ยึดใบอนุญาต19โครงการโซลาร์ฟาร์ม

01 ก.ค. 2559 | 00:00 น.
กกพ.ลงดาบผู้ประกอบการโซลาร์ฟาร์ม ยึดใบอนุญาตขายไฟฟ้าแล้ว 19 โครงการ 59.9 เมกะวัตต์ เหตุจ่ายไฟฟ้าไม่ทันกำหนด 30 มิ.ย.นี้ การก่อสร้างไม่ได้ ติดผังเมือง คาดเงินลงทุนหายกว่า 3 พันล้านบาท ส่วนโซลาร์รูฟท็อป ไร้ปัญหาซีโอดีได้ทั้งหมด 160 เมกะวัตต์ ขณะที่เตรียมเปิดซื้อไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มจากส่วนราชการและสหกรณ์ต้นปีหน้า 519 เมกะวัตต์ เกิดเม็ดเงินลงทุน 2.6 หมื่นล้านบาท

[caption id="attachment_66542" align="aligncenter" width="340"] วีระพล จิรประดิษฐกุล  กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) วีระพล จิรประดิษฐกุล
กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)[/caption]

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา ให้ขยายระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ(ซีโอดี) สำหรับโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสดงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน(โซลาร์ฟาร์ม) ที่ยื่นเสนอขายไฟฟ้าไว้ในระบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า(Adder) ซึ่งจะต้องซีโอดีให้ทันภายในสิ้นปี 2558 ออกไปเป็นสิ้นเดือนมิถุนายน 2559 นี้ มีจำนวน 96 โครงการ ปริมาณขายไฟฟ้า 522.88 เมกะวัตต์ ซึ่งหากไม่สามารถซีโอดีได้ทันตามเวลาที่กำหนด ทางกกพ.จะทำการถอนใบอนุญาตการรับซื้อไฟฟ้าทันที

ทั้งนี้จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีจำนวนโครงการที่ไม่สามารถซีโอดีได้ทันตามระยะเวลาที่กำหนดมีอยู่ประมาณ 19โครงการ คิดเป็นปริมาณขายไฟฟ้า 59.9 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 13 โครงการที่ไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์การพิจารณาขยายซีโอดี จำนวน 56 เมกะวัตต์ และอีก 6 โครงการ จำนวน 13.9 เมกะวัตต์ การยื่นอุทธรณ์ขอย้ายพื้นที่ไม่ผ่าน เพราะโครงการขัดกฎหมายว่าด้วยผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เช่น การเข้าไปอยู่ในพื้นที่ป่าไม้ ทางกรมป่าไม้ไม่อนุญาตให้เข้าดำเนินการ จึงทำให้ไม่สามารถก่อสร้างได้ และเสียโอกาสการลงทุนไปไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท หากคำนวณการลงทุนที่เมกะวัตต์ละ 50 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 77 โครงการ นั้นไม่มีปัญหาสามารถซีโอดีได้ทันตามระยะเวลาที่ขยายให้ได้

อย่างไรก็ตามโครงการที่ไม่ผ่านการพิจารณารับซื้อไฟฟ้าได้ แม้จะขยายเวลารับซื้อถึงสิ้นเดือนมิ.ย.นี้แล้วก็ตาม เพราะมีปัญหาและอุปสรรคของโครงการที่เกิดจากพื้นที่ตั้งซึ่งขัดกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำให้หน่วยงานอนุญาตไม่สามารถอนุญาตให้ได้ จำเป็นต้องมีการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมาย เช่น ผังเมือง หรือยินยอมให้มีการย้ายที่ตั้งโรงไฟฟ้าและเปลี่ยนจุดรับซื้อไฟฟ้าใหม่ได้ แม้ว่า จะมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฉบับที่ 4/2559 ให้ยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้า(ลำดับที่ 88) โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กพช.กำหนดก็ตาม แต่หน่วยงานรัฐไม่สามารถพิจารณาอนุมัติได้ทัน เนื่องจากมีโครงการเสนอเข้ามาเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง มีข้อจำกัดในการจัดหามิเตอร์และความพร้อมของระบบจำหน่าย เป็นต้น

 โซลาร์รูฟท็อปไม่ได้ตามเป้า

นายวีระพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาบ้านและอาคาร(โซลาร์รูฟท็อป) ที่ประกาศรับซื้อไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2556 และปี2558ในประมาณ 200 เมกะวัตต์ ที่จะครบกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในวันที่ 30 มิถุนายน 2559นี้ เบื้องต้นพบว่ามีความคืบหน้าในการรับซื้อโซลาร์รูฟท็อป แบ่งเป็นบ้านที่อยู่อาศัยซีโอดีแล้ว 34 เมกะวัตต์และคาดว่าเมื่อถึงสิ้นเดือนนี้แล้ว จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้อีก 39 เมกะวัตต์ ขณะที่การติดตั้งบนอาคารธุรกิจหรือหลังคาโรงงานซีโอดีแล้ว 80 เมกะวัตต์ คาดว่าภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้จะซีโอดีได้อีก 7 เมกะวัตต์ รวมทั้ง 2 ส่วนนี้จะจ่ายไฟฟ้าได้ 160 เมกะวัตต์

โดยในช่วงหลังเดือนมิถุนายนนี้ ทาง กกพ. จะรวบรวมตัวเลขทั้งโครงการโซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ฟาร์มที่ยังค้างท่อปี 2556 และปี 2558 อีกครั้ง เพื่อดูว่าโครงการที่ไม่สามารถซีโอดีได้มีกี่เมกะวัตต์ และคงต้องมาพิจารณาดูว่าโซลาร์รูฟท็อปปริมาณรับซื้อไฟฟ้าที่ไม่ได้ตามเป้าหมายที่ 200 เมกะวัตต์ จะต้องมีการปรับแผนเปิดรับซื้อไฟฟ้าใหม่หรือไม่

ทั้งนี้ โครงการโซลาร์รูฟท็อป ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ทันภายในสิ้นเดือนนี้ จะได้รับค่าไฟฟ้ารับซื้อในรูปแบบฟิดอินทรารีฟ(เอฟไอที) ในอัตรา 6.85 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 25 ปี ซึ่งลดลงจากเดิมที่กำหนดไว้ 6.96 บาทต่อหน่วย ขณะที่โครงการโซลาร์ฟาร์มที่เข้าระบบทันภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้จะได้รับเอฟไอทีในอัตรา 5.377 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 25 ปี ลดลงจากเดิมที่เคยให้ 5.66 บาทต่อหน่วย

 เปิดรับซื้อส่วนราชการต้นปีหน้า

ส่วนโครงการโซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์การเกษตร ตามมติ กพช. ที่เคยอนุมัติการรับซื้อฟ้ามาตั้งแต่ปี 2557 จำนวน800 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรกรับซื้อ 600 เมกะวัตต์ ส่วนระยะที่ 2 อีก 200 เมกะวัตต์นั้น

ล่าสุดทาง กกพ. ได้จับสลากในส่วนของโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ฯ ระยะแรก 300 เมกะวัตต์ โดยผลการคัดเลือกโครงการทั้งสิ้น 67 ราย กำลังการผลิตรวม 281.32 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องดำเนินการจ่ายไฟฟ้าข้าระบบเชิงพาณิชย์(เอสซีโอดี) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2559 โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้า 5.66 บาทต่อหน่วย สัญญา 25 ปี แต่ในส่วนของโซลาร์ฟาร์มราชการฯ ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดขัดพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 ดังนั้นจึงยกยอดไปในระยะที่ 2 แทน

ดังนั้นโครงการโซลาร์ฟาร์มราชการและสหกรณ์ฯระยะที่ 2 ทาง กกพ.เตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวในต้นปี 2560 ในส่วนที่เหลืออีก 519 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ฯส่วนที่เหลือ 119 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์มราชการ 400 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ(เอสซีโอดี) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -30 มิถุนายน 2561ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนในส่วนนี้อีกราว 2.6 หมื่นล้านบาท

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงาน กกพ. เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการโครงการโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์รูฟที่เข้าไฟฟ้าเข้าระบบ(ซีโอดี) แล้ว 4,909 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 2,561 เมกะวัตต์ (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2559) จากผู้ประกอบการที่มีสัญญาผูกพันกับทางการไฟฟ้าแล้วทั้งสิ้น 9,973 ราย คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 3,024 เมกะวัตต์ เทียบกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนหรือเออีดีพี ที่มีเป้หมายไว้ 6,000 เมกะวัตต์ ในปี 2579

อนึ่งก่อนหน้านี้พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้ให้เห็นว่า แม้ราคาน้ำมันดิบจะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่กระทรวงพลังงาน ยังคงให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกปี(AEDP ) 2558-2579 ที่ตั้งเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเป็น 30% หรือคิดเป็น 1.9 หมื่นเมกะวัตต์ จากปัจจุบันเข้าระบบและมีข้อผูกพันแล้ว 9,000 เมกะวัตต์

Photo : Pixabay
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,170
วันที่ 30 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559