รถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่... สู่คุณภาพชีวิตของชาวล้านนา

23 ก.ค. 2559 | 01:00 น.
กระทรวงคมนาคม ได้จัดทำแผนการดำเนินงานโครงการการลงทุนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ปี 2558 โดยมีเส้นทางรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ รวมอยู่ในแผนดำเนินการระยะที่ 2 (พ.ศ.2559-2563) ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 รับทราบแผนการดำเนินงานดังกล่าว เป็นผลให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2558 ให้ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ดังกล่าว

[caption id="attachment_74134" align="aligncenter" width="700"] แผนผังเส้นทางไรไฟ เด่นชัย เชียงใหม่ แผนผังเส้นทางไรไฟ เด่นชัย เชียงใหม่[/caption]

โครงการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบระบบรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ นอกจากเป็นแผนงานตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ปี 2558-2565 และแผนการดำเนินงานโครงการการลงทุนพัฒนาด้านคมนาคมขนส่ง ปี 2558 แล้วยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันซึ่งได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ไว้เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 ในนโยบายข้อที่ 6 การเพิ่มประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ข้อ 6.12 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและคมนาคม และนโยบายข้อที่ 7 การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน ที่มุ่งเน้นการต่อเชื่อมเส้นทางคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์จากฐานการผลิตในชุมชนสู่แหล่งแปรรูป และประตูการค้าหลักของประเทศ เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่พื้นที่ต่างๆ ในประเทศและรองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอีกด้วย

ในการดำเนินงาน สนข.ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียดระบบรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่โดยมีจุดมุ่งหมายว่าระบบรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งสินค้า การเดินทาง เพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศตามแหล่งสถานที่ที่สำคัญในเขตภาคเหนือ เพิ่มความจุทาง ลดระยะเวลา และประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคการขนส่งของประเทศ ลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสาธารณะทั้งพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศ และจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการทางรางมากยิ่งขึ้น ลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนน โดยให้ความสำคัญกับการขนส่งผู้โดยสารและบริการขนส่งสินค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายการขนส่งทางรถไฟ เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงระบบของประชาชน สนับสนุน การขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ การกระจายความเจริญจากเมืองสูงเมือง สอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลในการดำเนินการต่อไป

โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ มีพื้นที่ครอบคลุม 4 จังหวัด 10 อำเภอ 29 ตำบล คือ จังหวัดแพร่ ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ รูปแบบรถไฟทางคู่ขนาดทาง 1 เมตร พร้อมปรับปรุงจุดตัดทางรถไฟให้มีความปลอดภัยมากขึ้น

โดยเส้นทางที่ได้รับคัดเลือกมีระยะทางประมาณ 188 กิโลเมตร ช่วงเด่นชัย-ลำปาง ระยะทาง 104 กิโลเมตร โดยเป็นการสร้างทางใหม่เพิ่ม 1 ทาง พร้อมปรับรัศมีโค้งของทางรถไฟเดิม ช่วงลำปาง-เชียงใหม่ ระยะทาง 84 กิโลเมตร ใช้ความเร็วสูงสุดได้ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นการสร้างทางคู่ในแนวเขตทางเดิมบางส่วน และตัดแนวทางรถไฟใหม่บางส่วนให้มีแนวเส้นทางที่ตรงมากที่สุด เป็นทางระดับพื้น 108 กิโลเมตร ทางยกระดับ 39 กิโลเมตร สะพานบก 22 กิโลเมตร อุโมงค์ 19 กิโลเมตร มีจำนวน 18 สถานี

โดยปีแรก ที่เปิดให้บริการตามผลการศึกษาจะมีผู้ใช้บริการประมาณ 1.2 หมื่นคนต่อวัน ปีที่ 10 จะเพิ่มเป็น 1.8 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าจะมีพื้นที่โดนเวนคืนในเขตจังหวัดแพร่แบ่งเป็นพื้นที่ที่มีโฉนดประมาณ 23 แปลง พื้นที่รวมประมาณ 28 ไร่ ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) จำนวน 28 แปลง พื้นที่รวม 103 ไร่ จังหวัดลำปาง ที่ดินมีโฉนด 255 แปลง พื้นที่รวม 172 ไร่ พื้นที่ส.ป.ก. 38 แปลง พื้นที่รวม 57 ไร่ จังหวัดลำพูน ที่ดินมีโฉนด 193 แปลง พื้นที่รวม 179 ไร่ ที่ดินส.ป.ก. 62 แปลง พื้นที่รวม 64 ไร่ และจังหวัดเชียงใหม่ ที่ดินมีโฉนด 31 แปลง พื้นที่รวม 46 ไร่ ส่วนที่ดินส.ป.ก.ไม่มี

ทั้งนี้ตามผลการศึกษาโครงการดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณการขนส่งสินค้า ผู้โดยสารหรือนักท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศ จากชายแดนหรือสินค้าผ่านชายแดนได้มากขึ้น ส่งผลต่อรายได้ของประเทศโดยรวม สามารถประหยัดพลังงานมากกว่าการขนส่งทางรถยนต์ ทำให้ลดต้นทุนการขนส่งการลงทุนในระบบทางคู่เป็นการลงทุนขนาดใหญ่ก่อให้เกิดการจ้างงาน เกิดรายได้ของประชากร เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สามารถเชื่อมโยงการคมนาคมในอาเซียนเมื่อเครือข่ายรถไฟเสร็จสมบูรณ์ มีการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคต่างๆ ของประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของอาเซียน ซึ่งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ ที่เกิดจากการลดต้นทุนด้านการขนส่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,176 วันที่ 21 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559