คาดจีดีพีไทยครึ่งปีหลังเติบโตได้ 4.4% สแตนชาร์ตเชื่อลงทุนรัฐ-เอกชนตัวเร่ง

29 มิ.ย. 2559 | 10:00 น.
สแตนดาร์ดชาร์ต ฟันธง "เบร็กซิท" ไม่กระทบไทยโดยตรง เหตุมีการค้าแค่ 1.4% ด้านเงินบาทอ่อนค่าลงแตะ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ชี้แค่ผันผวนระยะสั้นตามจิตวิทยา ก่อนดีดตัวแข็งค่าขึ้นแตะ 35 และ 34 ในปี 60 ส่วนเงินทุนไหออกไม่น่าห่วง เพราะไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด/นักลงทุนต่างชาติถือบอนด์-หุ้นน้อย ลั่น ธปท.ไม่ลดดอกเบี้ย ย้ำเก็บกระสุนไว้ใช้ยามจำเป็นคงดอกเบี้ยยาว 1.5% ด้านเศรษฐกิจไทยประเมินโตได้ 3.5-4% แรงหนุนโครงการภาครัฐฟาสต์แทร็ก 7 โครงการ มูลค่า 5.8 แสนล้านบาท

นายโรเบิร์ต มินิคิน หัวหน้าทีมวิจัยด้านการแลกเปลี่ยน ภูมิภาคเอเชีย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เปิดเผยว่า กรณีมติประเทศอังกฤษโหวตออกจากสหภาพยุโรป หรือเบร็กซิทนั้นในแง่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของอังกฤษจะขยายตัวลดลงประมาณ 0.7% จากประมาณการเดิมอยู่ที่ 1.9% เหลือขยายตัวเพียง 1.2% ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจยุโรปที่มองการเติบโตอยู่ที่ 1.4% มีความเสี่ยงที่จะขยายลดลงประมาณ 0.2% เหลือการเติบโต 1.2%

ขณะที่ผลกระทบในแง่ของค่าเงินและนโยบายการเงินนั้น ซึ่งผลต่อค่าเงินโดยเฉพาะค่าเงินปอนด์ของอังกฤษ คาดว่าจะเห็นการอ่อนค่าลงไปแตะที่ระดับ 1.23 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปอนด์ จากปัจจุบันที่อยู่ที่ 1.34 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อปอนด์ (ช่วงเช้า 24 มิ.ย.) ส่งผลให้ทิศทางค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงตาม โดยจะอ่อนค่าลงอยู่ที่ระดับ 1.03 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อยูโร ส่วนเงินสกุลที่จะได้รับประโยชน์จากมติครั้งนี้ จะเป็นสกุลเงินเยน ของญี่ปุ่น ที่จะเห็นการวิ่งไปหาสินทรัพย์ปลอดภัยและะวิ่งไปหาเงินเยน ทำให้เงินเยนที่ทิศทางแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดยมีโอกาสแข็งค่าขึ้นประมาณ 95 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนที่จะเห็นธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เข้ามาแทรกแซง

ส่วนผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของอังกฤษ ยุโรป และสหรัฐ โดยเฉพาะอังกฤษ จะเห็นการผ่อนคลายเพิ่มเติมโดยลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีก และมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม ขณะที่ยุโรป จะเห็นธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วขึ้นกว่าเดิมโดยการอัดฉีดสภาพคล่องภายในไตรมาสที่ 3 ปีนี้เลย สำหรับสหรัฐอเมริกา จะเห็นธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ และมีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยกลับไปที่ 0% ภายในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ ภายหลังจากมีมติอังกฤษออกจากอียูทำให้เฟดมีการเปลี่ยนท่าที ซึ่งก็ถือว่าเป็นไปตามคาดการณ์เดิมของธนาคารที่มองไว้

ด้านผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชีย มองว่ามีผลกระทบค่อยข้างน้อย เนื่องจากภูมิภาคเอเชียมีการค้าขายกับอังกฤษสัดส่วนเพียง 2% และโดยเฉพาะประเทศไทยที่มีการค้ากับอังกฤษสัดส่วนเพียง 1.4% ซึ่งมีผลกระทบต่อไทยโดยตรงน้อยมาก สำหรบประเทศที่ได้รับผลกระทบมากจะเป็นประเทศที่เปิดการค้าค่อนข้างมาก เช่น ประเทศสิงค์โปร์ และฮ่องกง ขณะที่ประเทศที่ได้รับผลกระทบในเรื่องของค่าเงินจะมีอยู่ 3 ประเทศ คือ เงินริงกิต-มาเลเซีย เงินรูเปียะ-อินโดนีเชีย และเงินวอน-เกาหลี เนื่องจากค่าเงิน 3 สกุลนี้จะมีความอ่อนไหวมาก จากกรณีนี้เมื่อเทียบกับสกุลเงินบาทที่มีความอ่อนไหวของเหตุการณ์การหนีจากความเสี่ยงสูงสู่สินทรัพย์ความปลอดภัย (Risk Off) น้อยกว่า ขณะเดียวกันทิศทางค่าเงินเยนที่ปรับแข็งค่าขึ้นจะส่งผลดีต่อเงินบาทด้วย

สำหรับทิศทางค่าเงินบาท ประเมินว่า ผลในระยะสั้น อาจเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้ โดยในไตรมาสที่ 3 ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลมาจากประเด็นของอังกฤษเป็นหลัก ส่วนในระยะกลางและระยะยาว มองว่าจะเห็นการแข็งค่าของค่าเงินบาทต่อเนื่องตามลำดับ โดยก่อนปลายปีนี้ มีโอกาสที่ค่าเงินแข็งค่าไปสู่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และค่อยแข็งค่าไปสู่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2560

ทั้งนี้เนื่องจากประเทศไทย นับเป็นประเทศที่มีบัญชีเดินสะพัดเกินดุลมหาศาล โดยมีการลงทุนค้างสุทธิในตลาดหุ้น และตลาดบอนด์ของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยปัจจุบันค่อนข้างต่ำ ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดเงินไหลออกและแรงซื้อดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อทำให้บาทค่าเงินบาทอ่อนเป็นไปได้ค่อนข้างยากแต่ในระยะสั้นอาจเป็นปฏิกริยาของตลาดเท่านั้น ประกอบกับเมื่อธนาคารกลางสหรัฐ เลิกคาดการณ์หรือส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาส 4 ปีนี้ ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าไปจนถึงปีหน้า จึงทำให้มีโอกาสเปิดทางให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนมาภูมิภาคเอเชียรวมถึงไทยมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาท ระยะกลางและระยะยาวแข็งค่าได้ต่อเนื่องตามลำดับ

ด้านนางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยนั้น ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวดีกว่าปีก่อน โดยเฉพาะครึ่งปีหลังจะเห็นการขยายตัวได้ถึง 4.4% จากครึ่งปีแรกที่จะขยายตัว 3.6% โดยทั้งปีอัตราการเติบโตเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3.5-4% ภายใต้สมมติฐานมาจากความคืบหน้าโครงการภาครัฐที่ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ด้านคมนาคมทั้ง 7 โครงการที่อยู่ในฟาสแทร็ค โดยเฉพาะรถไฟ มอเตอร์เวย์ต่างๆ และเมื่อมีการแก้กฏหมายทำให้ขบวนการประมูลสั้นลงจาก 22-25 เดือน เหลือเพียง 9 เดือนเท่านั้น ทำให้การลงทุนต่างๆ รวดเร็วขึ้น

ดังนั้น ภายใต้สมมติฐานการลงทุนของภาครัฐที่จะเกิดขึ้นทั้ง 7 โครงการนี้ ที่มูลค่ารวมอยู่ที่ 5.8 แสนล้านบาท หากสามารถลงทุนได้จริงภายในไตรมาส 4 ปีนี้ และต่อเนื่องไปยังปีถัดไป จะเป็นส่วนเพิ่มทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องได้ในครึ่งปีหลังของปีนี้ และทำให้ทั้งปีจะเห็นเศรษฐกิจขยายตัวที่ 3.5% และหากการลงทุนขับเคลื่อนได้มากขึ้น คาดว่าจะเห็นการเติบโตของจีดีพีได้ถึงระดับ 4% ขณะที่ภาคการส่งออก ปัญหาโครงสร้างการผลิตยังคงเป็นปัญหาสำคัญ แม้ว่าจะยังไม่เห็นการเติบโตแข็งแกร่ง แต่คงไม่ได้เห็นการติดลบที่ลงลึก โดยทั้งปีประเมินการส่งออกรูปของดอลลาร์ฯ จะขยายตัวได้ที่ระดับ 3%

ส่วนกรณีประเทศอังกฤษออกจากอียู จะทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดดอกเบี้ยหรือไม่ เชื่อว่าในแง่นโยบายการเงินปัจจุบันถือว่าเพียงพอแล้ว และสิ่งสำคัญ เรื่องอังกฤษออกจากอียู ไม่ใช่เรื่องช็อคของเศรษฐกิจ และผลกระทบที่มีต่อไทยค่อนข้างน้อย ซึ่งกนง.ก็ได้พิจจารณาเรื่องนี้ไปแล้ว ขณะที่ผลกระทบด้านค่าเงินบาทอ่อนค่า เป็นการลดแรงกดดันจากการลดอัตราดอกเบี้ยได้ระยะสั้น ดังนั้น คาดว่าจะไม่เห็นกนง. ลดอัตราดอกเบี้ย และกนง.น่าจะเก็บกระสุนไว้ยามจำเป็นและคงอัตราดอกเบี้ย อยู่ที่ 1.5% ไปจนถึงสิ้นปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,169 วันที่ 26 - 29 มิถุนายน พ.ศ. 2559