ตามไปดู 'ศรีสะเกษโมเดล' ต้นแบบประชารัฐ ดันเกษตรสมัยใหม่

22 ก.ค. 2559 | 08:00 น.
จากคนส่วนใหญ่ของประเทศยังมีอาชีพทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน เลี้ยงสัตว์บกใหญ่อย่าง โคเนื้อโคนม หรือสัตว์บกเล็ก เช่น ไก่ สุกร เป็นต้น แต่ปัญหาใหญ่ที่ผ่านมาเกษตรกรกลับมีรายได้ไม่พอเลี้ยงตัวเองหรือครอบครัว จากผลผลผลิตเสียหาย ราคาสินค้าผันผวน บางรายผลผลิตไม่ได้มาตรฐาน ไม่ตรงกับความต้องการทางการตลาด และส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรแบบต่างคนต่างทำ ขาดการรวมกลุ่มเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง และช่วยลดต้นทุน ก่อให้เกิดปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ระหว่างภาคเกษตรกับนอกภาคเกษตร

ปัญหาทั้งหมดจึงเป็นที่มาของคณะทำงานการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 12 คณะทำงานภายใต้คณะกรรมการสานพลังประชารัฐ โดยในส่วนของภาครัฐมีพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหัวหน้าทีม และในส่วนของภาคเอกชนมีนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย เป็นหัวหน้าทีม ซึ่งได้ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานพื้นที่แปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ (ข้าว) ในพื้นที่ ต.ผักไหม อ.ห้วยทับทัน จ.ศรีสะเกษ เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

พลังประชารัฐ อุ้มเกษตรกร

จุดแรกที่คณะได้ไปเยี่ยมชมพื้นที่แปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่ (ข้าว)ศูนย์เรียนรู้ชุมชนพลังเกษตรสุขสยามคูโบต้า – ผักใหม่ (ศูนย์เครือข่าย ศพก.) มี "ไพทูรย์ ฝางคำ" ประธานกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ฯ (ข้าว) มาให้การต้อนรับ พร้อมเล่าที่มาของการรวมกลุ่มคร่าวๆ ว่า กลุ่มนี้รวมตัวกันขึ้น เมื่อวันที่ 25 มีนาคม2541 ในรูปแบบของกลุ่มออมทรัพย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนากระบวนการในการทำการเกษตรโดยใช้กระบวนการสร้างการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมพัฒนา และแก้ไขปัญหาภายในชุมชน โดยการนำประสบการณ์และองค์ความรู้สมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ร่วมกันภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 133 ราย เกษตรกรผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ จาก 13 หมู่บ้านในตำบลผักไหม อ.ห้วยทับทัน มีพื้นที่ทั้งหมด 3,780 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวเมล็ดพันธุ์ จำนวน 440 ไร่ พื้นที่ข้าวอินทรีย์ 696 ไร่ พื้นที่ข้าวมาตรฐาน GAP (มาตรฐานการทำการเกษตรที่ดี)จำนวน 2,644 ไร่ เดิมเป็นนาหว่าน ใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว ประมาณ 30-40 กิโลกรัมต่อไร่ ปัจจุบันใช้เครื่องหยอดปลูกข้าว ทำให้มีการใช้เมล็ดพันธุ์ลดลงเหลือ 10 กิโลกรัมต่อไร่ ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตได้จริง

ดันสินค้ามาตรฐานสหกรณ์

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีวัตถุประสงค์ เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยมีการรวมกันผลิตสินค้าทางการเกษตรร่วมกัน มีการบริหารจัดการร่วมกันตั้งแต่การรวมกันผลิต การจัดหาปัจจัยการผลิต รวมถึงการจำหน่าย ซึ่งจะทำห้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสามารถแข่งขันในตลาดได้ ภายใต้การสนับสนุนและบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และหน่วยงานภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการพัฒนาการผลิตอย่างยั่งยืนตามหลักการบริหารตามแนวประชารัฐ ทั้งนี้ควรยกระดับมาตรฐานสินค้าสหกรณ์ด้วยการให้อย่างน้อย 1จังหวัด 1 สหกรณ์ ที่ต้องมีหอการค้ามาร่วมด้วย

อุดรฯเป้าต่อไป-แปลงใหญ่คืบ

ส่วนเกษตรกรที่ไม่ได้เข้าร่วมนาแปลงใหญ่ ทางกระทรวงก็ไม่ได้ทอดทิ้ง จะมีนโยบายการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง หากพื้นที่ใดมีความเหมาะสม จะรณรงค์เพื่อให้เห็นความสำคัญ เพราะจุดเด่นแปลงใหญ่ประชารัฐเกษตรสมัยใหม่จะมีการกำหนดผู้จัดการแปลงภาครัฐและผู้จัดการแปลงภาคเอกชนในลักษณะการทำงานร่วมกัน โดยนำนวัตกรรม เทคโนโลยี และงานวิจัยและพัฒนาต่างๆ รวมทั้งการบริหารจัดการของภาคเอกชนมาช่วยในการพัฒนา เช่นที่จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น และประมาณปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ทางกระทรวงจะลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อติดตามความก้าวหน้าของเกษตรแปลงใหญ่อย่างต่อเนื่อง

ส่วนพื้นที่การปลูกข้าวไม่เหมาะสม ในเร็วๆนี้ ทางกระทรวงจะมีงบประมาณลงไปเพื่อปรับเปลี่ยนให้ประกอบอาชีพอย่างอื่น โดยจะเชื่อมโยงตลาดให้ในระยะแรกๆ หลังจากนั้นเกษตรกรจะต้องยืนได้ด้วยตัวเอง ปัจจุบันมีจำนวนแปลงใหญ่ประชารัฐที่ได้รับรองโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ของจังหวัดแล้ว ทั้งหมด 512 แปลง จำนวน 31 สินค้า มีพื้นที่รวมในการบริหารจัดการร่วมกัน 1.34 ล้านไร่เกษตรกรประมาณ 85,000 ครัวเรือน

แปลงใหญ่เอกชน44แปลง

สอดคล้องกับนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย ที่กล่าวว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ประชารัฐ ในภาคเอกชน ปัจจุบันมี 44 แปลง คุณสมบัติเกษตรกรที่เข้าร่วมจะต้องช่วยตัวเองได้ระดับหนึ่ง และให้เรียนรู้กลไกลตลาดดีที่สุด เพราะถ้าให้คนมาช่วยก็ช่วยได้ไม่ตลอด เพราะช่วยมากๆ เกษตรกรจะอ่อนแอ และการลงไปประเมินง่ายที่สุด ก็คือ เกษตรกรมีความสุขเพิ่มขึ้นหรือไม่ ต้องให้วางแผนชีวิตตั้งแต่ก่อนเริ่มปลูกข้าว ปลูกแล้วจำหน่ายให้ใคร รวมระยะเวลา 4เดือน หลังเก็บเกี่ยวที่เหลือจะประกอบอาชีพอะไรเพื่อให้มีรายได้ทุกวัน เรื่องเหล่านี้ถือเป็นการบ้านที่ภาคเอกชนจะต้องมาร่วมกันคิดกับเกษตรกร ดังนั้นจะต้องหาเกษตรกรที่อาสาสมัครก่อน เพราะชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือนไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำแบบปูพรมทั้งประเทศ ต้องตั้งโมเดลให้เห็นก่อน เพื่อสร้างแรงจูงใจ เช่น จะประสานให้โรงสีมารับซื้อข้าวเปลือกในราคาสูงกว่าตลาดตันละ 200 บาท เป็นต้น

[caption id="attachment_73461" align="aligncenter" width="394"] วัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด วัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด[/caption]

เจียเม้ง-คูโบต้า หนุน

ด้านนายวัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด ผู้ผลิต และจัดจำหน่ายข้าว ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดข้าวหอมมะลิทั้งใน และต่างประเทศ ภายใต้แบรนด์ “หงษ์ทอง” กล่าวว่า ในส่วนภาคเอกชนดีใจที่ได้เข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากทางโรงสีเอง ในจังหวัดศรีสะเกษมีโรงสีขนาดใหญ่ซึ่งดิวกับเกษตรกรอยู่แล้ว แต่พอมีโครงการขึ้น เห็นว่าเกษตรกรมีการตื่นตัวมากขึ้น ขณะเดียวกันเกษตรก็มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เปรียบเทียบจากโครงการปี2557/58 จาก 451 กิโลกรัม เป็น 559 กิโลกรัมต่อไร่ ในปี 2558/59 สิ่งที่ตามมาก็ลดต้นทุน เพราะเปลี่ยนจากนาหว่านเป็นนาหยอด เดิมจากไร่ละ 3,060 บาท เหลือ ไร่ละ 2,398 บาท ขณะที่ราคารับซื้อจะสูงกว่าราคาตลาดถึงตันละ 200 บาท ทางเจียเม้งจะรับซื้อทั้งหมด

[caption id="attachment_73460" align="aligncenter" width="351"] โอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด โอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด[/caption]

เช่นเดียวกับ นายโอภาศ ธันวารชร กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า มีการสนุนให้ทดลองการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร และแนะนำวิธีการใช้ถูกต้อง ลดต้นทุน ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การส่งเสริมการทำนาดำ การทำการเกษตรปลอดการเผา โดยการไถกลบตอซัง และสนับสนุนให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตชุมชนอีกด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559