เปิด 12 แผนงานในระยะนำร่อง 14 กม.โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

25 ก.ค. 2559 | 07:14 น.
รศ.ดร. สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการ โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) ซึ่งเป็นการพัฒนาพื้นที่ภูมิทัศน์บนฐานมรดกวัฒนธรรม และเชื่อมต่อมรดกวัฒนธรรมและพื้นที่เหล่านั้นด้วยทางเดินริมเจ้าพระยาซึ่งบางส่วนเลียบน้ำ บางส่วนวกเข้าพื้นดินแล้วแต่ความเหมาะสม โดยกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานคร มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งและให้กับประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงแม่น้ำเจ้าพระยาได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี  โดยมุ่งเน้นด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น  การดำเนินงานทุกด้านของโครงการ 4 เดือนเศษ ตั้งแต่มีนาคมถึงปัจจุบัน เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ ในด้านการมีส่วนร่วมโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้ลงพื้นที่ 33 ชุมชน โดยได้ร่วมมือกับกรมศิลปากร และมหาวิทยาลัยศิลปากรในการศึกษาแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่สองฟากฝั่งอันเป็นมรดกวัฒนธรรมสำคัญของประเทศ เพื่อทำให้เข้าใจคุณค่าและนำไปสู่การอนุรักษ์ สืบสานมรดกวัฒนธรรม และสอดคล้องกับแนวทางมรดกโลก

4.ชุมชนเทวราชกุญชร Jpeg_5161 ส่วนด้านการออกแบบได้จัดทำร่างแนวคิดผังแม่บท ระยะทาง 57 กม. และระยะนำร่อง 14 กม. ซึ่งในวันนี้จะได้ชี้แจงถึง 12 แผน และแบบเบื้องต้น ทั้งนี้ในปลายเดือนกันยายน 2559 เราจะส่งมอบงานสำรวจวิจัยและออกแบบได้ทั้งหมด เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่บนฐานมรดกวัฒนธรรม โดยสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมและ Eco-Based Design เพิ่มธรรมชาติสีเขียว สำหรับการออกแบบในพื้นที่ชุมชนหลายแห่งจะทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนสิงหาคม-เดือนกันยายน 2559  โดยประสานกับฝ่ายวิศวกรรม ด้านชลศาสตร์ได้ศึกษาระดับน้ำและผลกระทบตามแบบจำลองต่างๆ รวมทั้งเตรียมการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ในส่วนของทางเดินมีความกว้าง 7-10 เมตร และระดับความสูงของพื้นผิวทางเดินจะอยู่ต่ำกว่าสันเขื่อนเฉลี่ย 1.30 เมตร

13..ภาพตัวอย่างท่าเรือวัดอาวุธวิกสิตาราม ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี รองผู้จัดการและโฆษก โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า สำหรับผังแม่บทระยะนำร่อง 14 กม. จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ประกอบด้วย 12 แผนย่อย ได้แก่  แผนงานที่ 1 : โครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชน (Community Conservation and Development Areas) การพัฒนาพื้นที่ชุมชนตามกระบวนการการมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยฟื้นฟูและอนุรักษ์ วัฒนธรรมและสืบสานวิถีชีวิตของชุมชนที่มีมาในอดีตให้เป็นแหล่งเรียนรู้และท่องเที่ยว , แผนงานที่ 2 : งานพัฒนาจุดหมายตาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (River Landmark) เพื่อเป็นสถาปัตยกรรมกรุงรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์กรุงเทพมหานคร, สวนเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 7, พิพิธภัณฑ์มรดกเจ้าพระยา, ศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งชาติและพิพิธภัณฑ์โรงเรือพระราชพิธี นอกจากนี้ในพื้นที่ที่จะดำเนินการยังให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับพื้นที่ที่มีเอกลักษณ์ ด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม และเขตพระราชฐานเป็นพิเศษ ,  แผนงานที่ 3: การพัฒนาท่าเรือ (Piers) ให้เป็นจุดเชื่อมต่อการสัญจรทางน้ำที่ประชาชนได้รับความสะดวก ปลอดภัย และปรับปรุงรูปแบบสถาปัตยกรรมให้มีความสอดคล้อง เป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ , แผนที่ 4: การพัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ (River Linkages) ปรับปรุงตรอกซอกซอย ทางเดิน เพื่อเชื่อมต่อและเข้าถึงพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

แผนที่ 5: การจัดทำทางเดินริมแม่น้ำ (River Walks) เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่มรดกวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเข้าด้วยกัน (Connectivity) มีทั้งทางเดินเลียบแม่น้ำและทางเดินบนพื้นดินซึ่งมีอยู่หลายแห่ง เช่น ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าจนถึงคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นพื้นที่รัตนโกสินทร์ชั้นที่ 3 และหลายส่วนของริมฝั่งธนบุรี เช่น จากสะพานพระราม 8 ถึงวัดบวรมงคล, ย่านบางอ้อถึงวัดวิมุตยาราม ทางเดินโดยทั่วไปประกอบไปด้วยทางเดินเท้า, ทางจักรยาน, บางแห่งมีจุดชมทัศนียภาพ, สะพานข้ามคลอง, ฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลนริมน้ำ และพื้นที่สีเขียว ทางเดินริมน้ำนี้ยังช่วยเชื่อมโยงวัด โบราณสถานและโรงเรียนต่างๆ เป็นประโยชน์ต่อครอบครัว คนทำงาน เยาวชน นักเรียน ให้มีทางเลือกของการสัญจรที่ประหยัดพลังงานและเวลา ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าวัด ใกล้ชิดศาสนาและที่พึ่งทางจิตใจ ธรรมชาติ มีวิถีชีวิตที่สงบงามยิ่งขึ้น

แผนที่ 6: การปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน (Green Walls) ให้มีทัศนียภาพที่สวยงาม น่ามอง การซ่อมแซมเขื่อนที่ชำรุด ก่อสร้างส่วนที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้ครบถ้วนสมบูรณ์ , แผนที่ 7: พัฒนาศาลาท่าน้ำ (Sala Riverfronts) ให้เป็นจุดพักผ่อน ศาลาคอย และชมทัศนียภาพริมน้ำ ชุมชน ศาสนสถาน พื้นที่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมริมน้ำ แผนที่ 8: การจัดทำพื้นที่บริการสาธารณะ (Public Services) รองรับการใช้ประโยชน์สาธารณะ เช่น ศูนย์บริการความช่วยเหลือ, ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยว, จุดบริการจักรยาน , แผนที่ 9: พัฒนาพื้นที่ศาสนสถาน (Religious Conservation Areas) ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน มรดกทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม การออกแบบพัฒนาภูมิทัศน์คำนึงถึงคุณค่าและเคารพต่อศาสนสถาน ส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยและเยาวชนได้เข้าถึงที่พึ่งทางจิตใจมากยิ่งขึ้น , แผนที่ 10: พื้นที่แนวคูคลองประวัติศาสตร์ (Historical Canal) โดยการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมฝั่งคลอง รวมทั้งการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมคลอง ในด้านการสัญจรและการท่องเที่ยว แผนที่ 11: พัฒนาพื้นที่นันทนาการและสวนสาธารณะริมน้ำ (Green Corridors) โดยใช้พื้นที่ว่างและพื้นที่สาธารณะด้านหลังเขื่อน เพื่อเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมนันทนาการ ลานกีฬา และสวนสาธารณะของประชาชน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาน้ำขังและเน่าเสียหลังเขื่อนด้วยระบบท่อรวบรวมน้ำเสียเพื่อส่งไปยังบ่อบำบัดต่อไป และ แผนที่ 12: สะพานคนเดินข้าม (Pedestrian Bridge) สะพานคนเดินข้ามแม่น้ำ โดยสร้างใหม่ 2 จุด คือ จากชุมชนสะพานพิบูลฝั่งซ้าย ข้ามไปยังท่าเรือวัดฉัตรแก้วจงกลณี ฝั่งธนบุรี, จากห้างแมคโคร สามเสน ข้ามไปยังท่าทราย จรัญฯ 84 นอกจากนี้ยังปรับปรุงทางเดินเท้าและทางจักรยานระหว่างสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปลอดภัย โดยปรับปรุงสะพานที่มีอยู่เดิม ได้แก่ สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า, สะพานพระราม 8, สะพานกรุงธน, สะพานพระราม 7, ใต้สะพานทางรถไฟสายสีน้ำเงิน, เลียบคลองบางซื่อ-คลองบางอ้อ

โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปรึกษาและสำรวจออกแบบ เผย 12 แผนงานและแบบเบื้องต้นของการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่ระยะนำร่อง 14 กม.จากสะพานพระราม 7 ถึงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เป็นการ พัฒนาโดยอนุรักษ์ สืบสานและสร้างสรรค์ ให้เป็นมรดกชาติในแนวทางมรดกโลก ฟื้นฟูสองฝั่งแม่น้ำให้เป็นพื้นที่รองรับอนาคตของกรุงเทพฯ เมืองริมฝั่งแม่น้ำ ที่งดงามด้วยนิเวศวัฒนธรรม นิเวศธรรมชาติ แรงบันดาลใจและพลังสร้างสรรค์ที่ไม่หยุดนิ่ง