ธุรกิจเชื่อมCLMVรับกำลังซื้อ แบงก์ชูเครือข่ายสาขาพร้อมสนองความต้องการลงทุน

23 ก.ค. 2559 | 10:00 น.
แบงก์ชี้โอกาสธุรกิจ ควรเร่งขยายกิจการเชื่อมโยงตลาด CLMVเหตุเศรษฐกิจเติบโตสูง 6-7% ค่ายกรุงศรีฯ ยํ้าเครือข่ายสาขาปึ้ก ด้านซีไอเอ็มบีไทยชี้ความต้องการเพิ่มขึ้นในมาเลเซีย-สิงคโปร์ หนุนลุยอาเซียนเน้นฐานลูกค้าเดิมทั้งระวังปล่อยสินเชื่อกลุ่มใหม่

[caption id="attachment_74162" align="aligncenter" width="361"] พรสนอง ตู้จินดา กรรมการบริหารประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) พรสนอง ตู้จินดา กรรมการบริหารประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายพรสนอง ตู้จินดา กรรมการบริหารประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (บมจ.) เปิดเผยว่า ปีนี้ธนาคารได้เริ่มกลับมาขยายสินเชื่อผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มากขึ้น หลังจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ธนาคารชะลอการเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอีลง โดยยังคงอัตราการเติบโตให้สอดคล้องกับภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวราว 3% ตามกำลังซื้อภายในประเทศ จากปัจจุบันธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างประมาณ 1.85-2 แสนล้านบาท ซึ่งแม้ว่าภาพรวม ธุรกิจที่ขยายตัวได้ดี จะเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม โรงพยาบาล สินค้าที่เกี่ยวข้องอิเล็กทรอนิกส์หรือดิจิตอล ส่วนกลุ่มที่ขยายตัวได้แต่จะต้องเลือกให้ดี เช่น อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

"ปีนี้เราจะกลับมาขยายธุรกิจเอสเอ็มอีมากขึ้น หากในปี 2560 เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น และกำลังซื้อในประเทศกลับมาเร็วขึ้นก็สามารถทำให้ธุรกิจวิ่งได้เร็วขึ้น แต่การวิ่งจะต้องดูคุณภาพของสินเชื่อด้วย โดยเราไม่ต้องการเบ่งแล้วค่อยมาแก้หนี้กันทีหลัง ซึ่งปัจจุบันมีเอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.4%คาดว่าสิ้นปีจะเริ่มนิ่งและทรงตัว"

ส่วนแนวโน้มการขยายธุรกิจของลูกค้าในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม)นั้น จะเห็นว่ารัฐบาลพยายามผลักดันโครงการความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ เพื่อดึงดูดการลงทุนระหว่างกันและภูมิภาคอื่นด้วย โดยธุรกิจขนาดใหญ่เข้าไปซื้อกิจการของกลุ่มประเทศเหล่านี้ค่อนข้างมาก เช่น ดีลการซื้อกิจการห้างสรรพสินค้า ธุรกิจรายย่อย และโรงแรม เป็นต้น ซึ่งดีลเหล่านี้เพื่อขยายฐานธุรกิจ เนื่องจากหากขับเคลื่อนการเติบโตภายในประเทศอย่างเดียวคงจะไม่พอ จึงต้องอาศัยการเติบโตจากประเทศกลุ่มนี้ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เฉลี่ยสูงถึง 6-7% เมื่อเทียบกับประเทศไทยมีการขยายตัวของจีดีพีเฉลี่ยเพียง 2-3%

สอดคล้องกับ นางสาวดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจ SME สาขากลาง กลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนรวมของกลุ่ม CLMV พบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศ CLMV มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 7% และจะขยายตัวระดับนี้ต่อเนื่อง ขณะที่อาเชียนโตเฉลี่ยเพียง 5% ส่วนไทยเติบโตเพียง 3% และหากพิจารณาด้านการบริโภค พบว่าที่อัตราการเติบโตสูงตามจำนวนประชากร เวียดนามมีประชากร 92 ล้านคน เมียนมา52 ล้านคน โดยรวมสปป.ลาวและกัมพูชาจะมีประชากรรวมเกือบ 170 ล้านคน หรือคิดเป็น 3 เท่าของประชากรไทย สะท้อนถึงโอกาสทางธุรกิจ เพราะหากดูรายได้ประชากรมีอัตราเติบโตเช่นกัน โดยเฉพาะสปป.ลาว มีการเติบโตด้านรายได้ถึง 70% ตามมาด้วยเวียดนาม 60% หรือมีรายได้ต่อหัวเฉลี่ย 1,200-1,500 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี โดยที่ไทยประมาณ 9,500 ดอลลาร์ต่อปี หรือ 3.2 แสนล้านบาทต่อปี

หากพิจารณาการส่งออกของไทย พบว่าปัจจุบันส่งออกไป CLMV อยู่ที่ประมาณ 5.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเติบโต 8% จากการส่งออกทั้งหมด ที่มีอัตราการขยายตัวติดลบอยู่ที่ 1.2-1.3% ดังนั้น CLMV เป็นโอกาสของนักธุรกิจ โดยการส่งออกของไทยไป CLMV ช่วงไตรมาสแรก เติบโตอยู่ที่ 5.7% และไทยมีการลงทุน 1.63 หมื่นล้านบาท เติบโตต่อเนื่อง หรือคิดเป็น 1 ใน 6 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด

ส่วนของบมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีการลงทุนเปิดสาขา หรือสำนักงานผู้แทน (Representative) และคืบหน้ามีข้อตกลงเข้าซื้อกิจการ HKL ซึ่งสะท้อนให้เห็นการเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกันธนาคารยังมีบริการทางการเงินอย่างครบวงจรเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าผ่าน 3 ผลิตภัณฑ์พื้นฐาน เช่น สินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance) หนังสือค้ำประกันนำเข้าและส่งออก (L/C) โดยวงเงินสินเชื่อที่จะให้กับภาคธุรกิจต้องแตกต่างจากสินเชื่อหมุนเวียนของแต่ละบริษัท นอกจากนี้ยังช่วยลูกค้าป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Hedging) หรือการทำธุรกิจค้าชายแดน ซึ่งที่ผ่านมามีปริมาณการซื้อขายด้วยเงินสกุลบาทและดอลลาร์ในสปป.ลาวมากขึ้น และในเร็วๆ นี้จะขยายไปเมียนมา และโพรดักต์สุดท้าย คือประกันภัย ที่คุ้มครองทางบก ทางน้ำ และอากาศผ่านพันธมิตรบริษัทประกันโตเกียวมารีน ครอบคลุมความเสี่ยงไปถึงเมียนมาด้วย เพราะเมียนมาเป็นประเทศใหม่ ที่บางประเทศไม่รับ แต่บริษัทนี้รับการทำประกัน

“การใช้บริการ ก็สามารถใช้เครือข่ายลุ่มแม่น้ำโขงได้ ทั้งผ่าน BTMU หรือสาขาธนาคารและธนาคารพันธมิตร โดยปัจจุบันเรามีสาขาใน สปป.ลาว 2 สาขาคือในเวียงจันทร์และสะหวันเขต ที่เมียนมามีสาขากรุงศรีฯในย่างกุ้ง และเวียดนามเรามีสาขาฮานอย และพันธมิตรเวียดทินแบงก์ ส่วนการบรรลุข้อตกลงซื้อกิจการ HKL เราทำธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ มีสาขากว่า 150 สาขาในกัมพูชา ซึ่งสามารถทำธุรกิจได้ทั้งหมด ทั้งฝาก โอน ขอสินเชื่อต่างๆ โดยวงเงินสินเชื่อต่อรายราว 2 แสนดอลลาร์ หรือประมาณ 7ล้านบาท หากไม่พอก็ขอกรุงศรีฯโดยตรงในไทยได้ รวมถึงบริการให้คำปรึกษาระหว่างประเทศ จะช่วยเหลือลูกค้าทุกกระบวนการ ทั้งจับคู่ธุรกิจ มองหาโอกาส และให้การสนับสนุนทางการเงินครบวงจร"

ด้านนางวรีมน นิยมไทย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพาณิชย์ธนกิจ บมจ.ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แนวโน้มครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราการขยายตัวทั้งระบบไม่น่าจะต่ำกว่า 5-6% ภายใต้จีดีพีที่เติบโต 3% ซึ่งธนาคารตั้งเป้าทั้งปีไว้ที่ 6-8% จากยอดสินเชื่อคงค้างปัจจุบัน 5 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะทำได้ตามเป้า เนื่องจากธนาคารได้ปรับโครงสร้างธุรกิจแบ่งลูกค้าเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดเล็กที่มียอดขายไม่เกิน100 ล้านบาท ลูกค้าเอสเอ็มอีขนาดกลาง ยอดขาย 100-1,000 ล้านบาท และลูกค้าเอสเอ็มอีรายใหญ่ ที่มียอดขาย 1,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งการแบ่งกลุ่มลูกค้าครั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าในแต่ละกลุ่มได้ตรงจุดมากขึ้น

ภายใต้การปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ จะสนับสนุนให้การปล่อยสินเชื่อคล่องตัวขึ้น โดยจะเน้นการขยายตัวในฐานลูกค้าเดิมเป็นหลัก และมีแผนสนับสนุนลูกค้าออกไปขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงนักธุรกิจที่ต้องการจะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งที่ผ่านมาเห็นความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นต้น ส่วนการปล่อยสินเชื่อกลุ่มใหม่จะต้องระมัดระวังมากขึ้น

"มองว่าครึ่งปีหลังการปล่อยสินเชื่อน่าจะเพิ่มขึ้น โดยครึ่งปีแรกประมาณ 40% และครึ่งปีหลังประมาณ 60% ซึ่งยังอยู่ในกลุ่มรายใหญ่ที่ปัจจุบันมีสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อประมาณ 50% และที่เหลือจะเป็นขนาดกลางและเล็กใกล้เคียงกัน โดยเราจะมุ่งเน้นกลุ่มธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญ พวกยาง ปาล์มทางใต้"

สำหรับสถานการณ์เอ็นพีแอล ยอมรับว่า เป็นสิ่งที่ธนาคารต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และเป็นโจทย์หลักที่ต้องบริหารจัดการ ซึ่งภายหลังจากปรับโครงสร้างหนี้จะเห็นการไหลกลับของเอ็นพีแอล (Re-Entry) น้อยมาก โดยคาดว่าจะสามารถรักษาระดับเอ็นพีแอลให้อยู่ที่ 3% จากปีก่อนอยู่ที่กว่า 2% และสัญญาณการผิดนัดชำระอยู่ที่ 5-6%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,176 วันที่ 21 - 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2559