รีพับลิกันดันทรัมป์สู้ศึกเลือกตั้ง แถลงกร้าวไม่เอานาฟต้า ดึงการจ้างงานคืนสู่สหรัฐฯ

26 ก.ค. 2559 | 04:00 น.
ในที่สุดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา พรรครีพับลิกันก็ได้นายโดนัลด์ทรัมป์ มหาเศรษฐีนักธุรกิจวัย 70 ปี เป็นตัวแทนพรรคในการลงสมัครรับเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายนศกนี้โดยนายทรัมป์ได้รับมติเสียงข้างมากในการประชุมพรรคที่เมืองคลีฟแลนด์รัฐโอไฮโอ เป็นคะแนนเสียงสนับสนุนรวมทั้งสิ้น 1,725 คะแนน ซึ่งเกินเกณฑ์ขั้นตํ่าของพรรคที่กำหนดเอาไว้ที่อย่างน้อย1,237 คะแนน จากทั้งหมด 2,472 คะแนน

นายทรัมป์ได้รับการเสนอชื่ออย่างเป็นทางการพร้อมนายไมค์ เพนซ์ ผู้ว่าการรัฐอินเดียนา ซึ่งจะลงสมัครคู่กันในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาเขาได้กล่าวถ้อยแถลงรับมอบตำแหน่งการเป็นตัวแทนพรรคในการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งครอบคลุมถึงมุมมองและนโยบายของเขาเกี่ยวกับนโยบายระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงนโยบายการค้า ที่หลายฝ่ายหวั่นเกรงว่าจะยิ่งเพิ่มการเผชิญหน้ากับประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีน และอาจผลักให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะอันตรายยิ่งขึ้น

ในถ้อยแถลงดังกล่าว นายทรัมป์ตอกย้ำว่า ข้อตกลงการค้าเสรีแห่งอเมริกาเหนือ หรือ นาฟต้า ทำให้สหรัฐอเมริกาเสียเปรียบคู่ค้าและเขาต้องการให้มีการรื้อข้อตกลงมาเจรจากันใหม่ ตอนหนึ่งของถ้อยแถลงเขาถึงกับระบุว่า ถ้าหากทำได้ เขาจะถอนสหรัฐฯ ออกจากนาฟต้าภายในเสี้ยววินาที ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์จำนวนหนึ่งที่มองว่าข้อตกลงนี้ทำให้การจ้างแรงงานไหลออกนอกสหรัฐฯ เป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่นายทรัมป์มักจะเอ่ยอ้างถึง คือ โรงงานผลิตเครื่องปรับอากาศแคเรียร์ (Carrier) ในสหรัฐฯ ที่ต้องปิดโรงงาน แล้วย้ายไปเปิดฐานฐานผลิตนอกประเทศแทน ทำให้ตำแหน่งงาน 1,400 ตำแหน่งที่เคยเป็นของคนอเมริกันต้องโยกไปให้คนงานประเทศอื่น ขณะเดียวกันหากมีการจ้างแรงงานใหม่ในสหรัฐฯ ก็ยากที่จะชี้ชัดว่านั่นเป็นอานิสงส์ของข้อตกลงนาฟต้าหรือเป็นเพราะปัจจัยอื่นๆทางธุรกิจกันแน่

ยังไม่มีใครฟันธงได้ชัดๆว่า การถอนตัวของสหรัฐฯออกจากนาฟต้าจะทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เพราะการรื้อข้อตกลงการค้าที่ครอบคลุมเศรษฐกิจขนาดใหญ่และหลากหลายรายละเอียดทั้งด้านภาษีศุลกากร การเคลื่อนย้ายคนและทุนข้ามพรมแดนประเทศ รวมถึงการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดซับซ้อนอย่างมาก อีกทั้งยังมีผลกระทบทางการเงินอย่างประเมินค้ามิได้ เช่น การสูญเสียโอกาสทางธุรกิจสำหรับบริษัทของสหรัฐฯที่ไม่สามารถเข้าถึงตลาดแคนาดาและเม็กซิโกอย่างง่ายดายและเสรีอีกต่อไป เป็นต้น รวมถึงการสูญเสียสิทธิประโยชน์หรือสิทธิพิเศษด้านการลงทุนที่เคยมีเคยได้จากประเทศคู่สัญญา แต่กระนั้น นายทรัมป์ก็ยืนกรานว่า ถึงจะออกจากนาฟต้า เขาก็มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าที่จะไปเจรจามาให้กับสหรัฐฯ

ในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น นายทรัมป์ย้ำว่าสหรัฐฯไม่ควรเข้าไปยุ่งกับเรื่องวุ่นๆของประเทศอื่นๆ ซึ่งเป็นทัศนะเชิงอนุรักษ์นิยม หลายทศวรรษที่ผ่านมา สหรัฐฯผูกมิตรกับผู้นำในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย ฯลฯ แต่ไม่เข้าแทรกแซงกิจการภายใน กระทั่งราว 20 ปีที่ผ่านมา ท่าทีดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนแปลงไปแม้การแทรกแซงในบางกรณีจะเป็นในรูปการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เช่นการเข้ามีส่วนร่วมในข้อพิพาทคาบสมุทรบอลข่าน และการใช้กำลังทหารเข้าแทรกแซงเหตุการณ์ในลิเบียเมื่อปี 2554 แต่สำหรับนายโดนัลด์ ทรัมป์ เขาไม่เห็นด้วยกับท่าทีแบบนั้น นอกจากนี้ยังส่งสัญญาณไปยังสมาชิกนาโต้ หรือ องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือว่า สมาชิกนาโต้มีความรับผิดชอบที่จะต้องออกแรงให้การสนับสนุนองค์กร อย่าคาดหวังว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้วสหรัฐฯ จะต้องยื่นมือเข้ามาช่วยโดยอัตโนมัติ “ถ้าพวกเขาทำตามพันธะสัญญา เราจึงจะมา(ช่วย)” ทรัมป์กล่าว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559