หอมมะลิหลุดจำนำยุ้งฉางอื้อ! ธ.ก.ส.เตรียมเปิดประมูลกันยายน/อีกด้านทำข้าวถุงขาย

24 ก.ค. 2559 | 07:00 น.
ธ.ก.ส.เตรียมเปิดประมูลขายข้าวเปลือกหอมมะลิหลุดจำนำยุ้งฉาง2.8 แสนตันภายในกันยายนนี้ ก่อนรับข้าวฤดูรอบใหม่ ด้านชาวนาเผยบทเรียนปีที่แล้ว ราคาจูงใจแห่จำนำเพียบ ฟันส่วนต่างราคาตลาด 4 พันบาท/ตัน จงใจปล่อยหลุด ฝนมาเล็งป้องความเสี่ยง ทั้งแบ่งแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ป้อนกรมการข้าว ให้ราคาสูงถึงตันละ 2.3 หมื่นบาท แต่ถ้าตกมาตรฐานตัดขายให้เอกชนในโครงการประชารัฐรับซื้อชี้นำตลาดราคา 200บาทต่อตัน

[caption id="attachment_74115" align="aligncenter" width="700"] ผลการดำเนินงานโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/2559 ผลการดำเนินงานโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/2559[/caption]

แหล่งข่าวคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแนวทางการระบายข้าวเปลือกหอมมะลิในยุ้งฉางของเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรของรัฐบาลเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายกรณีเกิดผลขาดทุนจากการดำเนินโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ในปีการผลิต 2558/59 ที่ผ่านมา(เป้าหมายชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียว จำนวน 2 ล้านตัน) เพื่อช่วยลดปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรและปัญหาราคาข้าวนาปีตกต่ำ

โดยล่าสุดทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณืการเกษตร(ธ.ก.ส.)ได้เสนอแนวทางในการระบายข้าวหลุดจำนำยุ้งฉาง 3 แนวทาง ได้แก่ 1.นำข้าวเปลือกหอมมะลิในยุ้งฉางของเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรมาสีแปรสภาพเป็นข้าวสารจำหน่าย ประมาณ 1 แสนตันข้าวเปลือก มาสีแปรสภาพเป็นข้าวสาร บรรจุถุงขนาด 5 กิโลกรัม จำหน่ายถุงละ 170 บาท โดยให้ ธ.ก.ส.ทุกสาขาเป็นผู้จัดจำหน่าย ทยอยขายจนกว่าจะหมด 2.ขายให้แก่ผู้เสนอราคาซื้อไม่ต่ำกว่าวงเงินสินเชื่อต่อตัน และ 3.ประมูลขายให้แก่ผู้ซื้อทั่วไป โดยใช้ราคาตลาดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาขาย

แหล่งข่าว นบข. กล่าวถึงสถานการณ์ราคาข้าวหอมมะลิในปีนี้ตกต่ำมาก ถือเป็นเรื่องที่แปลก ทาง ธ.ก.ส.เคยเสนอขายให้กับโรงสีกับผู้ส่งออก ก็ไม่มีใครซื้อ ทั้งที่ปกติทุกปีราคาข้าวหอมมะลิราคาจะพุ่งในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม แต่ปีนี้สถานการณ์ตรงกับข้าม ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ทั้งที่ข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลเหลือประมาณ 9.5 ล้านตันข้าวสาร โดยในส่วนของข้าวสารหอมมะลิเกลี้ยงโกดังแล้ว
7
สอดคล้องกับนายทูลทองใจ ดวนใหญ่ ผู้จัดการ ธ.ก.ส.สาขาห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ข้าวเปลือกที่หลุดจำนำยุ้งฉางที่จะนำมาบรรจุถุงขาย จะคัดเฉพาะที่คุณภาพดี จากนั้นจึงนำมาสู่โรงสีเพื่อสีแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร และได้มีการจัดจ้างบริษัทผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว หรือเซเวเยอร์ให้เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบคุณภาพก่อนบรรจุถุงส่งมอบให้แก่ลูกค้าเป็นระยะๆ โดยคุณภาพจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด

สำหรับโครงการจำนำยุ้งฉางปี 2558-59 มีการรับข้าวในโครงการปริมาณ 5.4 แสนตัน มีเกษตรกร/สหกรณ์การเกษตรเข้าร่วม 7.43 หมื่นราย คิดเป็นเงิน 6.9 พันล้านบาท ปัจจุบันมีเกษตรกรมาไถ่ถอน และมีการรับชำระหนี้มา จำนวน 3.82 หมื่นราย มีปริมาณข้าว 2.61 แสนตัน (มี 1 แสนตัน นำไปผลิตเป็นข้าวบรรจุถุง) คิดเป็นเงิน 3.22 พันล้านบาท ปัจจุบันยังเหลือข้าวอยู่ในสต๊อกจำนวน 2.83 แสนตัน ซึ่งจะนำไปเปิดประมูลขายทั่วไปให้กับโรงสีและผู้ส่งออก(ดูตารางประกอบ)

ด้านนายทองพันธ์ วิเศษชาติ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและกรรมการวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ตำบลผักไหม จังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิหลังจากที่เก็บเกี่ยวแล้วประมาณต้นปี 2559 ก่อนเก็บเกี่ยวจะขับรถไปตระเวนถามราคาโรงสีก่อนว่าแต่ละแห่งจะให้ราคาเท่าไร แต่สอบถามไป 4-5 แห่ง ให้ราคาเพียง 8-9 พันบาทต่อตัน รับไม่ได้ บางคนขนข้าวเปลือกออกจากยุ้งฉางแล้วก็มีต้องไปเก็บไว้ เพราะเปรียบเทียบที่ ธ.ก.ส.ให้ราคาตันละ 1.3 หมื่นบาท ราคาต่างถึง 4 พันบาทก็ปล่อยให้หลุด

“ปีนี้ฝนก็เริ่มตกอย่างต่อเนื่อง ผมได้วางแผนการผลิต ส่วนหนึ่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิให้กับกรมการข้าว ทางกรมจะรับซื้อตันละ 2.1-2.3 หมื่นบาทแต่ถ้าไม่ถึงมาตรฐาน จะจำหน่ายในโครงการเกษตรรูปแบบแปลงใหญ่ ซึ่งผู้ประกอบการจะรับซื้อโดยให้ราคาสูงกว่าตลาดตันละ 200 บาท เป็นปีแรก ยังไม่ทราบรายละเอียด แต่ถ้าราคาไม่จูงใจและตกตํ่าอย่างปีที่แล้ว หากมีโครงการให้จำนำยุ้งฉางจะเข้าร่วมโครงการอีก ซึ่งโครงการต่างๆ ชาวนาจะต้องทราบข่าวจำเป็นต้องพึ่งหลายแนวทาง เพื่อลดความเสี่ยง จะมาพึ่งโครงการใดโครงการหนึ่งอย่างเดียวไม่ได้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,176 วันที่ 21 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559