อังกฤษลดดอกเบี้ยลงอีกแน่

14 ก.ค. 2559 | 14:00 น.
เรื่อง Brexit ยังคงเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก และวันที่ 14 กรกฎาคมนี้ ธนาคารกลางประเทศอังกฤษจะมีการประชุมกันและเป็นที่คาดการณ์ว่า คงเป็นอะไรไม่ได้นอกจากจะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีก ซึ่งเตรียมวงเงินไว้รับมือแล้วประมาณ 2.5 หมื่นล้านปอนด์เพื่อการนี้ และหากลดดอกเบี้ยลงไปก็ยิ่งทำให้ค่าเงินปอนด์ที่ถดถอยลงไปอีก จากต้นปีค่าเงินปอนด์ลดไปประมาณ 10% และหลัง Brexit ได้ลดต่ำลงเพิ่มเติม ซึ่งแวดวงการเงินบอกว่าค่าเงินปอนด์หลังจาก Brexit จะลดค่าลงไปประมาณ 15 - 20% เลยทีเดียว

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผลของ Brexit ทำให้ความเสี่ยงของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษปั่นป่วน เพราะผู้คนแห่ถอนทำให้ 7 กองทุนต้องสั่งยุติการดำเนินการเป็นเวลา 28 วัน เพราะมีบางแห่งได้ขาดสภาพคล่องไปแล้ว บางแห่งยังถอนออกไม่หยุดจึงจำเป็นต้องยุติการดำเนินการเพื่อให้การไถ่ถอนยุติลงชั่วคราว ธนาคารกลางก็ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยใช้เงินไปประมาณ 2.5 หมื่นล้านปอนด์เช่นเดียวกัน

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ ความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษจะลดลงไปอีกแน่นอน การลงทุนทางด้านนี้อาจต้องขาดทุน และหมายถึงผู้ที่ลงทุนไปก่อนหน้าและไม่สามารถถอนออกไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบไปยังกองทุนต่างๆ ทั่วโลกที่เข้าไปลงทุนดังกล่าว จะว่าไปแล้วช่วงก่อนจะลงมติ Brexit หรือก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2559 อังกฤษถือว่าเป็นประเทศที่น่าลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์มากที่สุดประเทศหนึ่ง ทำให้อัตราค่าเช่าอาคารสำนักงานแพงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากฮ่องกง คืออัตราค่าเช่าสูงถึง 240 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตารางฟุต/ปี ขณะที่ฮ่องกงและปักกิ่งเป็นอันดับ 1 และ อันดับ 3 ตามลำดับ โดยอัตราค่าเช่าสำนักงานในฮ่องกงสูงถึง 262 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตารางฟุต/ปี และอันดับ 3 คือ ปักกิ่ง 199 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตารางฟุต/ปี

อังกฤษไม่ใช่ง่ายที่จะแก้ไขปัญหาค่าเงินปอนด์ตกต่ำ และขณะนี้เชื่อว่าคนที่เคยหนุนให้ออกจากสหภาพยุโรปก็ต้องร่วมชะตากรรมเดียวกันกับฝ่ายที่สนับสนุนให้อยู่กับสหภาพยุโรปต่อไป เผชิญหน้ากับปัญหาค่าเงินปอนด์ตกต่ำ แม้ว่าไอเอ็มเอฟพร้อมที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือก็ตาม แต่ปัญหาจะไม่สำเร็จลงโดยง่าย สมาชิกสหภาพยุโรปที่เหลือ 27 ประเทศก็ใช่ว่าจะแข็งแกร่ง เยอรมนีที่ว่ามีความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจมากที่สุดในกลุ่มสหภาพยุโรป ก็ต้องเผชิญปัญหาตึงมือเช่นกัน อีกหน่อยคงได้ข่าวจาก 3 ธนาคารใหญ่เยอรมนี ส่วนฝรั่งเศสและอิตาลีไม่ต้องพูดถึงเพราะอยู่ในสภาพที่ง่อนแง่นเต็มที โดยเฉพาะอิตาลีได้ออกปากให้สหภาพยุโรปอัดฉีดเงินช่วยเหลือรอบใหม่แล้ว

ปกติแล้วประเทศที่ค่าเงินตกต่ำเช่นนี้ย่อมเอื้อต่อการลงทุนสำหรับประเทศที่ได้เปรียบจากอัตราแลกเปลี่ยน จะมีการโอนเงินเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้น หรือเข้าไปลงทุนโดยตรง แต่สำหรับอังกฤษแล้วการที่กระบวนการถอดถอนออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปใช้เวลาดำเนินการไม่เกิน 2 ปี ย่อมส่งผลกระทบด้านศักยภาพการลงทุนอย่างแน่นอน เพราะนักลงทุนไม่แน่ใจในสถานการณ์ในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ย่อมโอนย้ายเงินไปลงทุนในประเทศที่เชื่อว่าปลอดภัยและได้ประโยชน์มากกว่า

มีคำถามว่านายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษจะดำเนินการตามมาตรา 50 โดยไม่ต้องมีการอภิปรายในสภาได้หรือไม่ (เกรงว่ารัฐสภาจะออกเสียงตรงกันข้ามกับเสียงประชามติ) เนื่องจากนายกรัฐมนตรีอังกฤษไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ในขณะที่สภาต่างหากที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และสภาล่างส่วนใหญ่ของอังกฤษไม่เห็นด้วยกับการออกจากสหภาพยุโรปมีคะแนนเสียงสนับสนุน 454 ต่อ 147 เสียง ขณะเดียวกันสมาชิกสภาสูงส่วนใหญ่ก็เห็นว่าควรอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไป บางคนก็คาดหวังว่ารัฐสภาจะลงมติให้อยู่ต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้วผมเชื่อว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่คงจะปฏิบัติตามเสียงประชามติ และรัฐสภาก็ต้องกลับคำทำตามประชามติที่ออกมาแล้วเช่นกัน นั่นก็หมายถึงว่า นายกรัฐมนตรีคงปล่อยให้มีการอภิปรายในรัฐสภาและดำเนินการตามมาตรา 50 โดยอัตโนมัติอังกฤษจะติด "กับดัก" ประชาธิปไตยไปอีกนาน และบทเรียนนี้ช่างเจ็บปวดแสนสาหัสจริงๆ

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,174 วันที่ 14 - 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2559