เคบีเอสผุดคอมเพล็กซ์9พันล้าน ชงบอร์ดอนุมัติตั้งโรงงานนํ้าตาล-ไฟฟ้า-เอทานอล

23 ก.ค. 2559 | 04:00 น.
นํ้าตาลครบุรีเตรียมเสนอบอร์ดอนุมัติวงเงิน 9 พันล้านบาท เดินหน้าโครงการชูการ์เอ็นเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ ปี 2560 แต่ย้ายพื้นที่ไปอยู่อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา เหตุพื้นที่พร้อม โลจิสติกส์สะดวก “อิสสระ” เผยอยู่ระหว่างรออีไอเอ คาดชัดเจนสิ้นปีนี้ มั่นใจโรงงานนํ้าตาล 2-3 หมื่นตันต่อวัน โรงงานเอทานอล 2 แสนลิตรต่อวัน เสร็จปี 2562

นายอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในเร็วๆ นี้ บริษัทจะเสนอให้คณะกรรมการบริหารหรือบอร์ด พิจารณาสถานที่ตั้งโครงการชูการ์เอ็นเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ใหม่ จากเดิมที่ตั้งอยู่อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา มาเป็นอำเภอสีคิ้วแทน เนื่องจากเห็นว่าพื้นที่มีความพร้อมด้านสาธารณูปโภค และระบบด้านโลจิสติกส์มีความสะดวกกว่า โดยขณะนี้อยู่ระหว่าง รอการอนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้

ทั้งนี้ หากได้รับอีไอเอเรียบร้อยแล้ว ทางบริษัทจะเร่งเสนอแผนการลงทุนให้บอร์ดพิจารณาโดยทันที เพื่ออนุมัติกรอบของเงินลงทุนและวงเงินกู้ ของคอมเพล็กซ์ทั้งหมด ที่จะประกอบไปด้วยโรงงานน้ำตาลทราย ที่เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 2-3 หมื่นตันอ้อยต่อวัน และโรงไฟฟ้า ขนาดกำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ ซึ่งน่าจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 7,000 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 1.5-2 ปี จากนั้นในปีถัดไปจะลงทุนโรงงานเอทานอล กำลังการผลิต 2 แสนลิตรต่อวัน ใช้เงินลงทุนประมาณอีก 2,000ล้านบาท รวมการลงทุนกว่า 9,000 ล้านบาท

สำหรับโครงการชูการ์เอ็นเอนร์ยี่คอมเพล็กซ์ อยู่ในแผนลงทุน 5 ปี(2559-2563)ที่บริษัทจัดทำไว้ ซึ่งจะประกอบไปด้วยโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้า และเอทานอล ซึ่งนับว่าครบวงจร แม้ว่าจะอยู่คนละพื้นที่ของโรงงานน้ำตาลเดิมที่อำเภอครบุรี แต่ก็ไม่ไกลกันมากนัก โดยเฉพาะความต้องการกากน้ำตาลที่จะต้องนำมาใช้ในการผลิตเอทานอล สามารถที่จะขนส่งมากป้อนให้โรงงานที่สีคิ้วได้ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ซึ่งมองว่าการตั้งโรงงานเอทานอลเพิ่มขึ้นมานั้น น่าจะเป็นจังหวะที่ดี ที่จะมีการส่งเสริมการใช้เอทานอลให้มากขึ้นได้ จากปัจจุบันความต้องการใช้ไม่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 3.5 ล้านลิตรต่อวันเท่านั้น

"ปีหน้าคงจะมีความชัดเจนโครงการชูการ์เอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์ แต่ตอนนี้ต้องรออีไอเอชัดเจนก่อน หากโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่เสร็จจะทำให้บริษัทฯมีกำลังการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นอีก 2-3 หมื่นตันต่อวัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.6 หมื่นตันต่อวัน โดยโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่คงจะทำเป็นเฟส ซึ่งเฟสแรกอาจจะอยู่ที่ 2 หมื่นตันต่อวัน และเฟส 2 อีก 1 หมื่นตันต่อวัน จากนั้นค่อยเดินหน้าโรงงานเอทานอล 2 แสนลิตรต่อวัน ซึ่งมั่นใจว่ามีโมลาสเพียงพอ"

นายอิสสระ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากกากอ้อย ขนาดกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ ในพื้นที่คอมเพล็กซ์นั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ประมาณ 30 เมกะวัตต์ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการอนุมัติ เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวมีปัญหาสายส่งที่รับซื้อไฟฟ้าเต็ม ดังนั้น จึงอยากจะให้ทางกฟผ.หาทางออกในเรื่องนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะการตั้งโรงงานน้ำตาลทราย จำเป็นต้องผลิตไฟฟ้าใช้เองส่วนหนึ่ง และส่วนที่เหลือขายให้กับกฟผ.ได้ด้วย ถึงจะทำให้การดำเนินงานมีความคุ้มค่า

ส่วนกรณีกลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีโครงการลงทุนโรงงานพลาสติกชีวภาพ(ไบโอพลาสติก) โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการน้ำตาลหลายรายนั้น บริษัทยอมรับว่าสนใจโครงการดังกล่าวเช่นกัน แต่บริษัทคงไม่ใช่เป้าหมายของกลุ่ม ปตท. ขณะเดียวกันโครงการไบโอพลาสติกในช่วงแรกอาจมีความต้องการใช้น้ำตาลไม่มากนัก เพราะตลาดยังไม่เติบโตมากนัก

ดังนั้นในระยะแรก กลุ่ม ปตท. คงจัดหาหรือซื้อน้ำตาลจากผู้ประกอบการไปก่อนในปริมาณที่ไม่มากนัก นอกจากนี้ส่วนตัวมองว่าหากต้องการให้ตลาดไบโอพลาสติกเติบโต ภาครัฐจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเพื่อส่งเสริการใช้ แต่ในช่วงนี้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ การแข่งขันอาจยากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559