ญี่ปุ่นสนร่วมทุนศูนย์พหลฯ หนุนรถไฟไทยใช้มาตรา 44 เคลียร์พื้นที่กว่า2พันไร่

04 ก.ค. 2559 | 03:00 น.
ญี่ปุ่นแบไต๋สนใจร่วมทุนพีพีพี 20% พร้อมส่งไจก้าบุกหารือบิ๊กสนข.แสดงความสนใจจัดทำมาสเตอร์แพลนผังการพัฒนาพื้นที่ศูนย์พหลโยธินให้ฟรี ล่าสุดหนุนร.ฟ.ท.เสนอมาตรา 44 เคลียร์พื้นที่ 2,325 ไร่ ก่อนจัดเป็นผังเมืองเฉพาะเสนอสนข.ชงคมนาคมเร่งส่งมอบร.ฟ.ท.รับไปพัฒนาให้ทันเปิดใช้บริการสถานีกลางบางซื่อ

นางสุภาพรรณ สง่าศรี ผู้จัดการโครงการ ศึกษาการพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธินและการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ภายหลังการเปิดรับฟังความเห็นโครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธินและการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม ครบ 2 ครั้งแล้ว จะเร่งสรุปรายละเอียดนำเสนอสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมส่งมอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) รับไปดำเนินการให้ทันเปิดบริการสถานีกลางบางซื่อในอีก 3-4 ปีนี้ โดยแบ่งการพัฒนาย่อยออกเป็น 1. โครงการทางเดินเชื่อมต่อและการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ (แปลง D) และ 2. โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง (BRT)

โดยโครงการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมต่อในพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธินนี้ ควรจะแล้วเสร็จก่อนการพัฒนาแปลง A-B-C แต่ปรากฏว่าล่าช้ามานาน ซึ่งโจทย์ที่บริษัทที่ปรึกษารับไปศึกษาคือให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ 2,325 ไร่โดยต้องการให้แปลง D นำไปพัฒนาได้ก่อน เนื่องจากจะเป็นพื้นที่รองรับการเชื่อมโยงรูปแบบต่างๆ โดยกำหนดเงื่อนไขว่าภาคเอกชนที่จะรับสัมปทานแปลง D จะต้องนำแผนการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงที่เป็นแกนแนวทางเดินเชื่อมต่อหลักเป็นแกนหลัก(Backbone)ไปดำเนินการด้วยทั้งทางเดินระดับพื้นที่ดินในแนวแกนเหนือ-ใต้ และทางเดินยกระดับในแนวตะวันออก-ตะวันตก ตลอดจนจุดจอดรถจักรยาน

สำหรับรถเมล์ปรับอากาศบีอาร์ทีนั้นจะเติมเต็มรัศมีการให้บริการโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ในรูปแบบฟีดเดอร์โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขผังเมืองปัจจุบันในอัตราส่วนพื้นที่ 1:8 ดังนั้นหากประกาศเป็นผังเฉพาะจะสามารถชดเชยพื้นที่ที่เสียไปกลับคืนมาได้หรือได้อัตราส่วนมากกว่า 1:10 ก็ได้ซึ่งในอนาคตพื้นที่ดังกล่าวนี้จะเป็นอาคารสูงล้อมสวน ดังนั้นควรบริหารจัดการพื้นที่ศูนย์พหลโยธินให้เป็นพื้นที่เฉพาะโดยเร็ว อาจจำเป็นต้องเสนอใช้มาตรา 44 ก็ควรเร่งพิจารณาในรัฐบาลปัจจุบัน

"เนื่องจากความยากในการจัดทำแผนอยู่ที่สนข.ไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ ประการสำคัญยังมีโฉนดปลีกย่อยในพื้นที่อีกหลายใบ หลายรายยังพบว่ามีปมปัญหาการฟ้องร้องต่อกันเป็นคดีในชั้นศาล ร.ฟ.ท.จึงควรเร่งเคลียร์ให้เป็นพื้นที่แปลงเดียว โฉนดเดียวที่สามารถนำไปพัฒนาได้อย่างไม่มีปัญหาใด ๆ อีกทั้งแต่ละแปลงแต่ละสัญญายังมีปมปัญหาการบริหารฐานข้อมูลในแต่ละสัญญาที่ซับซ้อนไม่สอดคล้องกับปัจจุบันอีกด้วยจึงควรเร่งทำระบบการบริหารทรัพย์สินให้ฐานข้อมูลสอดคล้องกันก่อน"

นางสุภาพรรณกล่าวอีกว่า วันที่ 4 กรกฎาคมนี้ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น(Japan International Cooperation Agency: JICA)ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลญี่ปุ่นที่คอยให้คำปรึกษาตลอดจนความช่วยเหลือด้านการพัฒนาประเทศอย่างเป็นทางการในนามของรัฐบาลญี่ปุ่นแก่ประเทศกำลังพัฒนา ทั้งการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงส่งเสริมการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศได้แสดงความสนใจจัดทำมาสเตอร์แพลนพื้นที่ดังกล่าวนี้

"ไจก้าจะเข้าหารือกับสนข.ถึงแนวทางการจัดทำมาสเตอร์แพลนพื้นที่นี้ เพราะญี่ปุ่นหวังว่าหากรัฐบาลไทยเปิดสัมปทานหรือร่วมทุนพีพีพี ศูนย์พหลโยธินจะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพให้นักลงทุนญี่ปุ่นเกิดความสนใจ ซึ่งกรณีร่วมทุนพีพีพีฝ่ายญี่ปุ่นขอร่วมหุ้นเพียง 20% และขอดูแผนดังกล่าวนี้เอง"

ด้านนายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการศึกษาออกแบบรายละเอียดศูนย์คมนาคมพหลโยธินและการพัฒนาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม จำเป็นจะต้องพัฒนาพื้นที่ตามหลักแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development: TOD) ต้องบูรณาการแผนการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมและการสัญจรรูปแบบต่างๆ ให้เชื่อมโยงกันอย่างเหมาะสม ทั้งระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ตลอดจนมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัย

ทั้งนี้จากผลการศึกษาเบื้องต้น พื้นที่โดยรอบศูนย์คมนาคมพหลโยธินสามารถรองรับประชากรผู้อยู่อาศัยได้สูงสุดประมาณ 1 แสนคน โดยมีผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนขนาดรองประมาณ 1.05 แสนคน/วัน และใช้ทางเดินยกระดับประมาณ 3.6 หมื่นคน และมีผู้สัญจรมาเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สถานีกลางบางซื่อสูงสุดถึง 1 ล้านคน/วันในปี 2580

"ภายหลังจากการสัมมนาในครั้งนี้ สนข. จะนำข้อสรุปไปบูรณาการประกอบผลการศึกษาของโครงการฯ ตลอดจนจะเป็นแนวทางจัดทำแผนการบูรณาการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อและพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อบูรณาการการพัฒนาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการกำหนดการพัฒนาที่สอดคล้อง ส่งเสริม และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยจะนำเสนอแผนการบูรณาการให้กระทรวงคมนาคมต่อไป"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,171 วันที่ 3 - 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559