บทบาทใหม่ของ ‘กูรูน้ำ’ 5 ภารกิจเร่งด่วนที่ การประปาภูมิภาค

25 ก.ค. 2559 | 04:00 น.
กว่า 1 เดือนเต็มที่ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอชื่อ ดร.เสรีศุภราทิตย์ นั่งผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) คนใหม่ (7มิ.ย.59) อาสาเข้ามารับการสรรหาเป็นผู้ว่าการกปภ. มีความตั้งใจที่จะนำพาองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านนํ้าที่มีอยู่ มาแก้ไขปัญหาให้กับประเทศและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้บริโภคนํ้าที่สะอาดและทั่วถึงมากขึ้น ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ”ถึงภารกิจเร่งด่วน และข้อเสนอแนะถึงรัฐบาลในการแก้ปัญหาเรื่องนํ้า

5ภารกิจเร่งด่วน

ดร.เสรีตั้งเป้าภารกิจเร่งด่วนตามแผนที่จะต้องทำมีทั้งหมด 5 ภารกิจ เริ่มจากภารกิจแรกคือจะต้องมาวางแผนก่อนว่า เราจะเจอกับสิ่งท้าทายอะไรบ้างในอนาคต โดยคาดการณ์ไปในระยะใกล้และระยะไกล ที่ประเทศไทยหนีไม่พ้นเหตุการณ์น้ำแล้ง น้ำท่วม และมองว่าวงจรแบบนี้จะมีความถี่มากยิ่งขึ้น จากที่ในอดีตเราคิดว่า จะเผชิญกับเหตุการณ์แบบนี้ ทุก 10 ปี หรือ 20 ปี จากนี้ต่อไปไม่ใช่อีกแล้ว เพราะเราจะเจอความเสี่ยงทุกๆ 5 ปี ฉะนั้นถ้าไม่เตรียมรับมือ ไม่เตรียมพร้อมกับเหตุการณ์เหล่านี้ก็จะมีปัญหาตามมา เพราะในแต่ละเรื่องจะต้องใช้เวลา ใช้เงินลงทุน ยิ่งจากนี้ต่อไปกฎหมายน้ำ(ร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำพ.ศ.....) จะเกิดขึ้น ความร่วมมือจากภาคประชาชน จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยจะเห็นว่ามี 3 เรื่องหลักที่สำคัญคือ เม็ดเงินลงทุน เวลา และความร่วมมือจากภาคประชาชน ที่จะทำให้ภารกิจต่างๆ และแนวปฏิบัติจะต้องได้รับการยอมรับ เหล่านี้เป็นประเด็นที่เราต้องเตรียมให้พร้อมก่อน

“จะเห็นว่าเมื่อปลายปี2554 เราเจอน้ำท่วมใหญ่ พอมา3ปีที่แล้ว เราเจอปัญหาภัยแล้ง ที่น้ำอุปโภคบริโภคทุกภาคส่วนในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)มีปัญหาในหมู่บ้านไม่มีน้ำดื่ม มีการแย่งน้ำกันระหว่างภาคเกษตร อุตสาหกรรมและอุปโภคบริโภค ดังนั้นในอนาคตกฎหมายน้ำออกมาจะต้องมีนโยบายเรื่องน้ำที่ชัดเจนขึ้น”

ปัจจุบันจะเห็นว่ากปภ.มีการจ่ายน้ำประปาให้ประชาชนทั่วประเทศสัดส่วน 17% ซึ่งตรงนี้คนยังเข้าใจผิดคิดว่ากปภ.จ่ายน้ำได้ทั่วประเทศ เพราะจริงๆแล้วสัดส่วนมากถึง 60% นั้น อยู่ในพื้นที่ของอปท. ซึ่งกปภ.เข้าไปไม่ได้ ยกเว้นว่า ทางท้องถิ่นคุยกันรู้เรื่อง ประชาชนเข้าใจ แล้วลงมติว่าขอให้กปภ.เข้าไปช่วย ซึ่งกปภ.เองอยากเข้าพื้นที่อยู่แล้ว เพราะเห็นประชาชนเดือดร้อน ซึ่งขณะนี้การประปาทำได้เพียงปีละ1% หรือปีละประมาณ 2.5 แสนหมื่นรายผู้ใช้น้ำ เหล่านี้คือสิ่งที่กปภ.ทำได้ในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีข้อจำกัดทางกฎหมายและรายได้ของกปภ.เองด้วย อีกทั้งเงินที่รัฐบาลให้ทุกปีก็มีงบสนับสนุนน้อยลง สิ่งเหล่านี้ถือเป็นข้อจำกัด

จับมือท้องถิ่นพัฒนาแหล่งน้ำ

ภารกิจที่ 2 พอเรามาเจอปัญหาภัยแล้งทำให้กปภ.ได้รับบทเรียนที่สำคัญ เดิมเราดูเฉพาะเรื่อง เช่นไม่มีน้ำใช้ เราก็วางท่อขยายไป แต่เราลืมดูตัวเราเองว่าต้นทางคือเรื่องน้ำเราไม่มี น้ำเราไม่มีแต่เราขยายท่อไปแล้วกลายเป็นว่าเอาแต่ลมไปให้ประชาชน เปิดก๊อกน้ำแล้วไม่มีน้ำ ปัญหาก็คือว่าเราต้องกลับมามองตัวเองก่อนว่า ถ้าเราไม่มีน้ำแล้วเราจะขยายเขต ขยายท่อไปทำไม ฉะนั้นเราจะต้องเข้ามาดูเรื่องการบริหารแหล่งน้ำด้วย หาแหล่งน้ำของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เราจะต้องทำ ถ้ากปภ.ใช้เม็ดเงินไปซื้อแหล่งน้ำก็ต้องใช้เงินมาก แต่กปภ.สามารถไปร่วมกับท้องถิ่นหรือกับภาคส่วนใดๆก็ตามในพื้นที่ที่ท้องถิ่นนั้นพร้อม โดยกปภ.จะเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่นั้นๆที่มีแหล่งน้ำอยู่แล้ว โดยเข้าไปเชื่อมกับองค์การบริหารส่วนตำบล ( อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)เข้าไปพัฒนาแหล่งน้ำให้ท้องถิ่น โดยกปภ.เข้าไปลงทุนในเรื่องการต่อท่อ การสูบนํ้าโดยที่ไม่ต้องไปหาแหล่งนํ้าเอง

 เน้นประชาชนมีน้ำสะอาดใช้

ภารกิจที่ 3 กปภ.อยากจะเน้นยํ้าว่า เราไม่ได้มองแค่ว่าเข้าไปพัฒนาแหล่งนํ้าในพื้นที่แล้วหวังกำไร แต่จะดูเรื่องการทำให้ประชาชนมีนํ้ากิน มีนํ้าใช้ที่สะอาดตอนนี้มีหลายท้องถิ่นที่ประสงค์จะร่วมมือกับกปภ. โดยทำหนังสือมาถึง และผ่านสภาอบต.ว่าอยากให้กปภ.เข้าไปดำเนินการพัฒนาแหล่งนํ้า

“ ยกตัวอย่างที่เทศบาลจังหวัดนครศรีธรรมราช จะบอกมาเลยว่าบริเวณรอบนอกพื้นที่จ่ายน้ำไม่ไหว ไม่ทั่วถึง ก็ให้กปภ.ทำ จากนี้ไปเราก็ต้องลงไปดูว่ามีพื้นที่ตรงไหนบ้างที่ยังจ่ายน้ำไม่ได้ ประชาชนเดือดร้อนเราก็ต้องเข้าไป ”

อีกตัวอย่างคือเรื่องของโรงพยาบาลโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับผลกระทบขาดน้ำจากปัญหาภัยแล้งซึ่งสร้างความเดือดร้อนขั้นวิกฤตต่อชีวิตของผู้ป่วย กปภ.จึง ประสานกับโรงพยาบาลดังกล่าว และกระทรวงสาธารณสุขเขต 11 โดย กปภ.สาขานครศรีธรรมราช เร่งรัดการวางท่อประปาไปยังโรงพยาบาลดังกล่าวให้แล้วเสร็จพร้อมจ่ายน้ำประปาเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนให้แก่โรงพยาบาลฯ ไปแล้วภายในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ส่วนภารกิจที่4 รัฐบาลบอกว่าจะเดินไปยังยุทธศาสตร์น้ำ 20 ปีข้างหน้า โดยมองว่าจากนี้ต่อไปประเทศจะต้องหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำ ความยากจน โดยจะก้าวไปสู่ประเทศลำดับที่ 1 คือพึ่งพาตนเองได้

สุดท้ายภารกิจที่ 5 พนักงานกปภ.9,000 คน ในอนาคตถ้าไม่มาสามารถเพิ่มคนได้อีก ก็ต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามา เราต้องเดินด้วยนวัตกรรมเพื่อเข้าสู่คำว่าไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งในเรื่องน้ำจะใช้คำว่า“สมาร์ท วอเตอร์ ดีเวลอปเมนต์”ใช้เทคโนโลยีได้ ใช้คนน้อยลง ประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งต่อไปเทคโนโลยีด้านเซ็นเซอร์จะไปไกลมาก ซึ่งทั้งภารกิจทั้ง 5 นี้ เราต้องการทำให้ประชาชนมีนํ้าใช้อย่างทั่วถึงมากขึ้น

-เรื่องน้ำยังบริหารกันเป็นอาณาจักร

ดร.เสรี มองว่าอนาคตความเสี่ยงเรื่องนํ้ามีเกิดขึ้นแน่นอน เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ซึ่งมันพิสูจน์ได้ ในคณะกรรมการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้สหประชาชาติก็ระบุชัดว่ากรุงเทพฯและปริมณฑลมีความเสี่ยงที่จะเผชิญเหตุการณ์นํ้าท่วมใหญ่จากระดับนํ้าทะเลที่สูงขึ้นจากฝนตกหนักเหล่านี้เป็นประเด็นที่มีความเสี่ยง ส่วนการแก้ปัญหายังไม่คืบเพราะต้องยอมรับว่าประเทศไทยเราบริหารงานกันเป็นอาณาจักรมี 32 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้และมีการใช้งบประมาณสิ้นเปลือง ต่อไปพอกฎหมายนํ้าออกมา (กฎหมายเดิมที่มีอยู่กำลังแก้ไข 3 ชุดจะรวมเป็นชุดใหญ่) จะต้องแบ่งบทบาทให้ชัดเจนว่าในยามปกติใครจะดูแล พอเกิดวิกฤตินํ้าใครจะดูแล

ข้อเสนอแนะต่อรัฐ

ผู้ว่าการกปภ. อธิบายว่าพยายามเน้นยํ้ากับรัฐบาลหลายครั้ง โดยทางกระทรวงมหาดไทยก็รับทราบว่าใน 100% หรือราวกว่า 3 แสนล้านลบม.ของปริมาณนํ้าที่มีอยู่ นํ้าอุปโภคบริโภคของกปภ.และการประปานครหลวง(กปน.)รวมกันเราใช้นํ้าเพียง 3% เท่านั้นเอง แต่สัดส่วน 80% เราใช้เพื่อภาคการเกษตร ฉะนั้นจากบทเรียนที่ผ่านมา เวลาเกิดภัยแล้งเราใช้นํ้าเพียง3% หรือประมาณ 4,000 ล้านลบ.ม. แต่ประชาชนยังขาดนํ้า ก็เป็นประเด็นให้รัฐบาลไปคิดว่าจากนี้ต่อไปจะบริหารจัดการแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว แบบเดิมคือพื้นที่เพาะปลูก พื้นที่เกษตรกรรมมีเท่าไหร่ก็ทำไปส่วนผลผลิตที่ออกมาก็มีราคาตกตํ่า ส่งออกก็ไม่ได้ ทั้งที่เป็นกลุ่มที่ใช้นํ้ามากถึง80% รัฐบาลก็ต้องกลับมาดูว่าพื้นที่ที่เหมาะสมในการทำเกษตรกรรมควรจะเป็นอะไรมีเท่าไหร่ และที่ไหน มันจะควบคุมราคาและการตลาดได้ จะช่วยประหยัดนํ้าได้ด้วยเราต้องกลับมาดูตรงนี้ให้ชัดเจน โดยดูเรื่องความมีประสิทธิผลของการใช้นํ้าเป็นหลัก สุดท้ายน่าจะออกมาในรูปของร่างพ.ร.บ.ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. ...

สุดท้ายสิ่งที่ผู้ว่าการกปภ.อยากยํ้าคือ กปภ.เป็นองค์กรที่มี “คน” ที่มีคุณภาพ ในเมื่อคนมีศักยภาพ ผมในฐานะผู้จัดการทีมก็ต้องคัดเลือกคนที่มีประสิทธิภาพมีคุณภาพเข้ามาเล่น จะต้องสร้างโค้ชที่ดี สร้างหัวหน้างานที่ดีเพื่อไปคัดเลือกคนที่มีคุณภาพออกมา โดยเปิดเวทีให้พนักงานกล้าออกมาแสดงความสามารถ เพราะเราทำงานกันเป็นทีม ก็ต้องมาส่งเสริมให้ทำงานได้ มาดูแลสวัสดิการเพื่อจะได้ทำงานอย่างมีความสุข เพื่อรองรับบทบาทกปภ.ในอนาคต เพราะงานเรื่อง “นํ้า” จะมีความท้าทายมากขึ้น ต่อไปเมื่อเราทำเรื่องนํ้าในประเทศได้แข็งแกร่งแล้ว ก็ต้องขยายออกไปเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน กับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,176 วันที่ 21 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559