เงินเฟ้อครึ่งปีติดลบ0.09%ขยับคาดการณ์ทั้งปีใหม่

06 ก.ค. 2559 | 00:30 น.
เงินเฟ้อครึ่งปีแรกติดลบ 0.09% พาณิชย์มั่นใจไตรมาส 3 มีแนวโน้มขยายตัว หลังราคาน้ำมันทรงตัวและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ คาดทั้งปีขยายตัวเป็นบวกในกรอบ 0-1% แต่อาจทบทวนตัวเลขอีกครั้งในเดือนสิงหาคม ส่วนเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนล่าสุดขยายตัว 0.38% ดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) เปิดเผยถึง ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศหรือเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนพบว่าเท่ากับ 107.05 โดยขยายตัว 0.38 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 แต่ชะลอตัวลงจากเดือนที่ผ่านมา จากการปรับขึ้นของราคาผักสดและผลไม้ ที่ปรับขึ้นถึง 12.31% รวมไปถึงราคาเนื้อสัตว์สูงขึ้น 3.04 %ไข่ไก่ สูงขึ้น 3.07 % และอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง จากผลกระทบภัยแล้ง

ขณะที่จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศ จำนวน 450 รายการ พบว่า มีสินค้าปรับตัวสูงขึ้นถึง 147 รายการ เช่น เนื้อหมู ไข่ไก่ และกะหล่ำปลี เป็นต้น ส่วนราคาสินค้าที่ยังทรงตัวมี 188 รายการ และลดลง 115 รายการ ส่งผลให้ในครึ่งปีแรก(ม.ค.-มิ.ย.)อัตราเงินเฟ้อ ยังคงติดลบ 0.09%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งยังคงได้รับอิทธิพลมาจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการในหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารเป็นอันดับแรกๆเมือเทียบกับหมวดอื่นๆ-3.44%

“ช่วง 6 เดือน แรก เงินเฟ้อยังติดลบที่ 0.09% แต่คาดในครึ่งปีหลังเงินเฟ้อน่าจะปรับตัวสูงขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการใช้จ่ายของครัวเรือนโดยสนค.ตั้งเป้าเงินเฟ้อทั้งปีที่ 0.0-1% ทั้งนี้เทียบเงินเฟ้อช่วงเดียวกันของปีก่อนเงินเฟ้อเดือนมกราคมปี 2559 อยู่ที่ -0.53% กุมภาพันธ์ อยู่ที่ -0.50% มีนาคม อยู่ที่-0.46% เมษายน อยู่ที่+0.07% พฤษภาคม อยู่ที่+0.46% และมิถุนายน อยู่ที่+0.38% ในขณะที่เงินเฟ้อช่วงเดียวกันของปี2558 ก็ติดลบต่อเนื่อง 6 เดือน โดยเดือนมกราคม -0.41% กุมภาพันธ์ -0.52% มีนาคม -0.57% เมษายน -1.04% พฤษภาคม -1.27% และมิถุนายน -1.07% สาเหตุเพราะเศรษฐกิจต้นปีก่อนอยู่ในภาวะซบเซากว่าปีนี้ทำให้คนไม่จับจ่ายใช้สอย”

สำหรับยทิศทางอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสที่ 3 น่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำมันเริ่มทรงตัว รวมทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะส่วนผลดีต่อการใช้จ่ายภาคครัวเรือน ดังนั้นทางกระทรวงยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของปี 2559 จะขยายตัวเป็นบวกในกรอบ 0-1% ตามเดิม แต่จะมีการทบทวนตัวเลขอีกครั้งในเดือนสิงหาคมนี้

อย่างไรก็ตามในครึ่งปีหลังยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อเช่นสถานการณ์ภัยแล้งซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาพืชผลและผักสด โรคระบาดในปศุสัตว์ในบางพื้นที่ของภาคใต้ รวมไปถึงการลงประชามติออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษซึ่งจะส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศและรายได้จากการส่งออกต่อเนื่องไปถึงรายได้ภาคครัวเรือน แต่ยังมีปัจจัยบวก เช่น ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเข้าสูงขึ้นและอุปสงค์เริ่มสูงขึ้นในครึ่งปีหลัง รวมถึงภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือนมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559