แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ (25 - 29 ก.ค. 59)

25 ก.ค. 2559 | 09:40 น.
ราคาน้ำมันดิบผันผวน จับตาผลการประชุมเฟด  26-27 ก.ค. นี้   คาดเฟดจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ. ไทยออยล์

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 44 – 49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 45 – 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (25 - 29 ก.ค. 59)

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้คาดว่าจะเคลื่อนไหวอย่างผันผวน โดยตลาดต้องจับตาผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 26-27 ก.ค. นี้ ว่า Fed จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าและกดดันราคาน้ำมันดิบ นอกจากนี้ ตลาดมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้ระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ อาจส่งผลให้ผู้ผลิตบางรายในสหรัฐฯ เริ่มคุ้มทุนที่จะกลับมาดำเนินการขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบอีกครั้ง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้

จับตาการผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในวันที่ 26-27 ก.ค. นี้ ว่า Fed จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลให้มีการโยกย้ายเงินทุนออกจากตลาดน้ำมันโลกได้ โดยตลาดคาดการณ์ว่า Fed จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่จะถึงนี้ เนื่องจากยังคงจับตาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการที่สหราชอาณาจักรลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) อย่างไรก็ดี ตลาดมองว่า Fed อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในสิ้นปีนี้ หลังจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้แก่ยอดค้าปลีกและผลผลิตอุตสาหกรรม ชี้ให้เห็นถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้ ตลาดซื้อขายล่วงหน้าของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสหรัฐฯ (Fed Funds Futures) ณ วันที่ 20 ก.ค. มองว่าโอกาสที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมภายในเดือน ธ.ค. ถึง 44%

ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นใกล้ระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ อาจส่งผลให้ผู้ผลิตบางรายในสหรัฐฯ เริ่มคุ้มทุนที่จะกลับมาดำเนินการขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบอีกครั้ง โดยล่าสุด Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ณ วันที่ 15 ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 6 แท่น เป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน สู่ระดับ 357 แท่น นอกจากนี้ ผู้ผลิตน้ำมันดิบจากหินชั้นดินดานในสหรัฐฯเริ่มดำเนินการผลิตน้ำมันจากหลุมน้ำมันที่ขุดไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ทำการผลิต (Drilled but Uncompleted Wells หรือ DUCs) หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มสูงขึ้นในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา

ความต้องการใช้น้ำมันโลกอาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังเผชิญกับความไม่แน่นอน ภายหลังจากที่สหราชอาณาจักรลงประชามติถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ส่งผลให้ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกประจำปี 2559 และ 2560 ลงมาอยู่ที่ 3.1% ในปี 2559 และ 3.4% ในปี 2560 ซึ่งปรับลดลง 0.1% จากการคาดการณ์ในเดือนเม.ย. ที่ระดับ 3.2% และ 3.5% ตามลำดับ ทั้งนี้ IMF ระบุว่า อังกฤษจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการลงประชามติดังกล่าว และได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจอังกฤษในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 1.7% ลดลง 0.2% จากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ และปรับลดคาดการณ์ในปี 2560 กว่า 0.9% สู่ระดับ 1.3%

นาย Alexander Novak รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของรัสเซียกล่าวว่ารัสเซียไม่มีแผนการเจรจาที่จะร่วมมือกับกลุ่มโอเปกเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันดิบ และไม่สามารถตกลงที่จะลดกำลังการผลิตลงได้ นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียจะปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 10.8 – 10.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ หลังจากแตะระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี ที่ 10.73 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 58

ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ คงปริมาณการกลั่นอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องเพื่อรองรับความต้องใช้น้ำมันในช่วงฤดูกาลขับขี่ของสหรัฐฯ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานตัวเลขปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 15 ก.ค. ปรับลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่เก้าติดต่อกัน สู่ระดับ 519.5 ล้านบาร์เรล ขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับลดลง 0.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 64.1 ล้านบาร์เรล

ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ดัชนีความอ่อนไหวของผู้บริโภค (Reuters/Michigan) ของสหรัฐฯ และความเชื่อมั่นผู้บริโภค จีดีพีไตรมาส 2/59 และอัตราการว่างการของยูโรโซน

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (11 - 15 ก.ค. 59)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 1.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปิดที่ 44.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.92 เหรียญสหรัฐฯ ปิดที่ 45.69 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 42 เหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากราคาน้ำมันดิบเริ่มฟื้นตัวใกล้ระดับ 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบไม่ได้ปรับลดลงไปมากนัก โดยได้รับแรงหนุนจากความกังวลต่ออุปทานที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในตุรกี เนื่องจากตุรกีนับเป็นศูนย์กลางขนส่งน้ำมันอันสำคัญ

ที่มา:บมจ.ไทยออยล์