BTS ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน เสริมโครงข่ายเดินทางกทม.ฝั่งตะวันตก

08 ก.ค. 2559 | 01:00 น.
โครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร ส่วนต่อขยายสายสีลม ตอนที่ 3 (บางหว้า–ตลิ่งชัน) อยู่ภายใต้การบริหารของกรุงเทพมหานคร(กทม.)โดยสำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.) เป็นเจ้าของโครงการอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันเพื่อเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกให้สมบูรณ์ โดยมีพื้นที่โครงการอยู่ในเขตตลิ่งชัน และเขตภาษีเจริญ รวมจำนวน 11 แขวง

[caption id="attachment_68243" align="aligncenter" width="700"] BTS ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน BTS ช่วงบางหว้า-ตลิ่งชัน[/caption]

พื้นที่ดังกล่าวนี้ปัจจุบันมีหมู่บ้านจัดสรร ศูนย์อาหารร้านค้ากระจายจำนวนมาก แต่พบว่ายังขาดระบบขนส่งมวลชนในการเชื่อมต่อการเดินทาง ทำให้ประชาชนต้องเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล จึงเกิดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนราชพฤกษ์ โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วนและวันหยุด หากมีสามารถสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสจากสถานีบางหว้าไปถึงตลิ่งชันก็จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในโซนพื้นที่นี้ได้เป็นอย่างดี

โดยจากผลการศึกษาได้กำหนดจุดเริ่มต้นบริเวณจุดเชื่อมต่อกับโรงจอดรถปัจจุบันของรถไฟฟ้าสายสีเขียว(บีทีเอส) ส่วนต่อขยายสายสีลมตอนที่ 2 (สะพานตากสิน–เพชรเกษม) ที่บริเวณบางหว้า แล้ววิ่งไปทางทิศเหนือตามแนวถนนราชพฤกษ์ โดยใช้พื้นที่เกาะกลางถนน มีความกว้างเกาะกลางประมาณ 5-5.5 เมตร ผ่านทางแยกตัดผ่านถนนบางแวก ซอยจรัญสนิทวงศ์ 13 ผ่านทางแยกตัดถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 จากนั้นจะยกระดับข้ามทางแยกตัดถนนบรมราชชนนี และยกระดับเพื่อข้ามทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ด้านตะวันตก ที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)กำลังก่อสร้างไปตามแนวเขตทางรถไฟสายใต้ ก่อนไปสิ้นสุดที่บริเวณปากทางเข้าซอยราชพฤกษ์ 24 ซึ่งในจุดนี้มีโครงการรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน)ให้เชื่อมโยงได้อีกด้วย มีจำนวน 6 สถานี ประกอบด้วย สถานีบางแวก สถานีบางเชือกหนัง สถานีบางพรม สถานีอินทราวาส สถานีบรมราชชนนี และสถานีตลิ่งชัน รวมระยะทาง 7.5 กิโลเมตร

เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 1.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค่างานโยธา จำนวน 1 หมื่นล้านบาท ค่าติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม จำนวน 3,019 ล้านบาท และค่าบริการทางวิศวกรรมจำนวน 698 ล้านบาท ซึ่งตามแผนหากเริ่มก่อสร้างในปี 2561 จะแล้วเสร็จในปี 2563 จากการคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในปี 2564 (ที่เปิดบริการ) จะมีกว่า 8.7 หมื่นคนต่อวัน

รถไฟฟ้าเส้นทางนี้คงจะช่วยบรรเทาการจราจรฝั่งธนบุรีและยังเปิดพื้นที่การพัฒนาเชิงพาณิชย์แห่งใหม่ได้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครโซนตะวันตก ส่วนในอนาคตหากรัฐบาลสนับสนุนสร้างส่วนต่อขยายไปเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ถนนรัตนาธิเบศร์ก็จะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางเชื่อมโยงด้วยรถไฟฟ้ากับจังหวัดนนทบุรีให้เป็นพื้นที่เดียวกันได้อย่างกลมกลืนมากยิ่งขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,172 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559