ราคาน้ำมันต่ำฉุดใช้เอทานอล ปีหน้าโมลาสขาดกระทบผลิต

22 ก.ค. 2559 | 07:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สมาคมเอทานอลร้องรัฐ ยอดใช้เอทานอลไม่ขยับ เหตุไม่มีมาตรการส่งเสริม เข็นการใช้ช่วงราคานํ้ามันราคาตํ่าไม่ขึ้น ต้องปรับแผนผลิตแค่ส่งตามคำสั่งซื้อเท่านั้น ขณะที่ปีหน้ามองแนวโน้มราคาเอทานอลขยับอีก10% จากปัญหากากนํ้าตาลขาดแคลนกระทบต่อการผลิตของบริษัท ไทยรุ่งเรืองต้องลดกำลังการผลิตลงอย่างมาก

นายอุกฤษฏ์ อัษฎาธร นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย และกรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทน้ำตาลไทยรุ่งเรือง เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ยอดใช้เอทานอลในประเทศยังไม่ขยับเพิ่มมากนัก โดยยังใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 3.5 ล้านลิตรต่อวัน เนื่องจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ภาครัฐไม่ออกนโยบายส่งเสริมการใช้เอทานอลในช่วงนี้มากนัก โดยเฉพาะการเพิ่มส่วนต่างของราคาแก๊สโซฮอล์แต่ละชนิดให้ห่างกันมากขึ้น เนื่องจากเอทานอลมีต้นทุนสูงกว่าน้ำมัน ทำให้ต้องใช้เงินกองทุนนั้นเชื้อเพลิงอุดหนุนค่อนข้างมาก ซึ่งผู้ประกอบการเอทานอลก็เข้าใจสถานการณ์ทีเกิดขึ้น และต้องปรับตัวเพื่อผลิตตามปริมาณคำสั่งซื้อเท่านั้น

ขณะที่แนวโน้มราคาเอทานอลในปีหน้า คาดว่าจะปรับสูงขึ้น 10% จากปีนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกากน้ำตาล(โมลาส) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงปีที่ผ่านมา และคาดว่าในฤดูหีบ 2559/2560 ยังมีปริมาณไม่มากนัก ดังนั้นอาจส่งผลต่อราคาเอทานอลปีหน้า อยู่ที่ 22-23 บาทต่อลิตร เทียบกับปีนี้ยู่ที่ 21 บาทต่อลิตร แต่หากเทียบกับปี 2558 อยู่ที่ 25-26 บาทต่อลิตร ซึ่งต้นทุนแต่ละโรงงานจะแตกต่างกัน หากเป็นโรงงานขนาดเล็กก็อาจมีต้นทุนสูงกว่า

ดังนั้น ผู้ประกอบการเอทานอลบางรายจึงหันมาใช้มันสำปะหลังแทนโมลาส เพื่อลดต้นทุน เนื่องจากมันสำปะหลังไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง โดยคาดว่าในปี 2560 จะมีสัดส่วนการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 40-50% เทียบกับปีนี้ที่ 30% ของกำลังการผลิตเอทานอลทั้งหมด ปัจจุบันมีโรงงานเอทานอลกำลังการผลิตรวม 4-5 ล้านลิตรต่อวัน แต่ผลจริงเพียง 3-4 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณการผลิตตามความต้องการใช้ในประเทศ ส่วนในปี 2559 ยังไม่มีการส่งออกเอทานอล เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันต้นทุนกับสหรัฐอเมริกาได้ เพราะนอกจากเอทานอลจากสหรัฐฯจะผลิตจากข้าวโพดจีเอ็มโอแล้ว ยังมีเงินสนับสนุนผู้ประกอบการจำนวนมากด้วย ซึ่งประเทศบราซิล ที่เคยเป็นผู้ส่งออกอันดับต้นๆของโลกยังไม่สามารถแข่งขันได้

นายอุกฤษฏ์ กล่าวอีกว่า สำหรับโรงงานเอทานอลของกลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง ที่ผ่านมาได้ลงทุนขยายกำลังการผลิตจาก 1.2 แสนลิตรต่อวัน เพิ่มเป็น 2.7 แสนลิตรต่อวัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองเดินเครื่อง แต่เนื่องจากปัญหาวัตถุดิบโมลาสที่ขาดแคลน ทำให้การผลิตเอทานอลของกลุ่มฯ ไม่เป็นไปตามคาด โดยในปี 2560 คาดว่าจะผลิตอยู่ที่ระดับ 1.5 แสนลิตรต่อวันเท่านั้น นอกจากนี้ยังรอท่าทีของภาครัฐในการส่งเสริมการใช้เอทานอลด้วย

"ขณะนี้ต้นทุนผลิตเอทานอลสูง เพราะราคาโมลาสปรับเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการบางรายต้องหันมาใช้มันสำปะหลังแทน แต่เชื่อว่าภาครัฐเข้าใจสถานการณ์ดังกล่าวดี เพียงแต่ในช่วงนี้ราคาน้ำมันอยู่ที่ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เทียบกับช่วงอดีตที่ราคาน้ำมันขึ้นถึง 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งขณะนี้ภาครัฐมองว่าการส่งเสริมพลังงานทดแทนช่วงนี้เป็นภาระมาก แต่สมาคมฯก็หารือกับภาครัฐว่าแม้สถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ แต่กำลังการผลิตเอทานอลในประเทศต้องเพียงพอ ขณะที่โรงงานเอทานอลของกลุ่มบริษัทฯ ลงทุนเครื่องจักร เพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มเท่าตัว แต่ก็ประสบปัญหาโมลาสขาดแคลนเช่นกัน"นายอุกฤษฏ์ กล่าว

สำหรับการขยายธุรกิจน้ำตาล ล่าสุดบริษัทได้มีการขยายโรงงานน้ำตาลเพิ่มอีก 1 แห่ง กำลังการผลิต 2 หมื่นตันต่อวัน จากเดิมมีโรงงานน้ำตาลทั้งสิ้น 8 แห่ง กำลังการผลิตรวม 1.21 แสนตันต่อวัน โดยโรงงานแห่งที่ 9 อยู่ระหว่างก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จทันฤดูหีบปีนี้

Photo : Pixbay รูปภาพปกไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559