ธิติ พฤกษ์ชะอุ่ม 3 ผสาน ‘งาน-ดนตรี-ธรรมะ’

16 ก.ค. 2559 | 01:00 น.
ชื่อของ "แกรนด์สปอร์ต" เป็นที่รู้จักและคุ้นเคยของคนไทยมายาวนานกว่า 55 ปี ภายใต้การแข่งขันที่รุนแรง“แกรนด์สปอร์ต” ยังเดินหน้าและเป็นเบอร์ 1 ของชุดกีฬาไทยได้อย่างแข็งแกร่ง ภายใต้การนำของ “ธิติพฤกษ์ชะอุ่ม” กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด หนุ่มนักบริหารวัย 48 ปี แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า “ธิติ” ไม่ใช่เป็นเพียงนักธุรกิจ แต่เขายังเป็นนักกีฬาและนักร้องที่มีอัลบั้ม และเคยขึ้นเวทีใหญ่มานับครั้งไม่ถ้วน

"ธิติ" เล่าถึงเส้นทางก่อนเริ่มต้นก้าวเข้าสู่ "แกรนด์สปอร์ต" ว่า คุณพ่อ (กิจ พฤกษ์ชะอุ่ม) ส่งเสริมให้เล่นบาสเกตบอล รวมถึงกีฬาอื่นๆ ทั้งฟุตบอล สเกต ปิงปอง ว่ายน้ำ ตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก จนกระทั่งจบกรุงเทพคริสเตียน และมาต่อมัธยมต้นที่อัสสัมชัญ บางรัก ก่อนจะย้ายมาเรียนสายบริหารธุรกิจจนสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ตามที่ผู้ใหญ่เห็นสมควร แต่เมื่อเริ่มต้นก้าวแรกของการทำงาน "ธิติ" ขอเลือกเอง เพราะต้องการหาประสบการณ์ งานแรกจึงเริ่มต้นกับธุรกิจจิวเวลรีนาน 1 ปีก่อนที่จะกลับมาทำงานที่แกรนด์สปอร์ตเต็มตัว

"การเป็นทายาทของเจ้าของกิจการ ทำให้การทำงาน การบริหารจัดการยาก เพราะเป็นธุรกิจครอบครัว เป็นกงสี และไม่ใช่มีพ่อ เป็นเจ้าของคนเดียว มีคุณอาเป็นหุ้นส่วน ทุกคนมีลูกหลานทั้งหมด ก็ต้องอาศัยการอยู่ร่วมกัน ความยากคือการสร้างสมดุล ทำอย่างไรให้กลมกลืน พอทุกคนเป็นเจ้าของ ความต้องการก็มาจากหลายทาง ต้องบาลานซ์ให้ได้ ไม่ใช่ความคิดของแต่ละท่านไม่ดี ดีหมด แต่จะทำอย่างไร จะเลือกเอาอันไหนไปใช้ก่อน และเหมาะสมที่สุด"

งานแรกที่ผมเริ่มกับแกรนด์สปอร์ต คือ ฝ่ายจัดซื้อ ก่อนที่จะย้ายไปดูแบรนด์เสื้อผ้ากอล์ฟ ต่อมาก็โยกมาดูแลฝ่ายขาย ด้านผลิตภัณฑ์ ฝ่ายบุคคล การเงิน และช็อป เรียกว่า ผ่านมาทุกแผนก ซึ่งเหตุผลนี้คงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำสต๊อก ให้ผู้ใหญ่มองเห็น และเลือกให้เขามานั่งเก้าอี้ในตำแหน่งบริหารสูงสุด "กรรมการผู้จัดการ"

เพราะธุรกิจเกี่ยวข้องกับกีฬา ทำให้ "ธิติ" ตัดสินใจก้าวข้ามไปศึกษาต่อด้านสปอร์ต แมเนจเมนต์ ในระดับปริญญาโท เพื่อเสริมทักษะด้านการบริหารจัดการ และธุรกิจกีฬาที่กำลังเป็นที่นิยม จนเกิดลีกต่างๆ ในประเทศไทย

"การทำงานของผม แน่นอนว่ามีไอดอล คือ "คุณพ่อ" ในเรื่องของการบริหารจัดการ เพราะเราเห็นมาตลอด แต่ก็เรียนรู้หลายๆ เรื่อง เช่น ความซื่อสัตย์ ความอ่อนโยนจากคุณอา เครือญาติ รวมถึงทุกๆ คน เพราะบางคนเก่งเรื่องวิชาการ อีกมุมเป็นการเรียนรู้จากคนนอก โดยเฉพาะมุมด้านศิลปิน ซึ่งเราเจอทั้ง นักแต่งเพลง นักร้อง โปรดิวเซอร์เก่งๆ พวกนี้เขามีวิธีการดำรงชีวิตที่ดี เก่ง เราเอาข้อดีมาใช้ คนที่อยู่รายล้อมเรา รวมถึงพนักงาน เราสามารถเรียนรู้จากเขาได้หมด ทุกคนเป็นครูเรา"

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า "ธิติ" เป็นนักร้องมืออาชีพคนหนึ่ง เขา เล่าถึงเส้นทางบนสายดนตรีว่า เริ่มต้นจากการก้าวเข้าประกวดเวทีสยามกลการ ในปี 2536 ซึ่งจับผลัดจับผลู เพื่อนซื้อใบสมัครให้ และตลอดชีวิตตั้งแต่เด็ก ไม่เคยเรียนร้องเพลง แต่ด้วยความสามารถ และโอกาสในครั้งนั้น ก็ "แจ้งเกิด" หนุ่มน้อยวัย 25 ปี ให้ก้าวเข้าสู่วงการศิลปิน มีผลงานเพลง และร่วมร้องในอัลบั้มเดี่ยวของ "แอ๊ด คาราบาว" ก่อนที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของคอนเสิร์ต 25 ปีมนต์เพลงคาราบาว หนึ่งในตำนานเพลงเพื่อชีวิตของเมืองไทย

"จำได้ว่าในวัย 20 กว่าๆ ชีวิตกำลังสนุก ทำได้ทุกอย่าง เช้ามาทำงานที่แกรนด์สปอร์ต เย็นไปร้องเพลง ออกจากผับตี 1 - ตี 2 8โมงเช้าก็มาทำงาน ชีวิตกลางวัน ทำให้ได้เรียนรู้คนในสำนักงาน ส่วนชีวิตกลางคืน ก็ได้วิธีการเข้าสังคมอีกแบบ ไปฝึกความกล้าแสดงออก วิธีคิดในเชิงศิลปะ เพราะถ้าเราอยู่ตรงนี้ก็ได้แต่ความคิดของญาติพี่น้อง ซึ่งบางครั้งพูดอะไรบางอย่างไม่ได้ แต่อยู่ข้างนอกเราได้เทคนิค ได้ศิลปะบางอย่างเข้ามาใช้ เป็น 2 ขั้วที่แตกต่าง เป็นกลางวันกับกลางคืน เป็นวิทยาศาสตร์กับเป็นศิลปะ แต่ถ้าสามารถนำทั้ง 2 อย่างมาเบลนด์กันได้ ก็จะเกิดประโยชน์กับทั้ง 2 ฝ่าย เพราะในมุมของการจัดการแบบภาคกลางวัน ผมก็เอาศาสตร์ไปบริหารจัดการในภาคกลางคืนด้วย"

กว่า 20 ปีที่ทำงาน "ธิติ" ให้คะแนนตัวเอง คือ B เพราะเขาบอกว่า ผมผ่าน C มาแล้ว แต่ยังไม่ก้าวข้ามไปถึง A

สำหรับเขา "C" คือ พื้นฐานต่างๆ ที่เขาเชื่อว่าเขาสอบผ่าน เขาสามารถมองเห็นว่าคนที่เป็น C เป็นอย่างไร และช่วยเหลือเขาได้ แต่ "B" คือ สามารถคุยกับ A ได้ คุยกับ C ได้ เก่งในบางวิชา มีดีอยู่ แต่ไม่เด่นหรือไม่ด้อย เล่นกีฬาได้ ทำกิจกรรมได้ เพราะประสบการณ์ทั้งจากการเรียน การทำงาน ทำให้เขารู้ว่า "A" บางคนก็ไม่มีคนคบ แต่สำหรับ "ธิติ" เขาพอใจตรงนี้แล้ว

ชีวิตที่ผ่านมามากมาย ทั้งชีวิตของมนุษย์กลางวัน และมนุษย์กลางคืน ทั้งในวิธีโคจร และอโคจร มาถึง ณ เวลานี้ "ธิติ" เลือกที่จะปล่อยวาง หลังจากที่เผชิญปัญหามามากมาย เขาเลือกที่จะใช้ "ธรรมะ" มาช่วยบรรเทา

"วันนี้ผมมีไม้ต่อ ไม้ 2 ไม้ 3 คือ ลูกพี่ลูกน้องที่เริ่มเข้ามาสานงานต่อ แต่ถามว่าจะเกษียณเมื่อไร ยังตอบไม่ได้ ตราบใดที่ผมยังแฮปปี้กับการทำงาน เมื่อส่งไม้ต่อไปแล้ว ผมก็ไม่ต้องมานั่งเป็นห่วง ปล่อยให้เขาคิด เขาทำ ส่วนตอนนี้ผมยังบริหารอยู่ก็ทำให้เต็มที่ ขณะเดียวกันก็ต่อยอดทางธรรม เพราะผมเชื่อว่า หากคนที่ไม่เห็นหรือไม่เชื่อว่ามีชาติหน้า จะไม่ทำอะไรในชาตินี้ คือ คุณต้องเชื่อก่อนว่า ฝากเงินแล้วต้องได้ดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นการทำความดีคือการฝากเงิน เราเห็นหลายคนเกิดในครอบครัวดี แต่ทำไมถึงตกลงเรื่อยๆ เพราะคุณไม่ได้ทำเพิ่ม และสิ่งที่สั่งสมไว้มันกำลังหมดลง"

บั้นปลายของ “ธิติ” เขาบอกว่า อยากไปอยู่ต่างจังหวัด ทำเกษตรมีร้านอาหารมังสวิรัติขณะเดียวกันก็ร้องเพลงการกุศล บรรยายให้ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานคืนสู่สังคม พร้อมกับการปฏิบัติธรรม ก่อนจากกัน “ธิติ”ให้ข้อคิดเล็กๆ ว่า “อะไรที่หลุด หรือเละไปแล้ว ละทิ้งแล้วมาเริ่มตั้งต้นใหม่ง่ายๆ เหมือนตีกอล์ฟ หลุมนี้พังไปแล้ว ก็ปล่อยมันไป เริ่มต้นใหม่ จะคิดมากทำไม เอาสติมาอยู่กับเกม หรือแข่งวอลเลย์บอลเซตแรกพัง ก็ช่างมัน เริ่มใหม่เขาไม่ได้นับว่าคุณได้จำนวนเท่าไร แต่นับว่าคุณชนะกี่เซต งานเร่งด่วนเข้ามาถ้าจะเละก็เละงานนี้ไป แต่ถ้าคุณไม่ตั้งต้นใหม่ ก็ลากกันเละไปหมด”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,174 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559