ทวีชัย ภูรีทิพย์ : ปั้นแอพ DeepPocket กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์

11 ก.ค. 2559 | 00:00 น.
แม้จะจบการศึกษาสาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) แต่ด้วยพื้นฐานของตรรกะทางความคิดที่ถูกหล่อหลอมด้านวิศวะ ทำให้ “ทวีชัย ภูรีทิพย์” ต่อยอดการเรียนรู้ไปสู่คณะบริหารจัดการธุรกิจ หรือเอ็มบีเอ ที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอที และได้พบเพื่อนจนกลายมาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ทีทูพี จำกัด (T2P) บริษัทสตาร์ตอัพ ที่น่าจับตา

[caption id="attachment_68991" align="aligncenter" width="335"] ทวีชัย ภูรีทิพย์ ทวีชัย ภูรีทิพย์[/caption]

“ทวีชัย” ในฐานะประธานบริหาร เล่าให้ฟังว่า ทีทูพี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 ประกอบธุรกิจให้บริการโซลูชันสำหรับการสร้างและรักษาฐานลูกค้าเพื่อองค์กร งานบริการ ได้แก่ โปรแกรม Loyalty บนบัตร และ Cash Card ให้กับองค์ต่างๆ ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 1 ล้านคน และให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรกว่า 1,500 ร้านค้าชั้นนำของประเทศ

จากความเป็นผู้นำในการให้บริการระดับประเทศ ผสมผสานกับประสบการณ์จากการทำงานเกี่ยวกับเกมออนไลน์ที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและไม่มีบัญชีธนาคารเป็นของตัวเอง ทำให้ไม่สามารถทำธุรกรรมออนไลน์ได้ ทีทูพี เลยเห็นโอกาสที่จะทำตลาดกับกลุ่มเป้าหมายกลุ่มนี้ จึงจุดประกายไอเดียของการใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-wallet ที่ไม่ได้มีไว้เพื่อเติมเงินสำหรับเกมออนไลน์เท่านั้น และใช้เวลาในการพัฒนาโปรแกรมกว่า 1 ปี จนกลายมาเป็นแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ชื่อว่า “DeepPocket” สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบ IOS และ Android

DeepPocket เกิดขึ้นจากการร่วมทุนกับกลุ่มเบญจจินดา ที่ประกอบธุรกิจให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ และกองทุน 500Tuktuks (500 ตุ๊กตุ๊ก) ซึ่งเป็นเครือข่ายของกลุ่ม 500 สตาร์ตอัพ จากสหรัฐอเมริกา ทั้ง 2 กลุ่มถือหุ้นในทีทูพี ประมาณ 1.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเกือบ 1 แสนราย (เปิดให้บริการ 6 เดือน ) โดยมีการทำธุรกรรมต่อเดือนเกิน 10 ล้านบาท
จุดเด่นของ DeepPocket อยู่ที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีบัญชีกับธนาคารแห่งใดเลย แต่สามารถนำเงินไปชำระสินค้าและบริการแทนเงินสดผ่านโทรศัพท์มือถือได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว เพียงแค่เติมเงินเข้าสู่ระบบผ่านทางเคาน์เตอร์ของร้านสะดวกซื้อ และช่องทางของธนาคาร โดยระบบจะดำเนินการให้ทั้งหมด เพียงแค่ผู้ใช้ยื่นให้เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการและชำระเงิน ยอดเงินก็จะเข้าสู่กระเป๋า DeepPocket ของผู้ใช้งานทันที และนำไปทำธุรกรรมออนไลน์ตามต้องการ โดย DeepPocket เปรียบเสมือนบัตรเครดิตที่ผู้ใช้งานสามารถนำตัวเลขนั้นไปกรอกและชำระเงินทำธุรกรรมได้

ส่วนเรื่องระบบความปลอดภัยนั้นเขาบอกว่า... ทีทูพี เป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้ใบอนุญาตของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะฉะนั้นจะมีมาตรฐานความปลอดภัยที่ต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งยังมีการตรวจสอบ โดยพยายามเจาะระบบจากภายนอกและภายในเป็นประจำทุกปี จากบุคคลภายนอกที่ถูกแต่งตั้งขึ้น นอกจากนี้อยู่ระหว่างการเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัยให้เป็นมาตรฐานโลก

“ทวีชัย “บอกว่า DeepPocket ยังเชื่อมโยงกับการทำธุรกรรมออนไลน์ และผู้ใช้สามารถมั่นใจในระบบความปลอดภัยได้อย่างเต็มที่ เพราะการทำธุรกรรมทุกครั้งระบบจะมีรหัสลับ 3 หลัก และจะเปลี่ยนทุกครั้งที่ทำรายการ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งาน ด้วยการมีพันธมิตร คือ ธนาคารธนชาต และมาสเตอร์การ์ด

สิ่งสำคัญที่ทำให้ DeepPocket แตกต่างจากบัญชีธนาคารตามปกติทั่วไป คือ ฟีเจอร์ที่พัฒนาขึ้นมาภายใต้ชื่อ “เฟรนด์แอนด์แฟมิลี่แชร์ลิ่ง” (Friend and family Sharing) ซึ่งผู้ใช้งานสามารถแบ่งปันเงิน หรือยืมเงินจากเพื่อนที่ยอมรับข้อตกลงในการแบ่งปันร่วมกันได้ โดยมีเงื่อนไขที่แต่ละคนจะให้เพื่อนยืมได้ไม่เกิน 50 บาท ซึ่งระบบจะดำเนินการจัดสรรให้ทั้งหมด

นอกจากนี้ในแอพพลิเคชันยังมีบริการอื่นๆ ที่เพิ่มเติมเข้ามา เพื่อให้ผู้ใช้งานสะดวกมากขึ้น เช่น สามารถใช้เงินในกระเป๋าของ DeepPocket ที่มีอยู่ซื้อบัตรเติมเงินโทรศัพท์ โดยปัจจุบันได้ประสานความร่วมมือกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)(บมจ.) หรือเอไอเอส เพื่อให้เติมเงินเข้าสู่โทรศัพท์มือถือระบบเติมเงินได้ โดยหักเงินจากในกระเป๋าของผู้ใช้งานเข้าสู่ระบบ และล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค และบมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ ทรู เพื่อให้บริการเติมเงินเข้าสู่โทรศัพท์มือถือ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้เร็วๆ นี้

ด้านรายได้ของทีทูพี หลักๆ จะมาจากการให้บริการกับลูกค้าองค์กรผ่าน Loyalty Card และ Cash Card ประมาณ 90% ส่วนอีก 10% มาจาก DeepPocket ที่เพิ่งเปิดให้บริการ โดยมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการใช้งานที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่บริษัทได้ทำข้อตกลงไว้กับพันธมิตรทางธุรกิจแต่ละแห่ง และในอนาคตรายได้ส่วนใหญ่ หรือประมาณ 95% จะมาจาก DeepPocket เนื่องจากเป็นแนวโน้มของการใช้งานในอนาคต อีกทั้งในส่วนของการให้บริการลูกค้าองค์กร ต้องใช้ระยะเวลานานกว่าจะเจรจากันสิ้นสุดในแต่ละโครงการ

“เชื่อว่า DeepPocket จะเติบโต 2-3 เท่าภายในปีนี้ และคาดว่าปี 2560 จะโชว์ตัวเลขเกิน 100 ล้านบาท เพราะการทำตลาดของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ยังมีโอกาสอีกมาก เนื่องจากจำนวนผู้ใช้งานปัจจุบันมีไม่ถึง 10% ของที่สามารถทำได้ ขณะที่รัฐบาลเองก็พยายามผลักดันระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์”

“ทวีชัย” ทิ้งท้ายถึงเป้าหมายสถานีต่อไปของ DeepPocket คือ การขยายฐานลูกค้าและบริการไปสู่กลุ่มของอี-คอมเมิร์ซ ทั่วไปให้มากขึ้น ขณะที่แผนระยะยาว คือ การขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยขณะนี้กำลังหารือพันธมิตรกลุ่ม CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) โฟกัสไปที่ผู้มีใบอนุญาตอยู่แล้วในประเทศนั้นๆ ส่วนทีทูพี มีหน้าที่นำเทคโนโลยี ระบบ องค์ความรู้ที่มีอยู่ไปใช้ ซึ่งจะช่วยให้เข้าไปทำธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว และเป้าหมายก็คือ..เป็นผู้นำในภูมิภาค

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,172 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559