‘กยศ.’ดัดหลังบัณฑิตกู้แล้วหนีหนี้ ลุ้นร่างพ.ร.บ.ผ่านกฤษฎีกาส.ค.นี้

25 ก.ค. 2559 | 00:00 น.
หนุนออกกฎหมายใหม่ปลดล็อกการเข้าถึงข้อมูลลูกหนี้กยศ. ให้นายจ้างเอกชนและรัฐวิสาหกิจมีหน้าที่หักเงินเดือน พร้อมนำส่งภาษีให้กรมสรรพากรโอนให้กองทุนหวังแก้ปัญหาหนี้ค้างจ่าย ลุ้นยกร่างพ.ร.บ.ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาส.ค.นี้ คาดบังคับใช้ปี 60

ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กองทุนกรอ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการยกร่างพระราชบัญญัติใหม่ของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาว่า ที่ผ่านมากองทุนมีความพยายามที่จะปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานและการติดตามหนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดทางกฎหมายบางประการจึงไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์เท่าที่ควรได้ ทำให้กองทุนต้องพึ่งพาเงินงบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาลในแต่ละปีเป็นจำนวนมากในการจัดสรรให้กู้ยืม เป็นผลให้กองทุนต้องยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ใหม่เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้กู้ยืม และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้งด้านการให้กู้ยืมและติดตามหนี้

ทั้งนี้ จากการที่พ.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้การสนับสนุนในการผลักดันกองทุนให้มีกฎหมายใหม่ โดยได้มอบแนวนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหากองทุนทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพ ให้มีการกู้และการนำส่งคืนเงินอย่างรัดกุมเหมาะสม รวมทั้งไม่ให้เกิดปัญหาซับซ้อนในการกู้ยืม และให้บรรจุกฎหมายใหม่ของกองทุนเป็นกฎหมายเร่งด่วนตามบัญชีร่างกฎหมายเร่งด่วนชุดที่ 2

ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการ(เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559)โดยกฎหมายใหม่ได้กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่หักเงินเดือนและค่าจางนำส่งกรมสรรพากร พร้อมกับนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพื่อชำระคืนกองทุน และเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้กองทุนสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้กู้ยืม เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้กู้ยืมที่จะไม่ต้องเสียเบี้ยปรับกรณีค้างชำระหรือต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดี กรณีที่ค้างชำระเป็นเวลานาน ร่างกฎหมายดังกล่าวขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2560

ต่อประเด็นดังกล่าวนายปรเมศวร์สังข์เอี่ยม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหนี้กยศ. อธิบายเพิ่มเติมกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การยกร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่สรุปชื่อเป็นทางการ คาดว่าจะผ่านกระบวนการพิจารณารายละเอียดของคณะกรรมการกฤษฎีกาประมาณเดือนสิงหาคม ซึ่งหากการยกร่างกฎหมายใหม่ผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับใช้ในป 2560 นั้น จะมีผลในทางปฏิบัติ 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.กระ บวนการให้กู้ยืมในวันข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 4 ประเภทจากปัจจุบันอยู่ที่ 2 ประเภทคือ กยศ.ปล่อยกู้สำหรับนักเรียน/นักศึกษาผู้มีรายได้น้อยหรือขาดแคลนทุนทรัพย์กรอ.เป็นเงินกู้ยืมเพื่อส่งเสริมในสาขาวิชาการที่ตลาดแรงงานต้องการ โดยไม่เน้นว่าต้องเป็นนักศึกษาขาดแคลนหรือยากจนก็ตาม ซึ่งส่วนที่เพิ่มขึ้นคือ ทุนเรียนดี และสาขาที่ขาดแคลนและจำเป็นต้องให้การส่งเสริม เช่น การพัฒนาประเทศหรือสาขาที่ไม่มีคนสมัครเรียน 2. กยศ.สามารถเข้าถึงข้อมูลลูกหนี้โดยไม่ว่าข้อมูลจะอยู่หน่วยงานใด ซึ่งเป็นการปลดล็อกข้อห้ามทางกฎหมายเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการหักเงินเดือนโดยกฎหมายบังคับนายจ้างเอกชน รัฐวิสาหกิจมีหน้าที่หักเงินเดือนพร้อมส่งภาษีให้กรมสรรพากรโดยกรมสรรพากรจะโอนหนี้ให้กยศ.ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ค้างในอนาคต

ต่อข้อถามถึงคุณภาพลูกหนี้นั้น ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารหนี้กล่าวว่า ภาพรวมวงเงินกู้ยืมเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 4.6ล้านราย วงเงินประมาณ 4.5 แสนล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีหนี้ที่ครบกำหนดชำระ 3 ล้านราย ปิดบัญชีแล้ว 4 แสนราย วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คงเหลือกว่า2 ล้านราย และมีเงินต้นตามสัญญาประมาณ1 แสนล้านบาท ทั้งนี้มีนักเรียน นักศึกษาที่อยู่ระหว่างศึกษา ประมาณ 1 ล้านรายคิดเป็นวงเงินกู้ประมาณ 1 แสนล้านบาท(ยังไม่ครบกำหนดชำระหนี้เงินกู้)

นอกจากนี้ คงมีวงเงินค้างชำระอยู่ จำนวน 5.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น50% ของยอดเงินกู้ที่ครบกำหนดชำระ 1แสนล้านบาท ซึ่งเงินกู้ค้างชำระ 50%ที่ครบกำหนดแต่ยังไม่จ่ายแบ่งเป็น 1. กลุ่มทั่วไปมียอดหนี้ค้างชำระ 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ค้างชำระน้อยเพียง22% จากยอดหนี้ที่ครบกำหนด จากจำนวน 2ล้านราย 2. กลุ่มไกล่เกลี่ยจำนวน1 แสนรายยอดหนี้ค้างชำระ 7,000 ล้านบาท โดยกลุ่มนี้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วไม่สามารถชำระหรือค้างชำระ78% เตรียมดำเนินคดีในระยะถัดไป และกลุ่ม 3. เป็นลูกหนี้ถูกดำเนินคดีแล้วกว่า6 แสนราย มีหนี้ค้างชำระ 3.6 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วน 90% โดยกลุ่มนี้ต้องดำเนินการบังคับคดี ตามรุ่นปีที่ฟ้องร้อง เช่น ปี 2559 จะบังคับคดีกับลูกหนี้ที่กยศ.ฟ้องในปี 2550 และในปี2560 กยศ.จะบังคับคดีลูกหนี้ที่ถูกฟ้องในปี 2551 ซึ่งในกระบวนการบังคับคดีนั้นเป็นหน้าที่กยศ.ต้องทยอยดำเนินการ เพราะหากไม่ดำเนินการเจ้าพนักงานจะมีความผิดทางกฎหมายเช่นกัน

“ทุกวันนี้ กยศ.เปิดทุกช่องทางให้ผู้กู้ชำระคืนหนี้ อยากให้ทุกคนตระหนักและรับผิดชอบต่อการนำเงินกู้คืนกองทุนเพื่อจะนำส่งต่อรุ่นต่อไปที่สำคัญเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วลูกหนี้ถ้ามีทรัพย์สินไม่ควรผ่องถ่ายโอนทรัพย์ให้ผู้อื่นพยายามทำไม่ให้มีทรัพย์ เพราะพฤติกรรมดังกล่าวมีความผิดทางอาญาและนิติกรรมที่ลูกหนี้ดำเนินการโอนไปนั้นสามารถขอคำสั่งศาลให้เพิกถอนได้ ซึ่งนอกจากมีความผิดหนีหนี้แล้วยังเข้าข่ายผิดทางอาญาด้วย”

ขณะเดียวกันกยศ.ได้เพิ่มช่องทางให้ลูกหนี้ทยอยคืนหนี้เงินกู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมเปิดโครงการกยศ.-กรอ.เพื่อชาติและโครงการปิดชำระภายในวันที่ 30 กันยายน 2559 รับส่วนลดเบี้ยปรับ 100% นอกจากนี้ที่ผ่านมากยศ.ได้ว่าจ้างบริษัทภายนอกให้ติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งผลดำเนินงาน 3 ครั้งสามารถทวงหนี้ได้ 5,500 ล้านบาทโดยจ่ายค่าติดตามทวงถามในอัตรา7% ซึ่งโดยรวมกยศ.จ่ายค่าติดตามทวงถามหนี้ประมาณ 200 ล้านบาทสามารถลดการดำเนินคดีลูกหนี้กว่า1 แสนราย ลดค่าใช้จ่ายในการฟ้องคดี 700 ล้านบาท และมีเงินกลับสู่ระบบด้วย อนึ่งสำหรับหนี้ที่ครบกำหนดเมื่อ (วันที่ 5 กรกฎาคม 2559) มียอดการชำระหนี้กยศ.เพิ่มขึ้นจากปีก่อน39% และกรอ.เพิ่มขึ้น 27%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,176 วันที่ 21 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559