ภาครัฐสิงคโปร์ขาดแคลนวิศวกร

25 ก.ค. 2559 | 07:00 น.
หน่วยงานรัฐบาลสิงคโปร์กำลังเผชิญกับ ปัญหาวิศวกรขาดแคลนอย่างหนัก เนื่องจากวิศวกรรุ่นใหม่ไม่นิยมทำงานรัฐ อ้างงานหนัก เงินเดือนขึ้นช้า หนีไปทำงานทางด้านการเงินและบริหารองค์กรธุรกิจ หรืองานที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย

[caption id="attachment_74538" align="aligncenter" width="403"] นายกรัฐมนตรีนายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีนายลี เซียนลุง[/caption]

หนังสือพิมพ์สเตรตส์ไทม์ส รายงานว่านายกรัฐมนตรีนายลี เซียนลุง แสดงปาฐกถาในงานฉลองครบรอบ 50 ปีสถาบันวิศวกรสิงคโปร์เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า “ปัญหาการขาดแคลนวิศวกรในภาครัฐของสิงคโปร์เป็นเรื่องสำคัญของชาติในขณะนี้”


ศ.ฉั่ว คีเชียง (Chua Kee Chiang) คณบดีคณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ให้สัมภาษณ์สื่อว่า การมีวิศวกรทำงานในหน่วยงานรัฐอย่างเพียงพอเป็นเรื่องสำคัญ “เราต้องมีวิศวกรทำงานในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างเช่นระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ระบบสายส่งไฟฟ้า เพื่อให้ระบบพร้อมทำงานสูงสุด และเมื่อเกิดปัญหาสัญญาณสื่อสารดับหรือระบบขนส่งมวลชนเสีย เราจะต้องมีวิศวกรอยู่เพื่อค้นหาต้นเหตุของปัญหาและแก้ไข”

สเตรตส์ไทม์ส ระบุว่าหน่วยงานภาครัฐจะต้องจ้างวิศวกรเพิ่มอย่างน้อย 1,000 คนภายในปีนี้เพื่อทำงานทางด้านระบบการจราจรและน้ำ แต่ไม่ค่อยมีวิศวกรมาสมัครทำงาน โดยอ.ฉั่วกล่าวว่า “เงินเดือนเริ่มต้นของวิศวกรในภาครัฐค่อนข้างสูงแต่ เงินเดือนขึ้นช้าทำให้วิศวกรรุ่นใหม่เปลี่ยนไป ทำงานในภาคธนาคารและการเงินมากกว่า”

นายเอ็ดวิน เคียว (Edwin Khew) ประธานสถาบันวิศวกรสิงคโปร์กล่าวว่า “วิศวกรมีทักษะหลากหลายเนื่องจากถูกฝึกให้มีความสามารถในการแก้ปัญหา ทำให้เป็นที่ต้องการในหลายภาคงานรวมทั้งธุรกิจเอกชนและการเงิน มีวิศวกรจำนวนไม่น้อยทีเดียว ทำงานทางด้านวิศวกรรมระยะหนึ่งก่อนหันไปทำงานแบงก์ซึ่งได้เงินเดือนสูงกว่า 30 % เป็นอย่างน้อย บางรายเบื่องานเก่าเนื่องไม่มีการโยกย้ายเพื่อตำแหน่งที่ดีขึ้น”

อ.ฉั่วให้สัมภาษณ์ สเตรตส์ไทม์ส ว่านักศึกษาในคณะวิศวกรรมบางคนตั้งเป้าชีวิตทำงานเพื่ออุดมการณ์พัฒนาสังคม “เราสอนให้นักศึกษาทำดีเพื่อสังคม ทำให้ เด็กบางคนสนใจไปทำงานที่มีประโยชน์ต่อประเทศด้อยพัฒนาอาทิ การทำงานหาเทคโนโลยีทำน้ำสะอาดหรือการป้องโรค”

ดร.โกะ ปัก เคง (Koh Pak Keng) หัวหน้าภาควิชาระบบการบินและอวกาศให้สัมภาษณ์สเตรตส์ไทม์ส ว่า วิศวกรบางคน อาจไม่อยากทำงานทางด้านวิศวกรรมเนื่องจากเป็นงานหนักและเลอะเทอะ จากที่ต้องคลุกคลีกับเครื่องจักรตลอดเวลา อาทิงานเกี่ยวกับเครื่องยนต์กังหันก๊าซ ที่ต้องใช้เวลาเป็น 10 ปีกว่าจะมีความชำนาญ

นายตัน เป็ง ฮู (Tan Pend Hoe) ซึ่งจบวิศวกรโยธาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางเมื่อ 7 ปีก่อนให้สัมภาษณ์ สเตรตส์ไทม์ส ว่าเริ่มทำงานที่บริษัท เอ็กซอนโมบิลฯ ทำหน้าที่ตรวจและซ่อมเตาเผาในโรงกลั่นน้ำมันซึ่งต้องทำงานในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสตลอดเวลา “ต้องทำกับเครื่องจักรอยู่หลายปีจึงจะมีประสบการณ์เลื่อนขั้น ขึ้นไปทำงานที่ปรึกษาที่สบายกว่าได้”

สเตรตส์ไทม์ส สัมภาษณ์วิศวกรหลายคนที่ไม่ได้ทำงานทางด้านวิศวกรรม พบว่ามีนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ต้องการเรียนวิศวะแต่เป็นความต้องการของผู้ปกครอง สุดท้ายเมื่อเรียนจบแล้วมักจะค่อย ๆ หันไปหางานที่ตัวเองชอบตั้งแต่แรก ซึ่งมีไม่น้อยที่ชอบงานดนตรีและสร้างสรรค์

ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้หลายฝ่ายเสนอให้รัฐบาลสิงคโปร์ ปรับปรุงระบบการจ้างงานวิศวกร ทั้งในเรื่องของโครงสร้างเงินเดือนและโอกาสในการปรับเปลี่ยนเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งในเส้นทางชีวิตการทำงาน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,176 วันที่ 21 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559