ชงครม.ปิดอุปสรรคลงทุนเร่ง9คลัสเตอร์

22 ก.ค. 2559 | 02:00 น.
คณะกรรมการเร่งรัดคลัสเตอร์ เตรียมชงครม.ใช้อำนาจสั่งการโดยเร็ว แก้ปัญหาอุปสรรคด้านการลงทุน หลังพบครึ่งปีแรก 9คลัสเตอร์ ยื่นขอบีโอไอตํ่าแค่ 3.3 หมื่นล้านบาท ทั้งที่กลุ่มใหญ่อย่างปิโตรเคมีเสนอตัวลงทุนปีนี้แล้ว 2.41 แสนล้านบาท แต่ยังลังเลปัญหาผังเมืองมาบตาพุด การระบายมลพิษ จี้รัฐบาลขอความชัดเจนด้านสิทธิประโยชน์ลงทุน ทั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ และกองทุนร่วมลงทุน

นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม(สศอ.) ในฐานะเลขานุการร่วมคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ ที่มีดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ในการประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการไปดำเนินการรวบรวมความคืบหน้าในการดำเนินงานของคณะกรรมการพร้อมกับปัญหาและอุปสรรค ที่มีผลต่อการเร่งรัดการลงทุน ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) รับทราบภายในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนี้เพื่อให้เกิดการลงทุนตามเป้าหมายต่อไป

[caption id="attachment_73443" align="aligncenter" width="700"] การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนของ 9 คลัสเตอร์ ช่วงครึ่งปีแรก การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนของ 9 คลัสเตอร์ ช่วงครึ่งปีแรก[/caption]

 ตั้งเป้าดึงปิโตรเคมี2.41แสนล.

ทั้งนี้ นับจากมีการตั้งคณะกรรมการฯ ตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา คณะอุกรรมการฯ ทั้ง 9 กลุ่มคลัสเตอร์ ได้มีการกำหนดผลิตเป้าหมาย นักลงทุนและประเทศเป้าหมาย และจัดทำแผนชักจูงการลงทุน ที่เข้าไปหารือเป็นรายบริษัท ของแต่ละคลัสเตอร์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลการดำเนินล่าสุดพบว่า คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความคืบหน้าค่อนข้างมาก โดยมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอในช่วง 6 เดือนแรกนี้แล้วจำนวน 3 โครงการ เป็นการผลิตพลาสติกชีวภาพ เงินลงทุน 4,550 ล้านบาท โดยมีการคาดการณ์ไว้ในปีนี้ จะมีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 36 โครงการ เงินลงทุน 2.41 แสนล้านบาท และลงทุนในปี 2560 เป็นต้นไปอีก 1.05-1.14 แสนล้านบาท

ขณะที่คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน ได้มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอมี จำนวน 5 โครงการ เช่น การผลิตเครื่องยนต์ แบตเตอรี่ และอุปกรณ์ จากเยอรมันและญี่ปุ่น เงินลงทุนรวม 9,501 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 3 โครงการ เงินลงทุน 1,887 ล้านบาท และอยู่ระหว่างรอการอนุมัติอีก 2 โครงการ เงินลงทุน 7,614 ล้านบาท โดยจะมีเม็ดเงินลงทุนที่จะเกิดในปีนี้ได้ 2 โครงการ เงินลงทุน 3,243 ล้านบาท และในปี 2560 อีก 5 โครงการ เงินลงทุน 5,658 ล้านบาท และปี 2561 อีก 1 โครงกร เงินลงทุน 1,200 ล้านบาท โดยกลุ่มดังกล่าวนี้มีเป้าหมายที่จะเร่งขับเคลื่อนให้เกิดการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าขึ้นในประเทศรวมอยู่ด้วย

อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงมาแรง

ส่วนคลัสเตอร์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม ปัจจุบันมีผู้ขอรับการส่งเสริมการลงทุนแล้วจำนวน 5 โครงการ เงินลงทุน 1.325 หมื่นล้านบาท โดยได้รับการอนุมัติแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ กิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ในระดับเทคโนโลยีขั้นสูง และการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
คลัสเตอร์เกษตรแปรรูปมีการการยื่นขอบีโอไอแล้วจำนวน 3 ราย จากนักลงทุนเป้าหมาย 52 ราย และมีแผนลงทุน 5 โครงการที่คาดว่าจะยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ เงินลงทุน 1,912 ล้านบาท คลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีการยื่นขอแล้ว 17 โครงการ เงินลงทุน 1,544 ล้านบาท คลัสเตอร์หุ่นยนต์ ยื่นขอรับส่งเสริมแล้ว 3 โครงการ เงินลงทุน 256.7 ล้านบาท คลัสเตอร์อากาศยานและชิ้นส่วน มีการยื่นขอบีโอไอแล้ว จำนวน 6 โครงการ เงินลงทุน 2,036 ล้านบาท คลัสเตอร์ดิจิทัล มีการยื่นขอบีโอไอแล้ว 12 โครงการ เงินลงทุน 115 ล้านบาท ขณะที่คลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการยื่นขอบีโอไอแต่อย่างใด

จี้ครม.แก้อุปสรรคการลงทุน

นายศิริรุจ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ จากเม็ดเงินที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนดังกล่าวกว่า 3.3 หมื่นล้านบาทนี้ ทางคณะกรรมการฯเห็นว่ายัง เป็นมูลค่าที่ยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากนักลงทุนมองว่ายังมีปัญหาและอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดในการลงทุน แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการแก้ไขอุปสรรคไปเป็นจำนวนมากแล้วก็ตาม แต่ยังมีปัญหาที่ยังเป็นข้อห่วงใยอยู่ จึงจำเป็นต้องรายงานให้ครม.รับทราบและช่วยเร่งผลักดันไปยังหน่วยงานที่ดูและกำกับโดยตรง เพื่อให้เกิดการลงทุนในปีนี้ให้มากขึ้น

โดยเฉพาะภาพรวมของสิทธิประโยชน์ซุปเปอร์คลัสเตอร์ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว แต่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติที่ทำงานในพื้นที่ที่กำหนด ทั้งคนไทยและต่างชาติ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี และลดหย่อน 50 % เพิ่มอีก 5 ปี และการพิจารณาที่อยู่ถาวรสำหรับผู้เชี่ยวชาญชันนำระดับนานาชาติ รวมทั้ง การจัดตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท การจัดตั้งกองทุนร่วมลงทุน 2,000 ล้านบาท มาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนกิจการเงินร่วมลงทุน และมาตรการยกเว้นภาษีสำหรับสตาร์อัพ ซึ่งขั้นตอนการพิจารณายังมีความล่าช้าอยู่และหากแยกเป็นรายคลัสเตอร์ จะพบว่า คลัสเตอร์ปิโตรเคมีฯ ที่ยังมีปัญหาการกำหนดผังเมืองรวมจังหวัดระยอง และผังเมืองรวมชุมชนมาบตาพุด ที่ยังไม่สามารถประกาศถึงความชัดเจนได้ในขณะนี้ รวมถึงการจัดทำค่ามาตรฐานในการปล่อยมลพิษที่ยังมีข้อจำกัดอยู่กับโครงการที่จะเกิดขึ้นใหม่ในมาบตาพุด

อีกทั้ง การส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ที่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าจากกระทรวงการคลังว่า จะออกมาตรการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพของนิติบุคคล สามารถนำมาหักค่าใช้จ่ายจากการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในอัตรา 200-300 % ได้หรือไม่ เป็นต้น

กฎหมายเป็นตัวฉุดลงทุน

ส่วนปัญหาของคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน ที่สำคัญคือ การจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ที่ยังล่าช้าไม่เป็นไปตามแผนส่วนคลัสเตอร์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม ก็ยังติดปัญหาเรื่องมาตรการยกเว้นอากรขาเข้าของที่นำเข้า เพื่อใช้ในการทำวิจัยและพัฒนาหรือทดสอบ คลัสเตอร์เกษตรแปรรูป ก็ยังติดปัญหาการทบทวนถ่ายโอนภาระกิจการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ส่วนคลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ก็ติดปัญหาความล่าช้าในการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจแฟชั่น

ขณะที่คลัสเตอร์อากาศและชิ้นส่วน จะต้องเร่งแก้ไขพ.ร.บ.การเดินอากาศ โดยยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ต้องมีทุนจดทะเบียนเป็นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่า 51 % และอำนาจการบริหารกิจการต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของบุคคลผู้มีสัญชาติไทย สำหรับผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตอากาศยานและส่วนประกอบที่สำคัญของอากาศยาน เป็นต้น ซึ่งหากปัญหาอุปสรรคได้รับการแก้ไข เชื่อว่าจะทำให้นักลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้เร็วขึ้น เพราะสิทธิประโยชน์ที่บีโอไอให้สูงสุดกำหนดไว้ให้ผู้ประกอบการจะต้องยื่นขอภายในสิ้นปีนี้ และจะต้องเปิดดำเนินการในปี 2560 เท่านั้น

แก้ผังเมืองได้ทุนก้อนใหญ่มาแน่

ด้านดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ คณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ขณะนี้แผนการชักชวนนักลงทุนของคลัสเตอร์ปิโตรเคมีฯค่อนข้างที่จะชัดเจนกว่าคลัสเตอร์กลุ่มอื่นๆ และมีเม็ดเงินการลงทุนจำนวนมาก แต่ที่มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ยังต่ำอยู่ เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังรอความชัดเจนในการประกาศผังเมืองรวมจังหวัดระยอง ที่ขณะนี้อยู่ขั้นตอนสุดท้าย ที่รอประกาศ โดยได้ตัดบัญชีแนบท้ายออกตามข้อเสนอของภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในไตรมาส 3 นี้ รวมถึงการแก้ไขผังเมืองรวมชุมชนมาบตาพุด ที่ได้ถ่ายโอนให้ท้องถิ่นดำเนินการ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังติดปัญหาการปรับปรุงการบริหารจัดการและการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่มาบตาพุด ที่จะต้องมีการปรับปรุงจัดทำฐานข้อมูลการระบายมลพิษให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งยังเป็นอุปสรรคข้อหนึ่งที่ทำให้โรงงานใหม่ที่จะเข้าไปลงทุนค่อนข้างยาก
-ดันรัฐสร้างตลาดไบโอพลาสติก

อีกทั้ง การที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมชีวภาพ โดยเฉพาะไบโอพลาสติก ที่เวลานี้มีผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศมีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุน แต่ยังติดปัญหาด้านความต้องของตลาดในประเทศที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งนักลงทุนต้องให้รัฐบาลนำมาตรการส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพมาใช้ โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการทางภาษีให้สำหรับผู้ที่นำพลาสติกชีวภาพมาใช้ สามารถนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 200-300 % เพื่อเป็นการสร้างตลาดให้เกิดขึ้น แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนออกมา

รวมถึงการขอให้ทางบีโอไอ ขยายพื้นที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ ออกไปยังพื้นที่ใกล้วัตถุดิบที่ปลูกอ้อย นอกเหนือจากจังหวัดระยอง และชลบุรี ที่ให้สิทธิประโยชน์สูงสุด ซึ่งในส่วนนี้ก็ยังไม่มีการประกาศออกมาเพิ่ม ซึ่งหากครม.เร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ คาดว่าเม็ดเงินลงทุนจะเพิ่มขึ้น การยื่นขอส่งเสริมการลงทุนได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559