ไทยค้าCLMVยังไม่โงหัว AEC เปิดช่องจีนตีตลาด/จี้รัฐขนสินค้าบุกลาว-เมียนมาเพิ่ม

25 ก.ค. 2559 | 09:00 น.
กระทรวงพาณิชย์-ศุลกากรสะท้อนไทยค้ากลุ่มประเทศ CLMV 5 เดือนแรกปี 2559 มกราคม-พฤษภาคม มูลค่า 8,708 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ3.13% เทียบช่วงเดียวกันปี 2558 คาดน่าจะติดลบต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี เอกชนชายแดนประสานเสียงเออีซีเปิดช่องทะลายกำแพงการค้าส่งคู่แข่งจีน-มาเลย์-สิงคโปร์ตีตลาด-ทุนข้ามชาติขยายฐานไปเพื่อนบ้าน-ราคานํ้ามันโลกดิ่งฉุดสินค้าเกี่ยวเนื่องร่วง

[caption id="attachment_74566" align="aligncenter" width="700"] สินค้าส่งออกของไทยไปตลาด CLMV สินค้าส่งออกของไทยไปตลาด CLMV[/caption]

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์โดยความร่วมมือของกรมศุลกากรระบุว่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังกลุ่มประเทศCLMVซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม ช่วง5เดือนแรกของปี 2559 (มกราคม-พฤษภาคม) มีมูลค่า 8,708 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 3.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ทั้งนี้ตัวแปรหลักเกิดจากราคาน้ำตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ มูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลัก ของไทยไปยังกลุ่มCLMV ปรับลดลง และยังกระทบถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันอาทิเคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก มีมูลค่าลดลงตามไปด้วย ขณะเดียวกันยังมีตัวแปรอื่นที่อาจส่งผลกระทบให้การส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวไม่สดใสเท่าที่ควรในอนาคต

ต่อเรื่องนี้ นายบุญธรรม ทิพย์ประสงค์ ที่ปรึกษา หอการค้าจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในพื้นที่อำเภอแม่สาย เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า เกิดจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในกลุ่มCLMVไม่ได้เท่าทีควร ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดเกิดการหดตัว กำลังซื้อหายไปเนื่องจากเศรษฐกิจขาลง ซึ่งเป็นไปตามดีมานด์-ซัพพลาย นอกจากนี้ช่วงที่เกิดวิกฤติค่าแรงในประเทศไทย ช่วงนั้นกลุ่มทุนต่างชาติรายใหญ่ ที่ประกอบการอยู่ในประเทศไทย ได้ย้ายฐานผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากพอสมควร รวมทั้งมีการขยายการลงทุนไปในประเทศต่างๆ ที่ค่าแรงถูกกกว่าค่าแรงในประเทศไทย

ขณะที่การเจาะเข้าถึงกลุ่มตลาดได้ง่ายขึ้นก็มีส่วนสำคัญ ที่นายบุญธรรมย้ำว่า เป็นเพราะกรอบข้อตกลงเรื่องของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ได้ทำลายกำพงภาษีและอุปสรรคทางการค้าลง ประเทศที่อยู่นอกกลุ่ม CLMV ก็ต้องการที่จะเข้ามีส่วนแบ่งในตลาดการค้ากลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งในอดีตการส่งสินค้าอาจจะต้องส่งผ่านประเทศไทย แต่ปัจจุบันสามารถส่งสินค้าได้โดยตรงตามกรอบ AEC ตัวเลขการค้าที่หายไปจากสาเหตุนี้ มองว่ามากพอสมควรโดยเฉพาะการรุกคืบในตลาดอาเซียนของสินค้าจากประเทศจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจใหม่จากเอเชียในตลาดโลก จะเห็นสินค้าจากประเทศจีนวางจำหน่ายอยู่ในตลาด จึงเป็นทางเลือกของผู้บริโภค และกลายเป็นคู่แข่งของสินค้าไทยที่เคยครองเจ้าตลาด นายบุญธรรม กล่าวและว่า ตลาดในประเทศ สปป.ลาว และเมียนมา ซึ่งสินค้าไทยมีความได้เปรียบสินค้าจากประเทศอื่น ด้วยมีความผูกพันและคุ้นเคยกับผู้บริโภค ภาครัฐจะต้องหาทางช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทย ให้สามารถส่งสินค้าไทยออกไปวางจำหน่ายในตลาดของ 2 ประเทศนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อไม่ให้สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน

สอดคล้องกับนางสุดาพร ยอดพินิจ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า หากพูดถึงผลกระทบต่อการค้าขายตามแนวชายแดนแน่นอนว่าแนวโน้มดีขึ้นในปี 2559ที่น่าจะมีการขยายตัวสูงกว่าเท่าตัวในทุกกลุ่มสินค้าทั้งอุปโภค-บริโภค รวมถึงสินค้าหมวดวัสดุก่อสร้าง และน้ำมันเหตุปัจจัยจากการเปิดเข้าสู่เข้าสู่ประชาคมอาเซียนทำให้การเดินทางเข้า-ออกที่ทำได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการส่งออก-นำเข้าที่มีการลดกำแพงภาษีและเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้เอื้อต่อการขยายตัวสูง

แต่ขณะเดียวกันการเปิดอาเซียนมีสิ่งที่ทางผู้ประกอบการค้าชายแดนมีความเป็นห่วงมากในขณะนี้ซึ่งอาจจะเกี่ยวเนื่องกับบรรยากาศการค้าชายแดนที่อาจจะเริ่มเห็นตัวเลขที่อาจจะลดลงคือการเข้ามาเบียดแย่งตลาดการค้าของประเทศเพื่อนบ้าน กลุ่มเออีซีด้วยกันเอง เพราะเออีซีทำให้เป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าจากประเทศคู่แข่งโดยเฉพาะจากจีน,มาเลเซีย และสิงคโปร์เข้าไปเบียดแย่งตลาดของไทย โดยเฉพาะในตลาดเมียนมาปัจจุบันที่พบว่าสัดส่วนของตัวเลขการค้าสินค้าของไทยครองตลาดได้เพียง 30% เท่านั้น สำหรับของไทยเราที่สามารถครองส่วนแบ่งอยู่ได้เป็นเพราะความสัมพันธ์ของผู้ค้าชายแดนที่ค้าขายกันมานานเป็นสำคัญ ดังนั้นที่สำคัญที่สุดคือประเทศไทยจะต้องปรับทัศนคติใหม่ว่าทุกประเทศจะต้องพึ่งพาไทยนั้นไม่เป็นความจริงอีกต่อไปแล้ว ซึ่งรัฐบาลไทย รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยควรจะเร่งหาช่องทางการขยายตลาดการค้า รวมถึงการลงทุนในพม่าให้มากขึ้น ในลักษณะรัฐบาลนำ เอกชนตาม ไม่ใช่เอกชนนำและรัฐบาลตามเช่นปัจจุบัน รัฐบาลควรที่จะกรุยทางน่าจะดีกว่า แต่ที่ผ่านมารัฐบาลดำเนินการในจุดดังกล่าวน้อยมาก อีกทั้งขั้นตอนระเบียบการค้าของไทยเองก็ยังเป็นอีกปัญหาที่ต้องเร่งปรับปรุงแก้ไข กฎระเบียบที่ยุ่งยาก ซับซ้อนก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้การค้าส่งออกของไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้านไม่คล่องตัวอย่างที่ควรจะเป็น

สำหรับสินค้าสำคัญจากไทยที่ยังมีบทบาทสำคัญหลังเปิดอาเซียน ที่ส่งออกไปยังประเทศเมียนมาประกอบด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง , เครื่องดื่ม,ครีมเทียม,ผลิตภัณฑ์จากเหล็ก,หมากแห้ง,อวน,เชือก,ด้าย,ปูนซีเมนต์,ยางรถ,เหล็ก,ยา,น้ำมันพืช,เครื่องจักรและอุปกรณ์,รองเท้า,ผลิตภัณฑ์จากพลาสติก,น้ำตาลทราย,ผงชูรส,ขนม,ผลิตภัณฑ์แก้ว,ผลิตภัณฑ์เคมี,เหล้า,ไวน์,เบียร์,รถจักรยานยนต์,สีและผลิตภัณฑ์สี,ผ้า,ผลิตภัณฑ์จากกระดาษ,อาหารกระป๋อง,นมสด,นมข้น,สารปรุงแต่งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียม โดยเฉพาะกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่คาดว่าจะขยายตัวสูงที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,177 วันที่ 24 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559