แบรนด์‘ยักษ์ยิ้ม’ตอบโจทย์คน Plus sizeใส่แล้วมั่นใจ ดูดี

16 ก.ค. 2559 | 02:00 น.
"ยักษ์ยิ้ม" เป็นแบรนด์เสื้อผ้าชายไซซ์ใหญ่ที่เข้ามาตอบโจทย์ให้กับผู้ชายรูปร่างอ้วนหรือที่เรียกว่าหนุ่ม พลัสไซซ์ (Plus Size) ให้ดูดี มีความมั่นใจมากขึ้น เมื่อได้สวมใส่ เป็นสินค้าอีกแบรนด์ที่เกิดขึ้นในยุคแรกๆที่กระแสค้าขายผ่านออนไลน์กำลังเป็นที่กล่าวขานกันมาก

จึงเป็นจุดเกิดของ "ยักษ์ยิ้ม" โดยสาวร่างเล็กแต่ใจใหญ่ "เก่ง" พรพรรณ ธนสารสุทธิพงษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ยักษ์ยิ้ม กรุ๊ปฯ ที่ 5 ปีก่อนผันตัวเองจาก นักวิทยาศาสตร์ด้านเคมี ในบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่ง ย่านนวนครผลิตแผงวงจรไฟฟ้าชนิดอ่อนสำหรับป้อนโทรศัพท์มือถือ และกล้องดิจิตอลให้กับแบรนด์ดังในตลาดโลก เธอเป็นสาวโรงงาน 18 ปีเต็ม ก่อนเข้าโครงการสมัครใจลาออกในตำแหน่งสุดท้าย ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายผลิต ในภาวะที่บริษัทเผชิญวิกฤติน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี 2554

[caption id="attachment_71209" align="aligncenter" width="500"] พรพรรณ ธนสารสุทธิพงษ์ พรพรรณ ธนสารสุทธิพงษ์[/caption]

เมื่อมีเวลาทบทวนใจตัวเองมากขึ้น จึงค้นพบว่าต้องมาเป็นนายตัวเอง ทำงานฝีมือที่รักและถนัด เริ่มจากการถักกระเป๋าขายผ่านออนไลน์ ทำได้ระยะหนึ่งยังไปไม่ถึงฝัน เสียเวลาอยู่ 1 ปีเศษ จนได้แรงบันดาลใจจากเพื่อนชายที่มีรูปร่างอ้วนที่เพื่อนๆเรียกชื่อกันว่า "ไอ้ยักษ์" แนะนำให้ผลิตเสื้อผ้าผู้ชายไซซ์ใหญ่ สุดท้ายชวนกันร่วมทุนตั้งชื่อแบรนด์ของตัวเองว่า "ยักษ์ยิ้ม" ในปี2555 ภายใต้ชื่อ บริษัท ยักษ์ ยิ้ม กรุ๊ป จำกัด อยู่ย่านรังสิต ธัญบุรี ปทุมธานี

กระจายความเสี่ยงจ้างผลิตหลายรง.

ลองผิดลองถูกมาเรื่อยจนวันนี้อยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นเองทั้งหมด ทำทุกอย่างตั้งแต่หาผู้ผลิตเสื้อผ้าจากโรงงานเดียว จนกระทั่งกระจายความเสี่ยงโดยจ้างหลายโรงงานผลิต มีทั้งที่นครสวรรค์ บางบอน หนองแซม บางกะปิ โดยผ่านการดีไซน์จากบริษัท เริ่มต้นจากคำสั่งซื้อผ่านออนไลน์ที่มีไม่ถึง 10 ชิ้น ก็เริ่มได้รับเสียงตอบรับอย่างดีขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2557 จนยอดขายผ่านออนไลน์ในปี 2559 พุ่งขึ้นมาที่กว่า 1,000 ชิ้นต่อเดือน ผลิตตั้งแต่กางเกงชั้นในชาย เสื้อ กางเกงขาสั้น ยีนส์ขายาว เสื้อลำลอง เสื้อใส่ทำงาน เข็มขัด โดยมีฐานลูกค้าหลักอยู่ในพื้นที่กทม. 50% ที่เหลือกระจายอยู่ในต่างจังหวัดทั้งยะลา สงขลา เชียงใหม่ พัทยา โดยส่งสินค้าทางไปรษณีย์ ปลายทางจ่ายค่าขนส่ง เจาะฐานลูกค้าระดับกลางและค่อนไปทางตลาดบน

โดย "เก่ง" เล่าว่าช่วงระยะหลังๆมานี้ คู่แข่งขันเริ่มมีเกิดขึ้นมาก เราต้องปรับตัวผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ รูปแบบการดีไซน์ที่ทันสมัยมากขึ้น ยกระดับให้สินค้าดูดีเพื่อหนีตลาด เพราะเวลานี้ใครๆก็อยากขายของผ่านออนไลน์ โดยทุกตลาดในการทำธุรกิจของนักธุรกิจหน้าใหม่คือขายตัดราคากัน จึงค่อนข้างลำบากในการบริหารต้นทุนเพราะการขายผ่านออนไลน์ก็มีต้นทุนที่สูงขึ้นตามไปด้วย มีต้นทุนค่าโฆษณาในเฟซบุ๊ก ในกูเกิล ถือเป็นต้นทุนด้านการตลาด ที่ยังไม่รวมต้นทุนด้านการผลิตอีก

3 เป้าหมายดันยอดโต 100 ล้านบาท

นับจากนี้ไป "เก่ง" วางเป้าหมายไว้ 3 เรื่องหลักคือ 1. พัฒนาตัวสินค้าให้ดีขึ้นโดยปีนี้มีดีไซเนอร์มืออาชีพเป็นอาจารย์ชาวญี่ปุ่น มาจาก สถาบันออกแบบนานาชาติชนาพัฒน์ (CIDI Chanapatana) ซึ่งมีประสบการณ์ทำเสื้อผ้าแบรนด์นอกมาก่อน 2. ปรับและพัฒนาตัวสินค้าให้เข้ากับสรีระของผู้ชายรูปร่างอ้วนหรือหนุ่ม Plus Sizeให้มากขึ้น โดยการมุ่งเจาะฐานลูกค้าตลาดบน โดยจะเข้าถึงตัวฐานลูกค้ากลุ่มนี้ได้ จะต้องศึกษา เก็บข้อมูล จากลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เช่น จะต้องทำกิจกรรมร่วมกันกับลูกค้า ศึกษาพฤติกรรมลูกค้า เพื่อจะได้ตอบโจทย์ตรงกับความต้องการได้มากขึ้น ซึ่งฐานลูกค้ากลุ่มนี้จะมีราคาสินค้าที่สูงขึ้นเพียงเล็กน้อยหรือราว 10-20% เมื่อเทียบกับราคาปัจจุบัน 3. บริษัทมีแผนขายตรง โดยมีพนักงานขายวิ่งเจาะกลุ่มเป้าหมาย

"เก่ง" มองว่าการทำธุรกิจต้องมองที่ตัวลูกค้ามากกว่ามองที่คู่แข่ง หากยึดมั่นในคุณภาพที่เราผลิตก็จะทำให้สินค้าต่างจากคู่แข่ง ซึ่งขณะนี้ในตลาดจะมีคู่แข่งในแบรนด์เกิดใหม่มากขึ้น เราจึงต้องให้ความสำคัญกับ การตัดเย็บ ด้วยรูปแบบดีไซน์ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่สุด เพราะทุกวันนี้เชื่อว่า "คนเราก๊อบปี้ไอเดียไม่ได้ แต่อาจจะก๊อบปี้สินค้าได้และคงไม่มีใครมาคิดเหมือนเราได้ทั้ง 100%"

เธอยอมรับว่าธุรกิจเสื้อผ้าบิ๊กไซซ์ ไม่ใช่เป็นรายแรกในการเปิดตลาด เพียงแต่มองเห็นช่องทางการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์ให้ตรงกับคน Plus Sizeโดยเข้าไปนั่งในใจเขาได้จริงๆ ซึ่งตั้งเป้าว่าอีก 5 ปีนับจากนี้ไป เป้าหมายที่วางไว้จะช่วยดันให้ยอดขายโตถึง 100 ล้านบาทต่อปี

พร้อมกับกล่าวทิ้งท้ายว่าแม้คนทำเสื้อผ้าบิ๊กไซซ์หุ่นจะเล็ก แต่มีความตั้งใจจะทำเสื้อผ้าให้คนไซซ์ใหญ่ใส่แล้วมีความมั่นใจ ดูดีในแบบของเขาได้ หากสนใจสามารถติดต่อเข้าไปได้ที่ yakyim.com

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,174 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559