เชียร์รัฐปรับแผนถกFTA เล็งเปิดค้าเสรีไทย-อังกฤษ

22 ก.ค. 2559 | 05:00 น.
สรท.เห็นด้วยพาณิชย์ปรับยุทธศาสตร์เจรจรา FTA เป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจทวิภาคี เหตุช่วยให้การค้ามีความคล่องตัวและได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย “สมคิด”สั่งนำร่องถกจีน อินเดีย หวังเปิดเสรีเฉพาะรายสาขาที่ 2 ฝ่ายสนใจ ส่วน CLMV เตรียมหารือเน้นช่วยเหลือด้านโครงสร้างพื้นฐานชี้จะส่งผลดีต่อไทยในฐานะเกตเวย์อาเซียน ขณะเอกชนเชียร์ไทยทำเอฟทีเอกับอังกฤษ หลังออกจากอียู

[caption id="attachment_73452" align="aligncenter" width="404"] ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี[/caption]

นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยที่ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีที่ได้สั่งให้กระทรวงพาณิชย์ปรับยุทธศาสตร์การเจรจาเขตการค้าเสรี หรือ FTA เป็นลักษณะหุ้นส่วนเศรษฐกิจทวิภาคี (strategic partnership)โดยการคัดรายอุตสาหกรรมที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นประโยชน์ร่วมกันไปเจรจานั้น เอกชนมองว่าเป็นเรื่องที่ดีและก็ต้องการมาโดยตลอด จะส่งผลดีในแง่การค้า 2 ฝ่าย และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทย

ทั้งนี้3 กลุ่มประเทศที่ดร.สมคิดต้องการให้เจรจาก่อน ได้แก่ จีน อินเดีย และกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ก็ตรงกับที่สรท.พูดมาโดยตลอด เช่น เอฟทีเอกับอินเดียซึ่งเป็นตลาดใหญ่ และเอฟทีเอไทย-อินเดีย การเจรจาก็ยังไม่สมบูรณ์(ลดภาษีระหว่างกันไปแล้ว 83 รายการ และอยู่ระหว่างการเจรจาฉบับสมบูรณ์)ถ้ามีการเจรจาแบบรายสินค้าก็น่าจะช่วยให้สินค้าไทยขยายสู่ตลาดอินเดียได้เพิ่มขึ้น และช่วยผู้ประกอบการรายใหม่(สตาร์ตอัพ)ในการเจาะตลาดได้มากขึ้น ส่วนจีนที่ไทยเสียดุลการค้าปีหนึ่งหลายแสนล้านบาท หากมีการเจรจาแบบรายอุตสาหกรรมน่าจะช่วยให้สินค้าไทยไปตลาดจีนง่ายขึ้น

“เมื่อก่อนเอกชนต่างคนต่างการค้ากันเอง ประโยชน์ที่ได้ก็ไม่เต็มที่แต่การที่รัฐบาลจะเจรจาเอฟทีเอแบบรายอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่สภาผู้ส่งออกเห็นด้วย เพราะได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่ายถือว่ารัฐบาลมาถูกทาง”
ส่วนกรณีที่อังกฤษจะออกจากสหภาพยุโรป(อียู) หากไทยและอังกฤษสนใจจะทำเอฟทีเอระหว่างกันนั้น น่าจะดีเพราะอังกฤษเองก็ต้องการมิตรทางการค้าเพื่อทำให้ประเทศแข็งแกร่งเพราะการไม่พึ่งพาสหภายุโรป(อียู)อาจทำให้การค้าของอังกฤษเสียเปรียบดังนั้นไทยเองควรใช้โอกาสตรงนี้เร่งเจรจาการค้ากับอังกฤษ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวคิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเจรจาเอฟทีเอข้างต้นเป็นผลจากเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมาดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มาติดตามงานที่กระทรวงพาณิชย์และได้มีการสั่งการให้เริ่มเดินหน้าการเจรจาข้อตกลงทางการค้าในรูปแบบหุ้นส่วนเศรษฐกิจทวิภาคีแทนมุ่งทำ FTA เพียงอย่างเดียวโดยการนำอุตสาหกรรมเป้าหมายไปเจรจากับประเทศที่มีศักยภาพเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและได้ข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่ายได้มากกว่าการเจรจาทางการค้าแบบเดิม ๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนประเด็นทางการค้าในทุกด้าน

“เราจะเน้นเฉพาะประเด็นเจรจาที่ 2 ประเทศมีความเห็นตรงกันที่จะสร้างประโยชน์เท่านั้น ซึ่งประเทศเป้าหมายตั้งไว้ 3 ประเทศ คือ จีน อินเดีย และประเทศใน CLMV โดยจะเริ่มที่ จีน ซึ่งมีความสนใจที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและนวัตกรรมเช่นเดียวกับไทยพร้อมทั้งสนใจที่จะออกไปลงทุนนอกประเทศ เบื้องต้นตั้งเป้าจะไปเยือนจีนในเร็ว ๆนี้ และคาดว่าจะเริ่มเจรจาได้ในช่วงดังกล่าว เช่นเดียวกับอินเดีย ที่ไทยมีความสนใจให้เข้ามาลงทุนด้านการแพทย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขณะที่อินเดียสนใจให้ไทยไปพัฒนาด้านบริการและการท่องเที่ยวมีแผนจะให้รัฐมนตรีว่ารกระทรวงพาณิชย์เดินทางเยือนเร็วๆนี้และเปิดการเจรจาทันที” ดร.สมคิด กล่าว

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559