ชู 3 ยุทธศาสตร์ชายแดน ดันการค้าทะลุเป้า 1.7 ล้านล้าน

21 ก.ค. 2559 | 14:00 น.
ช่วงครึ่งปีหลังปี 2559 รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชามีนโยบายสนับสนุนการค้าชายแดนให้ขยายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มมากขึ้นโดยตั้งมูลค่าการค้าจากปี 2558 ซึ่งมีมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท เพิ่มเป็น1.7 ล้านล้านบาท หลังจากการส่งออกตลาดภาพใหญ่ติดลบ ขณะที่ภาคเอกชนแนวชายแดนต่างขานรับต่อการปรับแผนการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ที่ประกาศออกมาเมื่อไม่นานมานี้ ต่อเรื่องนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์พิเศษ นายนิยม ไวรัชพานิช รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ว่าผ่านมาครึ่งปีเป้าหมายดังกล่าวจะเป็นจริงได้แค่ไหน

[caption id="attachment_73417" align="aligncenter" width="367"] นิยม ไวรัชพานิช รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้าน นิยม ไวรัชพานิช รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้าน[/caption]

แนวทางเพิ่มมูลค่าค้าชายแดน

ที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนมาโดยตลาด และเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลได้หารือ กับกระทรวงพาณิชย์เรื่องค้าชายแดนที่จะเพิ่มปริมาณการค้ามากขึ้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์คิดว่าจะเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนจาก 1.4 ล้านล้านบาท ในปี 2558 เป็น 1.7 ล้านล้านบาท ในปี2559 ทั้งนี้มองว่าเป็นเรื่องปกติ ที่จะขยายฐานการค้าการส่งออก ออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลผลิต การส่งผ่านจากประเทศเพื่อนบ้านไปยังประเทศจีน เวียดนาม ต่างๆ

อย่างไรก็ดี มองว่า ไม่ใช่เรื่องที่ยาก เพราะปัจจุบันการค้าใต้ดินมีมาก ซึ่งลักลอบหลบเลี่ยงภาษี แต่จะทำอย่างไรจะทำให้ ดึงการค้าใต้ดินขึ้นมาบนดิน เชื่อว่าเป้าการค้าที่ตั้งไว้ทะลุ 1.7 ล้านล้านบาทอย่างแน่นอน ดังนั้นช่องทางและวิธีการ หรือเครื่องมือที่รัฐจะสนับสนุนเอกชนในพื้นที่จะต้องมีเพื่อให้เกิดความคล่องตัว เพราะกฎกติการะหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านแบบทวิภาคีอยู่แล้ว

ชู 3ยุทธศาสตร์กระตุ้น

นายนิยม อธิบายว่า สิ่งที่เสนอเพื่อผลักดันการค้านั่นก็คือ 3 ยุทธศาสตร์ เริ่มจากยุทธศาสตร์ที่1 จะต้องเพิ่มปริมาณการค้าชายแดน ด้วยการกำหนดตัวเลขการค้ากับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน(JTC ) นอกจากนี้ยังต้องยกฐานะจุดผ่อนปรนเป็นด่านถาวรให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันผลักดันให้มีการเดินรถในกรอบ GMS บนเส้นทาง EWEC NSEC NSEC และSEC เพื่อเชื่อมโยงการค้าระหว่างกัน ที่สำคัญรัฐบาลต้องมีส่วนร่วมในธุรกิจผูกขาด กับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งรณรงค์ให้พ่อค้าชายแดนทำให้ถูกต้องเพื่อทราบข้อมูลการค้า รวมทั้งผลักดันให้มีแวตรีฟันที่ด่านชายแดนใต้ รัฐบาลจะต้องผลักดัน infrastructure FUND ของไทยเพื่อไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้ การเปิดโอกาสให้มีการจัดแสดงสินค้าในประเทศเพื่อนบ้านบ่อยๆ เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเพิ่มกำลังซื้อ นายนิยม ตั้งคำถามว่าจะทำได้อย่างไร คำตอบก็คือ การอำนวยความสะดวกเข้าออกบริเวณชายแดนของประชาชน ซึ่งการใช้ บอเดอร์พาส ให้ประชาชนทั้งสองประเทศไปมา ตั้งแต่ 2 วันขึ้นไปได้ โดยเฉพาะ คนไทยกับเมียนมาไม่จำเป็นต้องมีวีซ่าทั้งด่านทางบก ทางอากาศและทางเรือรวมถึงการให้นักท่องเที่ยวชาติที่ 3 สามารถทำวีซ่าทุกด่านถาวรรอบประเทศไทยได้

เร่งเครื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 แห่ง

การเพิ่มกำลังซื้อที่สำคัญอีกช่องทางสำคัญ ซึ่ง รัฐบาลจะต้องอนุญาต ให้เงินสกุลของเมียนมา(จ๊าต) และเงินสกุลของกัมพูชา( เรียล) เข้ามาใช้ในบริเวณจังหวัดชายแดนได้ ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องเร่งผลักเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง10แห่งเดินหน้าโดยเร็ว และเพื่อให้เกิดความคล่องตัวการจับจ่ายสะดวกในการค้า รัฐควรเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านขยายวงเงินการค้าชายแดน จาก 200 เหรียญสหรัฐเป็น 1,000 เหรียญสหรัฐ อีกทั้งการทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งควรมีต่อไป ในกรอบ ACMECS เป็นต้น

ส่วนยุทธศาสตร์ที่ 3 รัฐบาลจะต้องให้รถบรรทุกของประเทศเพื่อบ้านเข้ามาขนถ่ายสินค้าในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และเจรจากับเพื่อนบ้านอย่าง เมียนมา กัมพูชา และมาเลเซียน ให้มีการเดินรถทุกชนิดแบบทวิภาคีเช่นเดียวกับสปป.ลาว และการให้ทุกหน่วยงานปรับปรุงกฎระเบียบให้บูรณาการกันเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดน การค้าข้ามแดน และการท่องเที่ยวรวมถึงการอำนวยความสะดวกในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ทำการค้าชายแดนให้เร็วที่สุดเป็นต้น

เขายํ้าว่า ที่ผ่านมา ปัญหาใหญ่เกิดจาก รัฐบาลไม่เจรจากับประเทศเพื่อนบ้านทางออกต้องตั้งคณะทำงานขึ้นมาปฏิรูป บางอย่างของกระทรวงพาณิชย์กฎระเบียบที่ไม่เอื้อ ต้องแก้ไข จะช่วยแก้การหลบเลี่ยงการค้าใต้ดินมาบนดินได้ นั่นคือ1.เพิ่มกำลังซื้อ 2.ดพิ่มปริมาณการซื้อขายและ 3. อำนวยความสะดวก ตามยุทธศาสตร์ที่เอกชนขับเคลื่อนในขณะนี้

สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วน

เมื่อถามว่าอะไรที่หน่วยงานภาครัฐควรร่วมมือทำอย่างเร่งด่วน เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนให้มีปริมาณที่เพิ่มขึ้น นายนิยม ระบุว่า ต้องยอมรับการเจรจากับเพื่อนบ้านเราจะเอาเปรียบอย่างเดียวไม่ได้ ทางออกเร่งด่วน นั่นคือ ค้าชายแดนปัจจุบัน หากมีเงินติดตัวไม่เกิน 200 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 7,000 บาทไม่ต้องเสียภาษี แต่ ขอปรับเพิ่มเป็น1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หากเพิ่มเป็นแสนบาทได้ รับประกันว่า ระบบการค้าใต้ดินจะขึ้นมาค้าขายแบบถูกต้องทั้งหมด

แต่เราต้องยอมรับสินค้าที่เพื่อบ้านมีคือสินค้าเกษตรขณะที่ ภาครัฐของไทยยังปกป้องเกษตรกร เกรงว่า เพื่อนบ้านจะนำสินค้าเกษตรเข้ามาขาย ซึ่งมองว่า ควรเปิดให้สามารถนำเข้ามาภายในประเทศเราได้ แต่ต้องเสียภาษี ค่าปากระวาง 30% ซึ่งเป็นลักษณะคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งที่ไทยตกลงกับเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการบุกรุกป่า การปลูกข้าวโพดมันสำปะหลังของเกษตรกร ที่ทำให้เกิดปัญหาเขาหัวโล้น และปัจจุบันความต้องการ ภายในประเทศยังไม่เพียงพอ แต่ถ้าเรานำเข้ามาจากเพื่อนบ้าน

โดยไม่ต้องห่วงผลกระทบจากเกษตรกร ก็จะช่วยลดการทำลายป่าได้ ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรไม่ได้ร้องเรียนอะไร เพียงแต่ราคาที่พาณิชย์ตั้งให้เกษตรกรดีแค่ไหน ซึ่งทุกวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ห่วง ว่า หาก ปล่อยให้เพื่อนบ้านส่งข้าวโพดเข้ามา แล้วจะทำให้ ราคาในประเทศตก ซึ่งเรื่องนี้ นายนิยมมองว่า หาก สินค้าเกษตร ชนิดใดราคาตก ก็ควร นำพืชชนิดอื่นมาทดแทน เช่นข้าวโพดตกก็นำข้าวสาลีมาทดแทน

วิธีการทำอย่างไร

ขณะเดียวกัน ได้เสนอขอให้เพิ่มด่านถาวรโดยเฉพาะที่ อำเภอเชียงดาวจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีศักยภาพมาก และสามารถสู้กับสินค้าจีนได้ เพราะระยะทางสั้นเพียง 400-500 กิโลเมตร

สถิติการค้า

นายนิยมวิเคราะห์ว่า มูลค่าค้าชายแดน 4 ประเทศ ลาว กัมพูชา เมียนมา มาเลเซีย เดือนมกราคม-พฤษภาคม2559 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558เพิ่มขึ้นเพียง 3.38% ส่วนปี 2557 มูลค่าค้าชายแดน มูลค่ารวมทั้งปี 9.8 แสนล้านบาทปี 2558 ขยับเป็น 1 ล้านล้านบาทเพิ่มไม่ถึง 2% แต่ไตรมาส แรก 59 3.3%ขณะที่ ค้า CLMV ที่ประกอบด้วย เมียนมา ลาว กัมพูชา และ เวียดนาม ปรากฏว่า ตัวเลข 5 เดือนตั้งเดือน มกราคม-พฤษภาคม 2559 ไทยติดลบอยู่ที่ -3%ขณะที่ เวียดนาม ตัวเลขเป็นบวก อย่างไรก็ดีปีที่ผ่านมา มูลค่ารวมที่ได้ 1.4 ล้านล้านบาท เราค้ากับประเทศเพื่อนบ้านทุกรูปแบบ แยกเป็นค้าชายแดน 1 ล้านล้านบาท ค้าข้ามแดน อีก 4 แสนล้าน

อาทิ ส่งยางพาราลงเรือไปมาเลเซีย 2 แสนล้านบาท ไปลาว จีน เวียดนามอีกแสนล้านบาทเป็นต้น อย่างไรก็ดี หากไทยเราไม่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ไม่ทำศูนย์ขนถ่ายสินค้าภายในประเทศ เชื่อว่า อนาคตเพื่อนบ้านจะชิงเปิดเอง และมองว่าหากรัฐไม่ทำอะไรเลย เชื่อว่า อีก 3 ปีนับจากนี้ เราจะเสียเปรียบเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนาม สำหรับการเพิ่มช่องทางการค้าชายแดน นอกจากการส่งออกสินค้าแล้วรายได้ที่น่าจับตา คือ การท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเปิดด่าน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559