กองทุนTFFไม่แรงเทียบเคียงพันธบัตรเหมาะคนวัยเกษียณ

22 ก.ค. 2559 | 10:00 น.
วงการตลาดทุนเห็นพ้อง “ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์” ออกตัวไม่แรง ผลตอบแทน 2-3% ไม่จูงใจ ใกล้เคียงพันธบัตร ชี้เหมาะกับคนวัยเกษียณเทียบฟอร์มหุ้นปันผลมีเสน่ห์กว่า ให้ผลตอบแทน 3.5% กองทุนอสังหาฯ และกองรีทส์ 5-7% ต่อปี ขณะที่คาดดึงเงินออกจากตลาดทุนบางส่วน แต่ไม่มากเหตุสภาพคล่องยังสูง

"ฐานเศรษฐกิจ"สำรวจวงการตลาดทุน และนักลงทุนถึงความน่าสนใจในการลงทุนสำหรับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) หรือ"ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์" มูลค่า 1 แสนล้านบาท พบว่าเป็นโปรดักส์ที่ไม่แรงสำหรับคนรับความเสี่ยงได้สูง

ขณะที่จากการรวบรวมผลตอบแทนโปรดักส์การลงทุนต่าง ๆมีดังนี้ หุ้นปันผล ให้ผลตอบแทนหรือดิวิเดนยีลด์ 3.5 % ต่อปี กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์(รีทส์) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรืออินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์ ให้ผลตอบแทน 5-7 % ต่อปี และหุ้นกู้เอกชนให้อัตราดอกเบี้ย 3-6 % ต่อปี เป็นต้น

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานค้าหลักทรัพย์บุคคล บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)บัวหลวง จำกัด(มหาชน)(บมจ.) กล่าวว่า กองทุนดังกล่าวอาจจะเหมาะกับผู้ที่เกษียณ ซึ่งน่าจะเป็นการจับตลาดดังกล่าวนี้มากกว่า หรือเรียกว่าเป็นนักลงทุนที่ไม่ต้องการอะไรที่หวือหวามาก มีแค่กระแสเงินในระดับหนึ่ง และรอการลงทุนในระยะยาว เพื่อให้นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวนี้ได้มีทางเลือก

สอดคล้องกับนายกวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า แม้เป็นกองทุนที่การันตีผลตอบแทนที่ 2-3% ต่อปี แต่มองว่าไม่มีแรงจูงใจให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้น เพราะเป็นผลตอบแทนใกล้เคียงกับพันธบัตรรัฐบาล หรือ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์บางกอง แต่ยังต่ำกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้น

ทั้งนี้หากพิจารณาจากกำไรบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ปี 2559 ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 7 แสนล้านบาท และหากจ่ายปันผลในอัตรา 40% ของกำไรสุทธิ หรือคิดเป็นเงินปันผลจ่าย 2.8 แสนล้านบาท ซึ่งมากกว่ากองทุนTFF ที่ยื่นจัดตั้งกองทุนโดยเริ่มต้นที่ทุนจดทะเบียน 1 พันล้านบาท จากนั้นจะขยายไปเป็น 1 หมื่นล้านบาท และ 1 แสนล้านบาท

นายชยนนท์ รักกาญจนันท์ กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) อินฟินิติ จำกัด กล่าวว่า กองทุนTFF จะเป็นการลงทุนในโครงการที่ก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ (greenfield project)จำนวนไม่น้อย จึงยังไม่สามารถหารายได้เข้ากองทุนได้ ดังนั้นการคาดการณ์ผลตอบแทนในระยะสั้นจึงเป็นไปได้ยาก แต่ทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีการสื่อสารออกมาว่า อาจจะให้รัฐฯจัดงบประมาณเพิ่มเติมนำมาจ่ายเป็นเงินปันผล (Dividend)ในช่วงที่โครงการยังไม่เสร็จไปก่อน

บทวิเคราะห์บล.เอเซียพลัส คาดว่ากองทุนTFF มูลค่า 1 แสนล้านบาทพร้อมเดินหน้าอาจจะดึงเงินจากตลาดทุนบางส่วน หลังจากที่ล่าช้ามานาน ทั้งนี้คาดว่าการระดมเงินดังกล่าวน่าจะเป็นการแย่งเม็ดเงินลงทุนจากตลาดหุ้น แต่เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดที่ยังอยู่ในระดับสูงจึงไม่น่าส่งผลกระทบมากนัก

อนึ่งเมื่อวันที่ 12 กรกฏาคม ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติอนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) หรือ"ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์" (TFF) มูลค่า 1 แสนล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังใส่เงินก้อนแรก 1 หมื่นล้านบาท การันตีผลตอบแทน 2-3% ในช่วง 3-5 ปีแรก เตรียมจดทะเบียนภายในเดือนกรกฏาคมนี้ เน้นกลุ่มสถาบันการเงินและรายย่อย โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)กรุงไทย จำกัด(มหาชน)(บมจ.) และบลจ.เอ็มเอฟซี ทำหน้าที่จัดตั้งกองทุนและบริหารกองทุน คาดเปิดให้ลงทุนได้เดือนธันวาคมนี้ ผู้มีสิทธิถือหน่วยลงทุน ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง และนักลงทุนภาครัฐ เช่น กองทุนรวมวายุภักษ์ 1 และรัฐวิสาหกิจ นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อย

สําหรับเงินที่ได้จากการจัดตั้งกองทุนจะทยอยนําไปลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้มีความชัดเจนแล้ว 3 โครงการ ในจํานวนนี้เป็นโครงการที่ได้ก่อสร้าง และ เปิดให้บริการ พร้อมมีกระแสเงินสดรับแล้ว เป็นโครงการก่อสร้างของกรมทางหลวง 2 เส้นทางคือ 1. มอเตอร์เวย์ หมายเลข 7 กรุงเทพ – บ้านฉาง และ 2. มอเตอร์เวย์ หมายเลข 9 วงแหวนรอบนอก กรุงเทพ พระนครศรีอยุธยา - พัทยา โดยกองทุน TFFจะถือห้นุ 50% ของเงินทุนทั้งหมด หรือคิดเป็นเงิน 4 หมื่นล้านบาท

ถัดมาเป็นโครงการที่ 3 ซึ่งยังอยู่ระหว่างการศึกษา EIA ซึ่งเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้แก่โครงการทางด่วนพิเศษ สายพระราม 3 ดาวคะนอง มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะเริ่มประมูลปลายปีนี้ จะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี และเปิดให้บริการปี 2563

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559