ค.มีแบรนด์ มีตลาดนมพาณิชย์ ผมเองควรจะไปใช้ฝีมือที่จะขับเคลื่อนในเรื่องนี้”

เล็งยอดอ.ส.ค.ปีนี้ 8,900 ล้าน

สำหรับในปีนี้ผลประกอบการของ อ.ส.ค. คาดมียอดขายประมาณ 8,900 ล้านบาท ในจำนวนนี้สัดส่วน 15% หรือประมาณ 1,200-1,300 ล้านบาท จะมาจากรายได้นมโรงเรียน ส่วนที่เหลือจะเป็นยอดขายนมพาณิชย์ ซึ่งมีช่องทางจัดจำหน่ายทั้งผ่านตัวแทนและโมเดิร์นเทรด ส่วนยอดขายในต่างประเทศตั้งเป้าไว้ประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งปีที่แล้วขายกัมพูชาเกือบ 700 ล้านบาท ส่วนในปีนี้มีผู้แทนจัดจำหน่ายในเมียนมาแล้วคาดว่าจะได้ตามเป้า แต่จะมีปัจจัยเสี่ยงในประเทศกัมพูชา เช่น มีกระแสในเรื่องความรักชาติ มียี่ห้อนมผลิตภัณฑ์แบรนด์อังกอร์ ซึ่งทางรัฐบาลสนับสนุนให้ประชาชนดื่ม ดังนั้นโอกาสที่จะเข้าไปแข่งขันอาจจะโดนกีดกันบ้าง

“หากยอดไม่ได้ตามเป้า ก็คงจะมาจากยอดขายในกัมพูชาอาจลดลง ส่วนเป้ายอดขายหมื่นล้านบาทคิดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 4,000 ราย เฉลี่ยเรารับน้ำนมดิบตามเป้าหมาย 575 ตัน/วัน แต่ในช่วงน้ำนมที่มีปริมาณมากที่สุดรับร่วม 700 ตัน/วัน ทั้งนี้การเติบโตของ อ.ส.ค. ในเรื่องธุรกิจเราเติบโตตามปริมาณน้ำนมดิบของเกษตรกร โดยผลิตภัณฑ์นมวัวแดง ใช้น้ำนมโคสด 100% ไม่ได้ผสมนมผง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559