รัฐคาดความต้องการแรงงานพุ่ง จ้างเพิ่มกว่า 38 ล้านคนในปี 63

21 ก.ค. 2559 | 03:00 น.
ผลจากการปลดพนักงานซับคอนแทร็กต์กว่าพันคน ของค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่เมื่อเร็วๆนี้ ต่อด้วยกระแสข่าวลือตามมาเป็นระยะๆว่า อีกหลายบริษัทจ่อเลิกจ้างพนักงานเช่นเดียวกัน ขณะที่บางบริษัทโยกฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ได้สร้างแรงกระเพื่อมในกลุ่มผู้ใช้แรงงานอีกครั้ง

[caption id="attachment_73143" align="aligncenter" width="700"] ความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ 5 ปี (ตั้งแต่ปี 2560-2564) ความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ 5 ปี (ตั้งแต่ปี 2560-2564)[/caption]

อย่างไรก็ดี ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานได้รายงานประมาณการความต้องการกำลังคน 5 ปีข้างหน้า โดยประเมินภาพรวมความต้องการแรงงานประมาณการโดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติ ระหว่างปี 2558 -2568 พบว่า จากปีฐานในปี 2558 ประเทศไทยจะมีการจ้างงานทั้งสิ้น 37.83 ล้านคน และเพิ่มเป็น 38.79 ล้านคน ในปี 2563 และ 39.34 ล้านคนในปี 2568 ซึ่งสามารถแยกความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม ได้ดังนี้

1.อุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์ในระยะ 5 ปี คาดการณ์ความต้องการแรงงานสำหรับอุตสาหกรรมกลุ่มนี้จำนวน 6.62 ล้านคน โดยมีแรงงานที่ต้องผลิตเพิ่มในปี 2560-2564 เพื่อรองรับกับความต้องการในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จำนวน 171,185 คน แบ่งเป็น ตำแหน่งผู้ปฏิบัติงาน 151,959 คน เจ้าหน้าที่เทคนิค 8,187 คน และผู้จัดการ 6,475 คน โดยระดับผู้ปฏิบัติงานมีส่วนเพิ่มเฉลี่ยสูงที่สุด 89.65% ตามมาด้วย ช่างเทคนิค 4.83% และตำแหน่งผู้จัดการ 3.82%

2.อุตสาหกรรมยานยนต์ แบ่งเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มผู้ประกอบรถยนต์ คาดการณ์ความต้องการแรงงานในระยะ 5 ปีนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 16,037 คน แบ่งเป็น ระดับการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 3 –ต่ำกว่า จำนวน 5,463 คน ระดับปวช./ ปวส.จำนวน 7,562 คน และระดับปริญญาตรี จำนวน 3,012 คน เมื่อดูเนื้อในจะพบว่า ช่วง 5 ปีข้างหน้ากลุ่มผู้ประกอบรถยนต์ มีความต้องการแรงงานส่วนเพิ่มรวม 3 อันดับแรก คือ พนักงานทั่วไป (Operator) ช่างเทคนิค (Technician) และซูเปอร์ไวเซอร์ (Supervisor) ซึ่งมีระดับการศึกษา ปวช./ปวส.และ ม.3 หรือต่ำกว่า

ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ระดับที่ 1 (Tier 1) คาดการณ์ความต้องการแรงงานระยะ 5 ปีว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 49,686 คน เป็นแรงงานระดับการศึกษา ม.3 - ต่ำกว่า จำนวน 17,726 คน ระดับ ปวช./ปวส. 14,488 คน ระดับปริญญาตรี 14,937 คน ซึ่งตำแหน่งที่มีส่วนเพิ่มเฉลี่ยสูงสุด คือ การศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 - ต่ำกว่า ในตำแหน่งพนักงานทั่วไป (Operator) และ Team Leader คิดเป็น 40.8% ตามมาด้วย การศึกษาระดับปวช. ปวส. ตำแหน่งช่างกล ช่างยนต์ คิดเป็น 29.2% และการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ในตำแหน่งวิศวกรรมเครื่องกล/ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์/เมคคาโทรนิกส์ คิดเป็น 23.1%

อุตฯท่องเที่ยว/บริการใช้เกือบ 6 แสนคน

ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ คาดการณ์ความต้องการแรงงานในระยะ 5 ปีว่า มีจำนวน 597,810 คน โดยเป็นระดับการศึกษา มัธยมศึกษาปีที่ 6/ปวช./ปวส. รวม 583,611 คน และปริญญาตรี จำนวน 14,199 คน

นอกจากนี้ในรายงานคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา กลุ่มอาชีพปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ได้ประมาณการความต้องการกำลังคนในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมีระหว่างปี 2559-2563 ต้องการช่างเทคนิค ซึ่งมีการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. จำนวน 5,651 คน ซึ่งในส่วนของช่างเทคนิคกลุ่มสำรวจและปิโตรเคมี มีความต้องการเพิ่ม 7% ขณะที่ความต้องการกำลังคนระดับช่างเทคนิคกลุ่มปิโตรเคมี มีความต้องการเพิ่ม 2% ตรงข้ามกับกลุ่มกลั่นแยกและคลังน้ำมันที่ความต้องการช่างเทคนิคไม่เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด กลับเพิ่มในส่วนของการรับทดแทนของเดิม 3%

2 หมื่นคนรองรับโครงสร้างพื้นฐานฯ

ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) รายงานผลการศึกษาความต้องการกำลังคนระดับปฏิบัติการด้านระบบขนส่งทางราง โดยอ้างอิงจากต้นแบบการศึกษาของสถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2554 และสถิติจำนวนพนักงานและลูกจ้างเฉพาะงานประจำเดือนมิถุนายน 2557 โดยฝ่ายบุคลากร การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ระบุว่า

เมื่อโครงการลงทุนด้านระบบขนส่งทางรางแล้วเสร็จตามแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม จะมีความต้องการบุคลากรประมาณ 24,887 คน แบ่งเป็น ระดับปริญญาตรี จำนวน 9,125 คน และบุคลากรอื่นๆ 11,199 คน สามารถจำแนกตามสายอาชีพได้ดังนี้

วิศวกรควบคุมการเดินรถ และซ่อมบำรุงรักษา รวม 4,563 คน ช่างเทคนิคควบคุมการเดินรถ ซ่อมบำรุงรักษา และประจำสถานี จำนวน 9,125 คน ขณะที่การศึกษาในสาขาอื่นๆ นั้น ความต้องการสูงสุดไปอยู่ที่ พนักงานเดินรถ จำนวน 3,128 คน ตามด้วยพนักงานรถจักร 2,709 คน ช่างฝีมือจำนวน 2,611 คน และพนักงานขบวนรถ 1,090 คน

STEM ต้องการคนเพิ่มหลักแสน

ขณะที่ความต้องการกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ (science) เทคโนโลยี (technology) วิศวกรรมศาสาตร์ (engineering) คณิตศาสตร์ (mathematics) หรือ STEM มีความน่าสนใจไม่น้อย โดย สวทน.ได้มอบหมายให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำประมาณการกำลังคนด้าน STEM โดยกำหนดสมมุติฐานการคำนวณการเติบโตของอุตสาหกรรมและการเติบโตของจีดีพีที่แตกต่างกัน

สถานการณ์แรก อัตราการเติบโตของจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันได และอัตราเติบโตผลิตภาพแรงงานก้าวกระโดด 10% ในทุกประเภทอุตสาหกรรมตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ระหว่างปี 2557-2561 มีความต้องการกำลังคนด้านนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 211,989 คน ระดับการศึกษามัธยมและต่ำกว่า 13,914 คน ปวช./ปวส. 30,922 คน และปริญญาตรีขึ้นไป 167,155 คน และระหว่างปี 2561-2566 มีความต้องการเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 274,137 คน เป็นระดับการศึกษาระดับมัธยมและต่ำกว่า 22,387 คน ปวช./ปวส. 58,805 คน ปริญญาตรีขึ้นไป 192,944 คน และอื่นๆ 492 คน

สถานการณ์ที่ 2 คำนวณอัตราการเติบโตของจีดีพี จากข้อมูลในอดีตทุก 5 ปี ระหว่างปี 2557-2561 มีความต้องการกำลังคนด้าน STEM เพิ่มขึ้นประมาณ 160,574 คน เป็นระดับการศึกษาระดับมัธยมและต่ำกว่า 5,412 คน ปวช./ปวส. 22,717 คน และปริญญาตรีขึ้นไป 132,475 คน และระหว่างปี 2561-2566 มีความต้องการเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 168,919 คน เป็นระดับการศึกษาระดับมัธยมและต่ำกว่า 9,658 คน ปวช./ปวส. 46,009 คน และปริญญาตรีขึ้นไป 113,253 คน

คำถามคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถผลิตบุคลากรให้สอดรับกับความต้องการของอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,175 วันที่ 17 - 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2559