ปลดล็อก!รถคันแรก ดีเดย์16ก.ย.โอนได้1.1ล้านคัน/กระตุ้นซื้อรุ่นใหม่

07 ก.ค. 2559 | 01:00 น.
จับตาปลดล็อครถคันแรก 5 ปี 1.1 ล้านคัน ดีเดย์16 ก.ย.เปลี่ยนมือได้ รองประธาน ส.อ.ท.ประเมินผู้ประกอบการแห่เปิดตัวรุ่นใหม่กระตุ้นกำลังซื้อ ค่ายรถประสานเสียงตลาดเริ่มฟื้นตัวทั้งใหม่และมือสอง ชี้กลางปี 60 กระเพื่อมแรงเจ้าของขายรถเก่าเปลี่ยนคันใหม่

นโยบายรถคันแรกของรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 และสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 นั้น ถือเป็นอีกโครงการของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งเห็นได้จากภาพผู้ซื้อมายืนรอคอยเพื่อซื้อรถยนต์คันแรกในชีวิต ด้วยมูลเหตุจูงใจได้รับเงินภาษีคืนกันสูงสุดถึง1แสนบาทเลย ส่งผลให้บรรดาค่ายรถยนต์มียอดขายแบบก้าวกระโดดทันตาเห็น ขณะที่หลักเกณฑ์ที่ผู้ใช้สิทธิ์ต้องครอบครอบรถยนต์ห้ามโอนเปลี่ยนมือในระยะเวลา 5 ปีนั้นได้ฤกษ์ดีเดย์ 16 กันยายน 2559 นี้เริ่มเปลี่ยนมือได้แล้วทั้ง 1.1 ล้านคัน

จับตา"ค่ายรถ"แห่เปิดรุ่นใหม่

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า นโยบายรถคันแรก ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2554 ใกล้จะครบกำหนดเงื่อนไขห้ามเปลี่ยนมือภายใน 5 ปีแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังไม่ส่งผลโดยตรงกับตลาดรถยนต์มากนัก เนื่องจากช่วงเริ่มนโยบายรถคันแรก ไทยประสบกับอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ภาคกลาง ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนยานยนต์ในการประกอบรถยนต์ โรงงานส่วนใหญ่ต้องชะลอการผลิต ประกอบกับน้ำท่วมใหญ่เป็นเวลานาน ทำให้ผู้ประสบภัยชะลอการซื้อรถใหม่ ที่ยังขายได้จะเป็นภาคอื่นๆ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ไม่ประสบปัญหาน้ำท่วม

จองใช้สิทธิ์ 1.255 ล้านคัน

สำหรับตัวเลขโครงการรถคันแรก มีผู้จองใช้สิทธิ์ประมาณ 1.255 ล้านคัน แต่ใช้จริงประมาณ 1.1 ล้านคัน รถสามารถส่งมอบได้จริงประมาณกลางปี 2555 เมื่อผู้ใช้สิทธิ์ครอบครองรถนาน 5 ปี จึงสามารถเปลี่ยนมือได้ ดังนั้น กลางปี2560 ผู้เข้าร่วมโครงการส่วนหนึ่งจะเริ่มขายรถคันเดิม และซื้อรถคันใหม่ที่มีเทคโนโลยีมากกว่าเดิม ค่ายรถทุกรายจึงเตรียมเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ เพื่อมากระตุ้นกำลังการซื้ออย่างแน่นอน

"โครงการรถคันแรก มีผลดีตรงที่ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ยอดการผลิตปี 2556 ขยับขึ้นเป็นปีละกว่า 2 ล้านคัน ซึ่งสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก แต่หลังจากหมดโครงการ ความต้องการก็ลดลงตามไปด้วย สำหรับผลเสียนั้นก่อให้เกิดหนี้ครอบครัว จากการเช่าซื้อรถยนต์ถึง 80 % ของจีดีพี มีการเช่าซื้อรถยนต์สูงเกินล้านล้านบาทเป็นครั้งแรก ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่มีให้กำลังการซื้อของผู้บริโภคหดตัวลงทุกประเภทสินค้า นอกจากนี้ โครงการรถคันแรกยังเป็นการบิดเบือนตลาด จากปกติยอดขายในประเทศอยู่ที่ปีละ 8-9 แสนคัน ก็พุ่งเป็นปีละ 1.4 ล้านคันโรงงานประกอบต้องเร่งการผลิตเป็น 2-3 กะ พร้อมโอที"

เชื่อปลุกตลาดครึ่งปีหลังฉลุย

ทางด้าน นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ตลาดรถยนต์ครึ่งปีหลังน่าจะกระตื้องขึ้นกว่าครึ่งปีแรก กำลังเริ่มกลับคืนมา นอกจากนี้ ช่วงปลายปี ผู้ใช้สิทธิ์รถคันแรกจะครบเงื่อนไขครอบครอง 5 ปี สามารถเปลี่ยนมือได้ ซึ่งลูกค้าส่วนหนึ่งเริ่มเบื่อรถคันเก่าที่เริ่มต้องการการบำรุงรักษามากขึ้น ต้องการเปลี่ยนรถใหม่ที่มีเทคโนโลยีใหม่สดกว่า

ชี้รถคันแรกยังไม่เห็นผลทันที

ด้านนายประพัฒน์ เชยชม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส การตลาดและขาย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์รวมในปี 2559 คาดว่าจะมียอดขายประมาณ7.3 – 7.4 แสนคัน โดยมีปัจจัยที่จะต้องจับตามองคือ เม็ดเงินอัดฉีดจากรัฐบาลที่จะเข้ามายังโครงการต่างๆซึ่งหากมีความชัดเจนก็จะช่วยให้ภาพรวมอุตสาหกรรมฟื้นตัว แต่ในเบื้องต้นที่ยังไม่แน่ใจว่าเม็ดเงินจะเข้ามาตอนไหน ทำให้ตลาดจะยังทรงตัว ไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร

ขณะที่ปัจจัยเกี่ยวกับรถยนต์คันแรกที่จะครบเงื่อนไขการถือครอง 5 ปีในช่วงปลายปี คาดว่าจะยังไม่มีผลต่อตลาดรถใหม่ เพราะตอนเริ่มต้นโครงการคือเดือนกันยายน 2554 แต่ลูกค้าที่ตัดสินใจซื้อรถกันเป็นจำนวนมากอยู่ระหว่างเดือนมีนาคม- เมษายน 2555 ดังนั้นจึงประเมินว่าผลจากโครงการนี้จะเห็นชัดในช่วง มีนาคม- เมษายน 2560

"ตลาดรถยนต์ในครึ่งปีหลัง สามารถประเมินได้หลายแบบ เนื่องจากมีหลายปัจจัยทั้งบวกและลบไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน ,ฝนที่ตกลงมาทำให้ช่วยให้ปัญหาภัยแล้งดีขึ้น ,ราคาพืชผลทางการเกษตรที่เริ่มปรับตัว ส่วนปัจจัยเสี่ยงก็เป็นเรื่องความไม่มั่นใจ,ดัชนีผู้บริโภค,กำลังซื้อต่างๆซึ่งในแง่ของบริษัทรถยนต์ก็มีการประเมินตลาดเพื่อจะดูว่าเซกเมนต์ไหนที่มีโอกาส ที่จะขายได้ หรือเซกเมนต์ไหนที่ไม่มีโอกาส โดยเบื้องต้นเราก็ยังมองว่ารถปิกอัพและรถขนาดเล็กหรืออีโคคาร์ยังขายได้และเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่"

นิสสันตั้งเป้า 5 หมื่นคันปี 59

นายประพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการปรับตัวของแต่ละบริษัทในช่วงครึ่งปีหลัง จะเห็นว่าการเปิดตัวรถใหม่ที่เป็นโมเดลแม่เหล็กยังน้อย แต่การใช้กลยุทธ์ผ่านโปรโมชันยังมีความรุนแรง ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่าย ซึ่งนิสสันได้ก็ได้มีการทำโปรโมชัน อาทิ Nissan Happy Deal ที่มอบเงื่อนไขดาวน์ต่ำ หรือ อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้นที่ 0% หรือ ฟรีประกันภัยชั้นหนึ่ง Nissan Premium Protection 1 ปีโดยนิสสันได้ตั้งเป้าหมายยอดขายในปีงบประมาณ 2559 ไว้ที่ 5 หมื่นคัน หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด 7 % เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ทำได้ 6.6%

"เป้าหมายที่วางไว้ยังต้องมีการจับตามองจากปัจจัยต่างๆอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจ ,การเมือง ,กำลังซื้อของผู้บริโภค,การปรับตัวของคู่แข่ง ,ผลิตภัณฑ์ต่างๆและความเชื่อมั่นต่างๆ"

ดีลเลอร์รับลูกตลาดโต

นายเกียรติ ตั้งตรงศักดิ์ ประธานกรรมการ บริษัท พระราม 3 กรุ๊ป ฮอนด้า เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3 ภาพรวมเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้น และมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐประกอบกับเป็นฤดูกาลขายรถ ทำให้มั่นใจว่าช่วงไตรมาส 3 และ 4 จะมียอดขายดีกว่าต้นปี โดยประเมินว่ายอดขายรถยนต์รวมของทั้งอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 7.5 – 7.6 แสนคัน ขณะที่ยอดขายของบริษัทที่ตั้งเป้าหมายไว้อยู่ที่ 7,800คัน เพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่ขายได้ 7,500 คัน

"ยอดขายในครึ่งปีแรกชะลอตัวเล็กน้อย ซึ่งบริษัทพยายามจัดกลยุทธ์ทางการตลาดทั้งการทำโปรโมชัน อาทิ แจกทอง 20 บาท มีการจัดกิจกรรมกับลูกค้าทุกเดือน ,มีการคืนกำไรให้กับสังคมผ่านกิจกรรมซีเอสอาร์ และการให้ความสำคัญกับการบริการหลังการขาย ดังจะเห็นจากที่เราลงทุนกว่า 350 ล้านบาทสร้างอู่ซ่อมสีและตัวถัง รวมทั้งยังเป็นศูนย์ติดตั้งอุปกรณ์เสริมมาตรฐานเหมือนโรงงาน และ ยังเป็นพื้นที่สำหรับจอดรถ ที่สามารถส่งมอบได้กว่าเดือนละ 2,000 คัน "

นายเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนงานที่กำลังเตรียมไว้รองรับกับการเติบโตคือ ขยายสาขาใหม่อีก 1 แห่ง จากปัจจุบันที่มีจำนวน 7สาขากระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯปริมณฑล นอกจากนั้นแล้วยังเตรียมรีโนเวทสาขาสาธุประดิษฐ์ คาดว่าจะใช้เม็ดเงิน 50 ล้านบาท

ตลาดประมูล-มือสองขยับราคา

นายเชาวลิต กาญจนนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น(ไทยแลนด์)จำกัด ศูนย์ประมูลรถยนต์มือสองครบวงจร ได้มาตรฐานสากล ธุรกิจในเครือเอ็ม บี เค กรุ๊ป เปิดเผยว่า ธุรกิจประมูลรถยนต์ตั้งแต่ปี 2556 ถึงปี 2558 มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ซึ่งปัจจัยที่มีผลคือโครงการรถคันแรกที่ทำให้รถเข้ามาในตลาดเป็นจำนวนมากและเกิดผู้ประกอบการหน้าใหม่ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปี 2558 รถยนต์ต่างๆเริ่มเข้าสู่ระบบน้อยลง และเห็นเด่นชัดมากขึ้นในปี 2559 โดยประเมินว่าจำนวนรถที่เข้ามาสู่ธุรกิจประมูลลดลงกว่า 30 – 40 %

"สถานการณ์ตลาดทั้งรถใหม่ – รถมือสองตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีการชะลอตัว แต่ในกลุ่มรถใหม่จะได้รับผลกระทบมากกว่าเพราะไฟแนนซ์มีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อกลุ่มรถใหม่มากขึ้น ส่วนในกลุ่มรถมือสอง เนื่องจากมีรถเข้ามาในธุรกิจประมูลน้อยลง ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น และไฟแนนซ์มีการจับมือกับกลุ่มรถมือสอง ทำให้ตลาดรถมือสองกระเตื้องขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา"

นายเชาวลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ครึ่งปีหลังสถานการณ์ตลาดของรถมือสองและธุรกิจประมูลน่าจะดีขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก โดยต้องจับตามองปัจจัยต่างๆไม่ว่าจะเป็น ภาคเศรษฐกิจ ภาคการเกษตร การผ่อนคลายความเข้มงวดของสถาบันการเงิน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,172 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559