โรงฆ่าสัตว์เพื่อ SMEs ต้องมี l โอฬาร สุขเกษม

07 ก.ค. 2559 | 05:07 น.
โรงฆ่าสัตว์โดยทั่วไปแล้วเมืองไทยพัฒนามานาน นานจนกระทั่งทุกวันนี้เราพบเห็นโรงฆ่าสัตว์กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท โรงฆ่าสัตว์ดำเนินการโดยรัฐกับโรงฆ่าสัตว์ที่ทันสมัยโดยการลงทุนของภาคเอกชน แต่ระดับ “บ้านๆ” เราจะเห็นแอบลักลอบฆ่าชำแหละสัตว์เพื่อการจำหน่ายก็มีพบเห็นแทบทุกท้องที่ เพราะแอบชำแหละไม่ต้องเสียค่าอาชญาบัตรไม่ต้องทำตามเกณฑ์สุขลักษณะแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ก็มีข่าวโรงฆ่าสัตว์เถื่อนอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี 2 ราย ก่อนหน้านี้ก็บุกจับโรงฆ่าสัตว์ที่จังหวัดสกลนคร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น

สมัยผมเป็นนักศึกษาเคยไปทำงานอยู่ต่างจังหวัดแห่งหนึ่งแถวภาคตะวันออก ที่จังหวัดก็มีโรงฆ่าสัตว์และผมก็เคยตามเจ้าหน้าที่ไปดู ตั้งแต่การเชือดสุกร การชำแหละและล้างซากสุกร วิธีการก็ไม่ยาก มีดคมๆ น้ำล้าง(ไม่รู้ผสมอะไรคล้ายเป็นผงซักฟอก) และใช้เท้าปาดไปที่ซากสุกรที่ผ่าแบ่งออกเป็น 2 ซีกแล้ว แล้วเฉือนและสับเป็นชิ้นโตๆ  ตอนเด็กกว่านั่นก็เคยเห็นชาวบ้านลักลอบฆ่าควายเหมือนกัน มีดยาวๆ ประมาณ 1 ศอก ใช้มือลูบๆ แถวๆ ซอกไหล่ควาย จากนั้นก็ตบด้ามมีดจนจมมิด ควายแทบไม่ดิ้น พักเดียวลมหายใจก็แผ่วเบาและก็สิ้นลมไปในที่สุด

ยุค พ.ศ. นี้ ปรากฏว่าการฆ่าสัตว์แบบเถื่อนๆ ก็ยังมีปรากฏ ไม่อยากเชื่อเลยว่าประเทศไทยตั้งเป้าเป็นแหล่งผลิตอาหารโลก เรามีการยกมาตรฐานการฆ่าสัตว์เอาไว้แล้วให้สอดคล้องกับมาตรฐานโลก จะยังมีคนที่ทำอะไรสุกเอาเผากินกันแบบนี้อยู่ ยิ่งปัจจุบันกรมปศุสัตว์ก็มีแผนยุทธการสินค้าเกษตรปลอดภัยอยู่ ก็ทำการปราบปรามโรงฆ่าสัตว์เถื่อนอยู่ไม่เว้นในแต่ละเดือน ก็ไม่วายจะเจอกับคนลักลอบฆ่าสัตว์เถื่อน

ก็รู้ทั้งรู้ว่า เรายกระดับให้ได้มาตรฐานเพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทย และเพื่อความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติ  และควรจะรู้ว่าเนื้อสัตว์ที่มาจากโรงฆ่าสัตว์ที่ไม่ได้รับอนุญาต มีความเสี่ยงอย่างมากในการนำเชื้อโรคระบาดที่สามารถติดต่อสู่คนได้ เช่น โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โรคแท้งติดต่อ โรควัณโรค โรคฉี่หนู อีกทั้งยังเป็นแหล่งแพร่กระจายโรคระบาดสัตว์ เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย รวมถึงอันตรายจากสารตกค้าง เช่น สารเร่งเนื้อแดง และเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคโดยตรง และอาจทำให้เจ็บป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
คนทำความผิดและถูกจับได้ก็มีความผิดไม่ใช่น้อย คือ มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์และ จำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535 มีโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 5,000 บาท และอีกส่วนหนึ่งจะปรับเป็นรายตัว ตัวละ 2,500 บาท เป็นต้น

โรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมายนั้นเป็นอย่างไร ความจริงก็ไม่มีอะไรมาก คือ ต้องได้การรับรอง มาตรฐานไว้ 6 อย่างตั้งแต่ ต้องมีสถานที่ตั้ง ต้องมีโรงพักสัตว์ ต้องโครงสร้างอาคารฆ่าสัตว์ ต้องมีเครื่องมือ เครื่องจักร และ อุปกรณ์ ต้องมีการจัดการและการควบคุมสุขลักษณะ และต้องมีระบบนำบัดน้ำเสีย เพื่อความสะอาดและเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค และโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมายจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์ และ จำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2535  ซึ่งล่าสุดก็จะมีพระราชบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาใหม่ และกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในบางประเด็น เพราะคนวิพากษ์วิจารณ์เคยเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนั่นเอง

คุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พูดในเวทีหนึ่งเมื่อสัปดาห์ปลายเดือนมิถุนายน 2559 ว่า (ข้อความบางตอนจากมติชนออนไลน์ 30 มิถุนายน 2559) ขณะนี้กำลังจะมีการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. ….. โดยเจตนารมณ์และสาระสำคัญก็คือต้องการพัฒนาโรงฆ่าสัตว์ให้ได้มาตรฐานและสร้างความปลอดภัยด้านอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ถูกสุขอนามัย ไม่มีโรคและสารตกค้างในเนื้อสัตว์ แต่(ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับมีการทำตารางแนบท้ายให้มีการเก็บค่าอากรและค่าธรรมเนียมจำหน่ายเนื้อสัตว์ ซึ่งคาดเดาได้ว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทย ที่เป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้สู่ประเทศชาติปีละหลายแสนล้านบาทด้วย

อันที่จริง (ร่าง) พ.ร.บ.ดังกล่าวนับว่ามีเจตนารมณ์ที่ดีเพื่อการยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคมุ่งหวังให้มีการลดการใช้โรงฆ่าสัตว์เถื่อน และหันไปใช้บริการโรงฆ่าสัตว์มาตรฐานที่มีสุขอนามัยที่ดี แต่การที่มีการเก็บค่าอากรและค่าธรรมเนียมจำหน่ายเนื้อสัตว์ดังกล่าว เป็นการขัดแย้งกันในตัว เพราะการเก็บค่าอากรและค่าธรรมเนียมต่างๆ ส่งผลให้มีการฆ่าเถื่อนกันมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียอากร ดังจะเห็นได้จาก กลุ่มสุกรและวัวควาย ที่มีการเก็บค่าอากรกันอยู่ในปัจจุบัน มีการฆ่าเถื่อนกันมาก แต่หากเปรียบเทียบกับสัตว์ปีกขนาดเล็ก เช่น ไก่เนื้อหรือเป็ด ที่ส่วนใหญ่มีการฆ่าในโรงฆ่ามาตรฐาน เพราะปัจจุบันไม่มีการเก็บค่าอากรต่างๆ จึงไม่มีต้องหลบเลี่ยง

ที่ผ่านมาทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตสัตว์ปีกของไทยไม่ว่าจะเป็นไก่หรือเป็ด ต่างก็ทุ่มเทงบประมาณลงทุนด้านความปลอดภัยอาหาร การป้องกันโรคและการตรวจสารตกค้างรวมถึงมาตรฐานสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ส่งผลให้กระบวนการผลิตสัตว์ปีกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานอาหารปลอดภัยในระดับสากล ประชาชนในประเทศจึงได้ประโยชน์จากบริโภคอาหารโปรตีนชั้นดีในราคาที่ลดลง ซึ่งเป็นการช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชนอีกทางหนึ่ง

ด้านภาครัฐเองก็มีความเข้าใจและต้องการให้คนไทยมีอาหารปลอดภัยรับประทาน รวมถึงสนับสนุนให้อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก จึงยกเว้นการเก็บค่าอากรและค่าธรรมเนียมจำหน่ายเนื้อสัตว์มาโดยตลอด กระทั่งอุตสาหกรรมไก่เนื้อไทยได้รับความเชื่อมั่นจากนานาประเทศ กลายเป็นผู้ส่งออกอันดับ 4 ของโลก

การตั้งใจเรียกเก็บอากรและค่าธรรมเนียมฯ กับสัตว์ปีก ไก่และเป็ดด้วยนั้น ไม่ว่าจะเรียกเก็บในอัตราใดย่อมส่งผลลัพธ์ที่สวนทางต่อเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ. กล่าวคือ จะทำให้มีการลักลอบฆ่าสัตว์นอกโรงฆ่าสัตว์มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระอากรและค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงต่อการบริโภคเนื้อสัตว์ปีกที่ไม่ถูกสุขอนามัย และเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด โดยเฉพาะไข้หวัดนกที่หากกลับมาระบาดซ้ำอีกจะเรียกว่าได้ไม่คุ้มเสีย สาหัสกันทั้งประเทศแน่นอน

การยกเว้นการเก็บค่าอากรและค่าธรรมเนียมฯ ในอุตสาหกรรมไก่และเป็ดตลอดช่วงที่ผ่านมา มีส่วนทำให้ไก่และเป็ดของไทยแข่งขันได้ในเวทีโลก หากมีการค่าเก็บอากรและค่าธรรมเนียมขึ้นมาในช่วงรัฐบาลนี้ ย่อมส่งผลให้อุตสาหกรรมไก่และเป็ดของไทยมีต้นทุนส่งออกที่สูงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันกับบราซิล สหรัฐ และประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ ย่อมลดน้อยถอยลง … นี่คงเป็นตัวอย่างหนึ่งของกฎระเบียบที่มากเกินไปและทำให้เกิดต้นทุน 10-15% ของจีดีพีประเทศ สุดท้าย ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้จะถูกผลักดันให้ราคาเนื้อไก่สูงขึ้นและผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบจากการซื้อเนื้อไก่ที่แพงขึ้นแน่นอน

การเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดขึ้นทุกวัน การปรับตัวให้ทันโลกทันการเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอดของประเทศก็เป็นสิ่งจำเป็น บทบาทของรัฐควรเป็นผู้สนับสนุนให้ประเทศสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ “นโยบายรัฐ” จึงเป็นตัวแปรที่ช่วยจะลดอุปสรรคทางการค้าให้ประเทศเดินหน้าต่อ… ไม่ใช่ร่างขึ้นมาเพื่อเป็นอุปสรรคของประเทศชาติเสียเอง

ผมเห็นด้วยตามความเห็นแย้งของอดีตผู้ว่า ธปท.ท่านนี้ และเห็นว่าโรงฆ่าสัตว์ควรปฏิรูปโรงฆ่าสัตว์เดิมที่มีอยู่เสียใหม่ให้ได้มาตรฐานสากล ไม่ว่าขนาดโรงฆ่าสัตว์จะเล็กหรือใหญ่แค่ไหนก็ตามให้มีมาตรฐานเดียว และ “ขอร้อง” ให้โรงฆ่าสัตว์เปิดรับฆ่ากระบือ ฆ่าโคหรือสุกร ตั้งแต่ 1 ตัวขึ้นไป และพร้อมที่จะออกใบรับรองพันธุ์สัตว์ที่ฆ่าให้ด้วย เหตุผลของเรื่องนี้ง่ายมาก ไม่มีอะไรซับซ้อน เป็นการเปิดช่องสำหรับกลุ่มกสิกรที่เลี้ยงวัวพันธุ์พิเศษ หรือเลี้ยงสุกรกรพันธุ์พิเศษ จะได้ส่งเข้าโรงเชือดอย่างถูกกฎหมาย และได้รับใบรับรองเพื่อการจำหน่าย เป็นต้นว่า “พันธุ์คุโรบุตะ” ที่เป็นที่นิยมในเวลานี้มีหลายพื้นที่กำลังพัฒนาการเลี้ยงอย่างมาก เขาต้องการให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าชิ้นเนื้อที่ซื้อไปนั้นเป็นเนื้อชนิดพิเศษจริงๆ และคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไป เป็นการป้องกันการปลอมเนื้อหมูหรือหลอกจำหน่ายให้ผู้บริโภค

อีกอย่างโรงฆ่าสัตว์มาตรฐาน อาทิ ปากช่อง จังหวัดสระบุรีของเอกชนเขาจะรับจ้างเชือดสุกรให้แต่ต้องมีตั้งแต่ 8 ตัวขึ้นไป ครับ ต่ำกว่านี้เขาไม่รับ และไม่ว่าสัตว์ที่จะเชือดจะพิเศษแค่ไหนก็ตาม เขาไม่สามารถออกใบรับรองให้ได้  ...นี่ก็เป็นประเด็นที่จะต้องพิจารณาครับ เพราะหาเปิดให้ดำเนินการตามว่ามานี้ ทั้งโรงฆ่าสัตว์ของรัฐ เทศบาล หรือของเอกชน ก็มีส่วนช่วยส่งเสริมให้กลุ่มผู้เลี้ยงแบบ SMEs มีการพัฒนาพันธุ์สัตว์ต่อไปได้ และจะมีอนาคตทางการตลาดได้จริงๆ ครับ